ท่ามกลางกระแสที่บางฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการนัดชุมนุมอย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯชั้นใน
แต่ในระยะหลังๆ รูปแบบการรวมตัวมีพัฒนาการมากขึ้น โดยรูปแบบที่เริ่มได้รับความนิยม คือ “คาร์ม็อบ” หรือการชุมนุมด้วยการขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ออกมาบีบแตรเป็นสัญญาณเพื่อไล่นายกฯ
การนัด “คาร์ม็อบ” เริ่มถี่ขึ้น และกระจายไปหลายจังหวัดมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่สามจังหวัดชายแดนใต้
วันเสาร์ที่ 7 ส.ค.64 ซึ่งมีการนัดหมายเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคาร์ม็อบ” ในหลายจังหวัด คู่ขนานไปกับการชุมชนของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ ReDem ใน กทม. ปรากฏว่ามี “กลุ่มคาร์ม็อบ” ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.เมือง ของทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ จ.ยะลา เวลา 16.00 น. กลุ่ม”คาร์ม็อบ จ.ยะลา” นัดรวมตัวกันที่หน้าป้ายสวนขวัญเมือง สวนสาธารณะเทศบาลนครยะลา ซึ่งอยู่สุดถนนคชหิรัญ บริเวณด้านหลังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา และบ้านพัก สวท.ยะลา ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดสกัดรอบๆ บริเวณสวนขวัญเมือง 4 จุด เพื่อไม่ให้ “กลุ่มคาร์ม็อบ” ไปรวมตัวกัน
ขณะเดียวกันก็มีรถยนต์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ขับวนเวียนไปรอบๆ สวนสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงประกาศห้ามชุมนุม เนื่องจากผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย
พร้อมกันนั้น ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ลาดตระเวนรอบๆ พื้นที่ แล้วไปจอดคอยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีผู้ทยอยเข้าร่วมกิจกรรม “คาร์ม็อบ”
กระทั่งเวลา 17.30 น. กลุ่มเยาวชนปลดแอกยะลา จำนวนประมาณ 50 คน ได้หลบการตรวจของเจ้าหน้าที่ไปนัดรวมตัวที่ข้างรั้วศูนย์เยาวชน พร้อมชูป้ายข้อความโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และนโยบายวัคซีนของรัฐบาลที่กระจายฉีดให้ประชาชนล่าช้า
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปห้ามการนุมนุม ทำให้กลุ่มผู้มาชุมนุมพากันขี่รถมอเตอร์ไซค์วนรอบเมืองยะลา โดยออกจากรั้วศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ขับไปทางตลาดเก่า แล้ววนกลับมาทางวงเวียนศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์และพลังของเยาวชนปลดแอกจังหวัดยะลา จากนั้นจึงได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคาร์ม็อบใน จ.นราธิวาส เวลา 16.34 น. ก่อนจะเริ่มการเคลื่อนไหว ปรากฏว่ากลุ่มนักกิจกรรมโดนสกัดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนำกำลังเข้าไปพบนักกิจกรรมที่ร้านเดอะปาปัน แต่เมื่อมีสื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้กล่าวเตือนพร้อมชี้แจงไปในตัวว่า ผู้ชุมนุมปิดป้ายทะเบียนรถ จึงได้เขียนใบสั่ง ก่อนกลับออกไป
จากนั้น “กลุ่มคาร์ม็อบ” ได้ออกไปเคลื่อนไหว โดยมีกิจกรรมขับรถเคลื่อนขบวนจากจุดวงเวียนนกสันติภาพ ขับรอบเมือง มีการบีบแตรขับไล่ พร้อมส่งเสียง “ออกไป” ตลอดเส้นทาง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการปราศัยแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จนถึงเวลา 17.30 น. จึงได้ยุติการชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกิจกรรมคาร์ม็อบนราธิวาสจบลง ได้มีการแสดงเดี่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “เยาวชนปลดแอกนราธิวาส” แต่เป็นการแสดงเดี่ยวของศิลปิน เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจกับความรู้สึกอยุติธรรมในพื้นที่ของตัวศิลปิน มีการนำสีแดงมาราดตัวบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์นกกระดาษ และเขียนข้อความบนผ้าว่า Patani Merdeka หรือแปลเป็นไทยว่า เอกราชปาตานี
ต่อมา กลุ่มนราธิวาสปลดแอกได้ประกาศชี้แจงการจัดกิจกรรมว่า กิจกรรมของกลุ่มฯ คือการจัดคาร์ม็อบที่นัดรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่เห็นด้วยต่อการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น โดยมีกิจกรรมในช่วงเวลา 16.30-17.30 น. ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มนราธิวาสปลดแอกแต่อย่างใด
ส่วนที่ จ.ปัตตานี “กลุ่มคาร์ม็อบ” ได้รวมตัวกันที่ ลานวัฒนธรรมปัตตานี โดยมีนักศึกษาร่วมกับประชาชน จัดขบวนรถแห่ “CAR MOB TANI สตาร์ทเครื่องลงถนนไปไล่ประยุทธ์กันค่ะ” ท่ามกลางกองกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าร่วมสังเกตุการณ์ กว่า 50 นาย
ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม “กลุ่มคาร์ม็อบ” ได้นำรถไปจอดหันหน้าเรียงมาทางศาลากลางจังหวัดปัตตานี พร้อมบีบแตรรถเป็นสัญลักษณ์ และส่งเสียงตะโกนไล่เสียงดัง จากนั้นแกนนำได้พากันขับรถแห่ไปรอบๆ เมืองปัตตานี