“อาเซียนมอลล์ ปัตตานี” จับมือสถาบันฮาลาล ม.อ. จัดมหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 หรือ “ฮาลาลเอ็กซ์โป 2022” ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย – 3 ก.ค.65 สร้างโอกาสสินค้าและบริการฮาลาลไทย เข้าสู่ตลาดฮาลาลอาเซียนและระดับโลก ศอ.บต.รับลูก สอดคล้องโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล” หวังสร้างงานสร้างอาชีพคนในพื้นที่
เมื่อเร็วๆนี้ ทางศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 (Asean Halal Expo 2022) ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.– 3 ก.ค.65 ณ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ประธานกรรมการบริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี, Datuk Haji Jamal Mohd Amin ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี, ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล ม.อ., ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมงานแถลงอย่างคึกคัก
ผศ.ดร.อัสมัน กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก โดยเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากประเทศจีนและประเทศอินโดนีเซีย สะท้อนถึงตลาดฮาลาลของไทยยังเต็มไปด้วยโอกาสให้ผู้ประกอบการมาขยายธุรกิจในตลาดนี้ได้อย่างมาก
“จากข้อมูลทางสถิติล่าสุดในปี 2560 อาหารฮาลาลในตลาดโลก มีผู้บริโภคเป็นชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2,140 ล้านคน เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีมูลค่าได้ถึงประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอาหารฮาลาลโลก ได้แก่ อาหารแปรรูปต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพในการผลิต เช่น ผักและผลไม้ท้องถิ่นแปรรูป เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มสมุนไพร”
ผศ.ดร.อัสมัน กล่าวอีกว่า สำหรับงานแสดงสินค้าฮาลาลในครั้งนี้ จะยกระดับความสามารถและสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดฮาลาลอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการฮาลาลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาล ซึ่งในงานมีการแสดงนิทรรศการฮาลาลนานาชาติ นิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนฮาลาล
มีการแสดงสินค้าฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 120 ร้านค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม, เครื่องสำอางฮาลาล, ผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเวชภัณฑ์ฮาลาล, เครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม, อาหารฮาลาลปรุงสดด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวใต้, หนังสือและสื่อต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้ และ กิจกรรมการแข่งขันอื่นๆ ด้วย
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู กล่าวว่า งานนี้เป็นการเปิดประตู่สู่อาเซียน จากใต้สู่บน กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความตื่นตัวทั้งในพื้นที่และส่วนรวม อาเซียนมอลล์ยินดีร่วมงานและรับใช้สังคม ให้คุณค่ากับทุกกิจกรรม ทั้งวิชาการ เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม
Datuk Haji Jamal Mohd Amin ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ คือ ผู้คนสามารถสื่อสาร 2 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู และภาษาไทย ดังนั้นสินค้าจากมาเลเซียสามารถขยายสู่ภาคเหนือโดยผ่านความร่วมมือกับคนปัตตานี เพราะคนปัตตานีสามารถพูดภาษาไทย และสินค้าจากภาคเหนือของไทยสามารถนำเข้ามาเลเซียด้วยความร่วมมือของคนปัตตานี เพราะคนปัตตานีสามารถพูดภาษามลายู
“ความพิเศษของคนปัตตานีที่จะเป็นสะพานระหว่างภาคเหนือของไทยกับภาคใต้ จะทำให้มีสินค้าจากเกาะซาบาห์ฃองมาเลเซีย (รัฐซาบาห์) อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มาร่วมงานด้วย ผลที่คนในพื้นที่จะได้รับในครั้งนี้คือ มากกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน จะสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ สินค้าสามารถขยายสู่ตลาดต่างๆ หลังจากที่นำสินค้ามาในงานนี้แล้ว สามารถขยายตลาดต่อไปได้อีก จากปัตตานีสู่กรุงเทพฯ หรือไปสู่มาเลเซีย”
ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี บอกอีกว่า การตอบรับจากผู้ประกอบการมาเลเซียในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ถือว่าดีมาก รวมถึงจากรัฐบาลท้องถิ่น เช่น จากรัฐเปรัค เคดาห์ เปอร์ลิส และสลังงอร์
“มีตัวแทนจากรัฐเหล่านั้นเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยรัฐบาลมาเลเซียมีความเชื่อมั่น และได้แต่งตั้งพวกเราที่เรียกว่า EMC (Export Management Company) เพื่อตลาดอินโดจีน แต่พวกเราไม่สามารถไปยังอินโดจีนได้ ยกเว้นไปกับคนปัตตานี เพราะเราพูดภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นต้องอาศัยคนปัตตานีเพื่อนำสินค้าไป เช่นเดียวกันจากภาคเหนือของไทยสู่ตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซีย” ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ระบุ
นายนิอันวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า ทุกอย่างคือความเคลื่อนไหวของการค้าขาย คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฮาลาลระดับอาเซียนครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นโอกาสที่ดีมากในการเปิดเส้นทางการค้าเชื่อมโยงการตลาด ในภาวะปัจจุบันเราตอบไม่ได้ว่าเศรษฐกิจดีหรือร่วงเมื่อไหร่ หากในพื้นที่เราอยู่แบบพอเพียงอยู่แล้ว
“การเชื่อมโยงการค้ากับมาเลเซียเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะในเรื่องของฮาลาล อาหาร เราไม่ได้ด้อยกว่าเขา เขาก็ไม่ด้อยกว่าเรา เมื่อจับมือกัน โอกาสเติบโตทางการตลาดมีสูงมาก เป็นประโยชน์กับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ด้าน นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า งานนี้เป็นงานสำคัญที่เปิดประตูเรื่องฮาลาลให้ก้าวไกลไปยิ่งขึ้น เป็นโอกาสดีที่มีเครือข่ายสินค้าฮาลาลมาเจอกัน ศอ.บต.ซึ่งเป็นหน่วยดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ กำลังขับเคลื่อนโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล” ให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ในพื้นที่อยู่เช่นกัน