“มะโย่ง” หรือ “เมาะโย่ง” เป็นศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมลายู
ในอดีตเป็นที่นิยมจัดแสดงตามงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นศิลปะการแสดงของท้องถิ่นที่หาดูได้ยากมาก และกำลังจะสูญหายไป
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ตั้งอยู่หมู่ 1 ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ได้มีการแสดง “มะโย่ง” สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคนที่ได้รับชม
“มะโย่ง” มีลีลาคล้ายคลึงกับมโนราห์มาก เป็นศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ การละคร และดนตรีเข้าด้วยกัน
กิจกรรมนี้ นายสมาน โดซอมิ ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ได้จัดขึ้น โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา เครือข่าย SILAT SERI KEMBANG รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ตลอดจนผู้รู้และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น “มะโย่ง” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรียกว่าร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่าย เพราะศิลปะการแสดงประเภทนี้หาชมได้ยากแล้วจริงๆ
กิจกรรมจัดขึ้นภายใต้โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การแสดงศิลปะพื้นบ้านให้กับนักศึกษา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา เพื่อการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวมลายูให้คงอยู่ในพื้นที่สืบต่อไป
การแสดง “มะโย่ง” เริ่มจากการทำพิธีเบิกโรง โดยผู้แสดงและคนเล่นดนตรีจะเข้ามานั่งล้อมกันเป็นวงกลม เครื่องดนตรีบรรเลงโหมโรง เสร็จจากเบิกโรง ตัวพระ ตัวนาง และพี่เลี้ยง นั่งเป็นแถวครึ่งวงกลม หันหน้าเข้าหาคนซอ และขับร้องคลอไปกับเสียงซอ แล้วลุกขึ้นเดินร่ายรำและร้องเพลงไปรอบๆ เวที ทำนองการรำเบิกโรง
หลังจากนั้นตัวละครก็จะกลับไปนั่งรอคอยบทบาทที่ตนจะต้องแสดงอยู่ข้างขอบเวที คงเหลือแต่ตัว “มะโย่ง” ยืนขับร้องและเจรจาแนะนำตัวให้ผู้ชมทราบว่า เป็นผู้ใด อยู่ที่ไหน กำลังจะทำอะไรในท้องเรื่อง
จากนั้นตัว “มะโย่ง” จะเรียกตัวตลกหรือเสนาให้ออกมา แล้วพูดจาถ้อยคำที่ตลกขบขัน ตามบทของเรื่องที่ได้เตรียมมา จนจบการแสดง
นายสมาน เล่าว่า ในอดีตการแสดง “มะโย่ง” เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านยอดนิยม เป็นที่รู้จักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ปัจจุบัน “มะโย่ง” กลับหาดูได้ยากและกำลังจะสูญหายไป เนื่องจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแสดง “มะโย่ง” ทั้งผู้แสดง และนักดนตรี ค่อยๆ ล้มหายตายจาก จึงได้จัดกิจกรรมสืบสานศิลปะการแสดงแขนงนี้ขึ้น
“เราได้ประสานกับเครือข่ายนักแสดง ผู้มีความรู้ ตลอดจนนักดนตรีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และทางฝั่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชน นักศึกษา และสถานศึกษาในภาคใต้ตอนล่าง เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ในพื้นที่”
ด้าน นางนุชนาถ ละอองศรี หนึ่งในผู้แสดง “มะโย่ง” เล่าว่า ตนมีเชื้อสายศิลปิน เป็นครูหมอมโนราห์ ผู้สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาจากบรรพบุรุษที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสน่ห์ของการแสดง “มะโย่ง” จะแตกต่างจากมโนราห์ของภาคใต้ ทั้งการแต่งกาย เครื่องดนตรี โดยเฉพาะเสียงของปี่ชวา กลองแขก ฆ้อง และซองา ซึ่งการดำเนินเรื่อง อยู่ที่บทรำเกี้ยวของตัวมะโย่ง ที่ทำให้คนดูสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการแสดง
“ทุกวันนี้ พร้อมที่จะถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้ให้กับผู้ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ขอเพียงใจรักและต้องการสืบสานวัฒนธรรมแขนงนี้ก็พร้อมที่จะถ่ายทอดให้” นุชนาถ กล่าว
“มะโย่ง” หรือ “เมาะโย่ง” นอกจากจะเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีการแสดง “มะโย่ง” ในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเคดะห์ และรัฐปะลิส ในประเทศมาเลเซีย ตลอดจนหมู่เกาะรีเยาในประเทศอินโดนีเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันการแสดง “มะโย่ง” กำลังขาดผู้สืบทอด
ในประเทศมาเลเซีย “มะโย่ง” เป็นการแสดงที่ถูกห้ามโดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย เพราะความที่แฝงความเชื่อของลัทธิวิญญาณนิยม (animism) และรากเหง้าความเชื่อฮินดู-พุทธดั้งเดิมของชาวมลายู ก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถืออิสลาม
แต่ประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการแสดงมะโย่งในฐานะศิลปะพื้นบ้านของชาวไทยมลายู โดยทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้มีการฟื้นฟูและให้นักศึกษาได้ศึกษาและค้นคว้าหาความรู้เพื่อนำมาปฏิบัติจริง
สำหรับการแสดง “มะโย่ง” ใช้แสดงเพื่อความบันเทิง และเพื่อใช้แก้บน หรือสะเดาะเคราะห์ โดยในปี ค.ศ.2005 ทางองค์กรยูเนสโกประกาศรับรองให้มะโย่งเป็น "หนึ่งในศิลปะชั้นเอกในทางมุขปาฐะ และสมบัติที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ" โดยอยู่ในสาขาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียกว่า “รำมะโย่ง” อ้างอิงว่าเป็นของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
อนึ่ง วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเอเชียที่เคยได้รับมอบสถานะดังกล่าวจากยูเนสโกมาก่อนแล้ว ได้แก่ การทำผ้าบาติกของอินโดนีเซีย การรำมะโย่ง (Mak Yong) ของรัฐกลันตันในมาเลเซีย และโยคะดัดตนของอินเดีย
อย่างไรก็ดี สมาน โดซอมิ ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของ “มะโย่ง” เมื่อครั้งที่ไปแสดงที่ TK park ยะลา ว่า “มะโย่ง” คือศิลปะการร่ายรำประกอบนาฏศิลป์มลายูชวา คนภาคใต้บ้านเรารับอิทธิพลมาจากชวาเรื่องของการร่ายรำ แต่ “มะโย่ง” เกิดขึ้นที่ปัตตานีบ้านเรา เป็นการแสดงเฉพาะถิ่นที่ปัตตานีเป็นแม่แบบและต้นแบบ
มะโย่งที่กลันตัน และอินโดนิเซีย ที่เกาะรีเยา เราสืบค้นประวัติที่อินโดนีเซีย เขาเล่าเลยว่ามาจากปัตตานี สมัยก่อนปัตตานีไปทำค้าขายที่อินโดนีเซีย บรรดากลุ่มที่เป็น “มะโย่ง” เดินทางไปด้วย ก็ได้ไปตั้งรกรากอยู่ที่เกาะรีเยาของอินโดนีเซีย และมีลูกหลานอยู่ที่โน่น โดยใน 1 ปีพวกเขาก็จะมีการรำลึกถึงปู่ย่าตายายที่อยู่ปัตตานีด้วย