ทีแรกคาดหมายว่าจะจบลงด้วยดี สำหรับกิจกรรม “รวมตัวแต่งชุดมลายู” หลังเทศกาลฮารีรายอ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
เป้าหมายคือแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพี่น้องมลายูมุสลิม โดยไปรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
สาเหตุที่ทุกฝ่ายเชื่อว่า กิจกรรมปีนี้จะจบไปแบบไร้ดราม่า ก็คือ
- องค์กรที่จัดเป็นองค์กรเดิม ได้แก่ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)
- ผู้จัดงานได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคงล่วงหน้า ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดกิจกรรมใหญ่โต
ปีนั้นมีการโบกธงบีอาร์เอ็น และปราศรัยในลักษณะยุยงปลุกปั่น ทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งผู้แทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรม 9 คน คดียังคาราคาซังอยู่
- กิจกรรมปีนี้มีการจัดสมาชิกคอยสังเกตการณ์หน้างาน เพื่อกลั่นกรอง เเจ้งกฎข้อห้าม เเละขอความร่วมมือผู้ร่วมงานระมัดระวังในเรื่องที่อาจสุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงห้ามนำอาวุธเข้าไปในบริเวณที่จัดกิจกรรมด้วย
- หลังกิจกรามจบ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณทีมงานผู้จัด และกลุ่มเยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรมที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดกติกา
นี่คือบรรยากาศและความเคลื่อนไหวรวมๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายเชื่อว่าปีนี้ “จบสวย”
แต่เรื่องราวที่ทำท่าว่าจะปิดฉากลงด้วยดี ปรากฏว่าผ่านมาไม่ถึง 3 วัน กลับมีดราม่าเกิดขึ้น 2 เรื่อง คือ
1.แถลงการณ์ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขอบคุณผู้จัดกิจกรรม มีการสรุปตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพียง 8,000 คน ขณะที่ผู้จัดงานยืนยันว่า ผู้ร่วมงานทั้งหมดมีจำนวนมากกว่าครึ่งแสนคน
ผู้จัดอ้างว่ามีการแจกสติ๊กเกอร์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม สติ๊กเกอร์หมดไปกว่า 40,000 ชิ้น
เรื่องนี้ทำให้คนในพื้นที่จำนวนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จนเกิดกระแสดราม่าวิจารณ์ กอ.รมน. และทหารว่าไม่ยอมรับความจริง
จะว่าไปประเด็นลักษณะนี้เคยเป็นดราม่ามาแล้วหลายครั้ง แม้แต่การชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ก็มักมีการอ้าง หรือ “เคลมตัวเลข” แตกต่างกัน
ฝ่ายความมั่นคงมักจะสรุปตัวเลขผู้ชุมนุมค่อนข้างน้อย
ส่วนคนจัดม็อบ จัดการชุมนุม ก็จะประกาศตัวเลขสูงมาก
หลายๆ ครั้งกลายเป็นตัวเลขที่ “ไม่จริง” ทั้งสองฝ่าย!!!
ในทางปฏิบัติแล้ว มีสูตรคำนวณพื้นที่ คิดเป็นตารางเมตร แล้วคาดการณ์จำนวนผู้ชุมนุม หรือฝูงชนได้อย่างแม่นยำ แต่มักไม่ค่อยมีใครคิดคำนวณ มักอ้างตัวเลขตามความพอใจของตนเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า ทำให้เกิดดราม่า ทั้งที่กรุงเทพฯและปลายด้ามขวาน
2.ฝ่ายความมั่นคงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่แปลคำปราศรัยของแกนนำทุกคนที่พูดบนเวที ซึ่งเมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างไม่พอใจ เพราะเหมือนเจ้าหน้าที่ยังคงหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ และจ้องจะแจ้งความดำเนินคดีแกนนำที่ปราศรัย เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนหรือไม่
มีรายงานจากแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงว่า ข้อความปราศรัยของแกนนำบางคนมีประเด็นล่อแหลมจริง เช่น แกนนำคนหนึ่งซึ่งเป็น 1 ใน 9 นักกิจกรรมที่ติดคดีอยู่ ปราศรัยเชื่อมโยงไปถึงเรื่อง “ดินแดนอาณานิคม”
“…ภายหลังจากนั้นแผ่นดินมลายูก็ได้ถูกล่าอาณานิคม เช่น แผ่นดินอินโดนีเซียถูกล่าอาณานิคมโดยเนเธอร์แลนด์, แผ่นดินมลายาถูกล่าอาณานิคมโดยอังกฤษ นักล่าอาณานิคมที่มาล่าอาณานิคมในเขตพื้นที่ของเรานั้น มิได้ยึดเพียงแค่ความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนเพียงเท่านั้น แต่พวกเขาได้สร้างความแตกแยกแก่เรา พวกเขาเข่นฆ่าคนของเรา พวกเขาดูดซับผลประโยชน์จากแผ่นดินของเรา
“ในปี 1945 อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์, ปี 1957 แผ่นดินมลายาได้รับเอกราชจากพวกเขา และเช่นเดียวกันในขณะนั้นเอง ประชาชาติอิสลามที่ปาเลสไตน์ พวกเขาถูกขับไล่…”
นี่คือเนื้อหาจากการแปลคำปราศรัยของแกนนำเยาวชนบางราย ที่พบว่ามีการพูดถึง “ดินแดนอาณานิคม” โดยอ้างว่า ปัตตานี หรือ “ปาตานี” เป็นดินแดนอาณานิคม
ฝ่ายความมั่นคงมองว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหว และล่อแหลม เพราะไปสอดรับกับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ที่ใช้ประเด็น “รัฐอาณานิคม” สร้างความชอบธรรมให้กลุ่มตนในการต่อสู้กับรัฐไทยในเวทีนานาชาติ และกล่าวหาว่าไทยคือ “นักล่าอาณานิคมสยาม”
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 1514 ที่เปิดให้ “รัฐอาณานิคม” ใช้ “สิทธิกำหนดใจตนเอง” หรือ Self Determination ซึ่งหมายถึงการทำประชามติแยกดินแดน ตั้งรัฐเอกราชขึ้นใหม่ได้นั่นเอง
หลายฝ่ายจึงกำลังจับตาว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะขยายประเด็นคำปราศรัย และนำไปสู่การดำเนินคดีแกนนำผู้จัดกิจกรรมซ้ำเดิมอีกหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป!