ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนพิเศษ 129ง ได้เผยแพร่ประกาศเรื่อง "พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 เห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ อ.กาบัง แล้วให้ใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติตามกฎหมายแทน จะได้สามารถนํามาตรการตามกฎหมายนี้มาใช้ในการบริหารจัดการรักษาความสงบและความปลอดภัยให้เป็นไปโดยต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ
เหตุนี้เอง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในวันเดียวกันให้พื้นที่ อ.กาบัง จ.ยะลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ขณะเดียวกันก็ให้กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือหน่วยงานภายในที่ กอ.รมน.มอบหมายให้เป็นศูนย์อํานวยการ เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ พร้อมจัดทําแผนการดําเนินการในการบูรณาการ การกํากับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดําเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กําหนด
ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 20 มิ.ย.64 ถึงวันที่ 30 ก.ย.64 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ อ.กาบัง โดยให้ กอ.รมน.มีอํานาจดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศพื้นที่และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายที่ระบุในประกาศ รวม 32 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ.2499 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้ และให้มีอํานาจดําเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย แต่การใช้กฎหมายดังกล่าวให้ดําเนินการเท่าที่จําเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ และมิได้เป็นการทําให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไป
สำหรับกฎหมายที่ระบุในประกาศ จำนวน 32 ฉบับนี้ เป็นกฎหมายชุดเดียวกับที่เคยประกาศให้อำนาจ กอ.รมน.ในพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น 4 อำเภอของ จ.สงขลา, อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งบังคับใช้ในพื้นที่ อ.กาบัง โดยให้อำนาจคณะรัฐมนตรีออกประกาศ เพื่อกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงฯ ให้ผู้กระทำสามารถเข้ารับการอบรมตามคำสั่งของศาลแทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติได้ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดนั้นกลับตัว
สำหรับฐานความผิดที่เข้าข่ายสามารถใช้มาตรา 21 ได้ เป็นไปตามฐานความผิดที่คณะรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และได้บังคับใช้ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น พิ้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นต้น
การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ อ.แม่ลาน ยังได้มีการออก "ข้อกำหนด" ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการได้อีก 6 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือสนับสนุน กอ.รมน.
2. ห้ามบุคคลใดเข้า หรือให้บุคคลใดต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.
3. ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ซึ่งหมายถึงอำนาจการประกาศเคอร์ฟิว
4. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
5. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ
6. ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อ เป็นการให้อำนาจผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย สามารถไปออกประกาศแนวปฏิบัติหรือเงื่อนไขการบังคับใช้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศแต่อย่างใด เป็นเพียงกรอบอำนาจที่สามารถดำเนินการได้เมื่อปรากฏสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น
อนึ่ง สำหรับ อ.กาบัง จ.ยะลา เป็นอำเภอที่ 7 ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วหันมาบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน โดยอีก 6 อำเภอที่บังคับใช้ไปก่อนหน้า ประกอบด้วย อ.แม่ลาน, อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก, อ.สุคิริน, อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส นอกจากนั้นยังมี 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทื่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ที่เป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเช่นกัน