12 มีนาคม เวียนมาบรรจบครบอีกครั้ง...
วันที่ 12 มีนาคม กลายเป็นวันสัญลักษณ์ของการกระทำละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อ 18 ปีที่แล้ว หรือ 12 มีนาคม 2547 เป็นวันที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจ อุ้มตัวไปจากรถยนต์ และหายไปอย่างไร้ร่องรอย
นับถึงวันนี้ หย่อน 20 ปีไปเพียง 2 ปี ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ทนายสมชาย หายไปไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร และกระบวนการยุติธรรมทั้งในชั้นตำรวจ (ดีเอสไอ) อัยการ และศาล จนถึงศาลฎีกา ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิด ที่ทำให้ทนายสมชายหายสาบสูญไปได้
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเนื่องในโอกาส 18 ปีอุ้มหายทนายสมชาย
“ในความทรงจำที่เจ็บปวด 18 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับสูญหาย ถามประยุทธ์สมชายหายไปไหน
18 ปีการบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร.. 18 ปีที่ชะตากรรมของทนายความสิทธิมนุษยชนยังคลุมเครือ 18 ปีที่รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบ 18 ปีที่ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล 18 ปีที่การอุ้มหายยังไม่เป็นอาชญากรรมในประเทศไทย และกว่า 18 ปีที่รัฐยังใช้วิธีการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง สังคมไทยจะอดทนได้อีกกี่ปีเพื่อยุติอาชญากรรมนี้
ทุกวันที่ 12 มีนาคมของทุกปี ดิฉันจะเขียนบันทึกความรู้สึกส่วนตัว เพื่อบันทึกความทรงจำของตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาในแต่ละปี สำหรับการอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ใครจะเชื่อว่าแม้การลักพาตัวจะเกิดขึ้นริมถนนใหญ่ เยื้องกับสถานีตำรวจ (สน.หัวหมาก ถนนรามคำแหง) ในช่วงที่การจราจรติดขัด มีผู้คนผ่านไปมามากมาย แต่จนวันนี้รัฐบาลไทยกลับไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ดิฉันได้ไปยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการสอบสวนคดีสมชาย ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2548 แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมาหนึ่งปีเต็มที่คำถามของดิฉันถูกละเลยเพิกเฉย และไม่เคยได้รับคำตอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งก็ไม่ต่างจากกรณีการบังคับสูญหายของเหยื่ออีกหลายรายที่กำลังรอความยุติธรรม
หากจะถามถึงความก้าวหน้าการทำงานเพื่อยุติการบังคับสูญหายในช่วงปีที่ผ่านมา คงมีเพียงการที่สภาผู้แทนราษฎรผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งสำหรับดิฉันเห็นว่าร่างที่ผ่านสภาฯ เป็นความกล้าหาญในการอนุวัติกฎหมายการด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความก้าวหน้ามากมากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนของร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาถือเป็นความท้าทายอย่างมาก และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งส่วนมากเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานความมั่นคงจะเห็นชอบกับร่างที่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ หรือผ่านแต่อาจแก้ไขจนสาระสำคัญและเจตนารมณ์ของกฎหมายหายไป
สำหรับคนที่ไม่เคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ไม่เคยถูกข่มขู่คุกคาม หรือไม่เคยได้รับความอยุติธรรม อาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกของเหยื่อ และชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง กรณีการบังคับสูญหายที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ทำไมเหยื่อหลายคนจึงไม่สู้ หรือเพราะพวกเขาถูกทำให้เป็นคนไม่ดี เป็นทนายโจร เป็นพวกเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือสิ่งผิดกฎหมาย
สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ต้องมีชีวิตอยู่กับความกลัว พวกเขาถูกปิดปาก และถูกทำให้เงียบเสียง เพราะไม่ว่าจะเรียกร้องอะไร เสียงของพวกเขาคือเสียงของคนไม่ดี คนที่จะทำลายสังคม และคนเหล่านี้สมควรถูกทำให้หายไปเพื่อที่ปัญหาจะหมดไป ทำให้ที่ผ่านมาเราเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ได้เลย เพราะดูเหมือนกฎหมายจะคุ้มครองเฉพาะคนที่ถูกเรียกว่า “คนดี” คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าจะคุ้มครองประชาชน แม้เจ้าหน้าที่คนนั้นจะกระทำเยี่ยงโจร กระบวนการยุติธรรมยังปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล เช่นนี้แล้วกระบวนการยุติธรรมไทยจะกล้ามองหน้าและแววตาของครอบครัวเหยื่อได้อย่างไร
ประสบการณ์ 18 ปีในการทำงานด้านการบังคับสูญหาย ทำให้ทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายความจริง คือ เจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันอ่อนไหวอย่างมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลกลับไม่เคยมีเจตจำนงทางการเมืองในการตามหาคนหาย เปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ หรืออาจเป็นเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
จึงไม่แปลกใจที่เราไม่เคยได้ยินนายกประยุทธ์ เอ่ยถึงผู้สูญหายในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูญหาย 8 คนที่สูญหายในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ โดยทั้ง 8 ได้สูญหายภายหลังลี้ภัยไปพักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, สยาม ธีรวุฒิ และล่าสุด วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
การยุติการอุ้มฆ่าโดยรัฐ จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ชัดเจนในการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ต้องกำจัดโจรในเครื่องแบบให้หมดไป ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจและทหาร
กรณีสมชาย นีละไพจิตร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เฉพาะรัฐบาล หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึกที่คอยควบคุมกำกับสังคมไทย ทั้งสถาบันตำรวจ และทหาร ซึ่งสถาบันเหล่านี้แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน แต่พวกเขาก็ไม่หวั่นเกรง เพราะถือว่าคุมอำนาจรัฐอยู่ ทำให้ไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมรับการตรวจสอบ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะสามารถคงอำนาจของตัวเองไว้
การปฏิรูปกฎหมายจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นความหวังให้เกิดกลไกการคุ้มครอง ป้องกันและยุติการอุ้มหายในประเทศไทย แต่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะมีผลบังคับใช้ หรือหากพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกปรับแก้สาระสำคัญจนไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล และไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชน และจะเอาเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษ ก็คงเป็นการยากที่เหยื่อจะได้รับความเป็นธรรม และการบังคับสูญหายในไทยก็คงจะยังดำรงอยู่ต่อไป
สำหรับเหยื่อ การบังคับสูญหายไม่เพียงพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การบังคับสูญหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น... ในขณะที่ปัญหาของรัฐเผด็จการ คือ ความกลัว แต่ในขณะที่กลัว รัฐก็มีอำนาจและอาวุธต่างๆมากมาย และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนจึงไม่เคยกลัวที่จะใช้มันเพื่อกำจัดคนที่บังอาจท้าทายอำนาจอันมิชอบของพวกเขา
ประสบการณ์ 18 ปีของการมีชีวิตที่ต่อต้านกับระบบที่ไม่เป็นธรรมโดยรัฐ แม้เป็นชีวิตที่ไม่ได้เลือก แม้จะพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่ความทรงจำของดิฉันและครอบครัวของเหยื่ออีกหลายคนยังชัดเจน เพราะบาดแผลในใจกระตุ้นเตือนให้เหยื่อทุกคนยังยืนหยัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด บาดแผลนี้จะยังคงอยู่และไม่สามารถลบเลือนลงได้ด้วยกาลเวลา และเพราะบาดแผลนี้เองที่ทำให้การต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรมดำเนินต่อไป
วันนี้นับเป็นปีที่ 18 ที่ชะตากรรมของสมชายยังคลุมเครือ 18 ปีที่รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบ 18 ปีที่ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล 18 ปีที่การอุ้มหายยังไม่เป็นอาชญากรรมในประเทศไทย และกว่า 18 ปีที่รัฐยังใช้วิธีการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง... คำถามของดิฉัน คือ สังคมไทยจะอดทนได้อีกกี่ปีเพื่อยุติอาชญากรรมโดยรัฐนี้
ผ่านมา 18 ปี ลูกๆ ของสมชาย นีละไพจิตร เติบโตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ที่กล้าหาญและถ่อมตนในการใช้ชีวิตแบบคนสามัญที่รับผิดชอบต่อสังคม ทุกคนมีชีวิตที่ดีเพื่อที่จะบอกเจ้าหน้าที่ที่ลุแก่อำนาจเหล่านั้นว่าเราไม่กลัว และเราจะใช้ชีวิตเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อคนอื่นๆ อีกมากมายที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมโดยรัฐ
การบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อ 18 ปีที่แล้ว จึงถือเป็นการเปลี่ยนเรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก และเหยื่อไม่ต้องหลบซ่อนตัวอย่างหวาดกลัวอีกต่อไป เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปิดเผยกระบวนการอุ้มฆ่าโดยรัฐอย่างไม่มีใครปกปิดได้อีกต่อไป”
@@ ย้อน 18 ปีอุ้มสมชาย
ทนายสมชายถูกอุ้มหายไปตั้งแต่ปี 2547 หรือ 18 ปีก่อน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบเห็น หรือได้เบาะแส หรือแม้กระทั่งพบศพทนายสมชาย สร้างความเศร้าเสียใจให้กับครอบครัว ทั้งภรรยาและลูกๆ อย่างสุดซึ้ง
คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย จะว่าไปต้องบอกว่า "จบแล้ว" ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2558 ยกฟ้องตำรวจ 5 นายที่ตกเป็นจำเลยในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและลักทรัพย์ทนายสมชาย โดยศาลฎีกาให้เหตุผลในคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำส่งศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันความถูกต้องของพยานหลักฐาน
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่รับคดีทนายสมชายเป็นคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนไปแล้ว ทำให้ถึงวันนี้สามารถพูดได้ว่า คดีอุ้มหายกลางกรุงเทพฯ เพราะทนายสมชายถูกอุ้มจากรถยนต์ขณะขับอยู่แถวๆ หัวหมาก ผ่านมา 18 ปี ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ และหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วย ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ และไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ซึ่งก็คือครอบครัวของทนายสมชายได้
ทั้งๆ ที่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ทนายสมชายถูกอุ้มจากการทำคดีช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถมยังน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากอดีตผู้นำประเทศสมัยที่ยังอยู่ในตำแหน่งก็เคยตอบคำถามเรื่องนี้อย่างเป็นปริศนา ส่อให้เห็นว่าทนายสมชาย "ถูกบังคับให้สูญหาย" หรือที่เรียกว่า "อุ้มหาย" นั่นเอง