ชาวบ้านชายแดนใต้กังวลผลข้างเคียง "วัคซีนโควิด" ผวาข่าวลือมีส่วนผสมโปรตีนจากหมู ด้านนักวิชาการมุสลิมจากจุฬาฯ ประสานเสียงนายกแพทยสมาคม ยืนยัน "ฮาลาล" แน่นอน ยกตัวอย่างอินโดฯ ส่งนักการศาสนาพิสูจน์ชัดแล้ว
ผลสำรวจจากราชภัฏโพลล์ในประเด็นความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบว่ามีเพียงราวๆ ร้อยละ 50 เท่านั้น ส่วนที่เหลือมีความกังวลผลข้างเคียง จึงยังไม่ตัดสินใจ "ทืมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่าสาเหตุหลักที่คนสามจังหวัดยังไม่เชื่อใจวัคซีนโควิด เพราะมีข่าวลือหนาหูในพื้นที่ว่ามีส่วนผสมโปรตีนจากหมู หรือ "สุกร" ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักอิสลาม
นายอิสหะ ยะโก๊ะ ชาวปัตตานีวัย 45 ปี กล่าวยอมรับว่า เท่าที่ฟังเสียงคนในพื้นที่ ชาวบ้านกลัวที่จะฉีดวัคซีน ตนเองก็กลัว ทั้งเรื่องผลข้างเคียงและวัคซีนไม่ฮาลาล เรื่องนี้มีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่มีกระแสผลิตวัคซีน แม้จะหลายฝ่ายออกมายืนยันว่าวัคซีนฮาลาลแน่นอน แต่ชาวบ้านก็ยังนิ่งๆ เพราะมีข่าวแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่า วัคซีนมีองค์ประกอบของไขมันสุกร ขณะเดียวกันก็มีคำชี้แจงเพิ่มเติมว่า ส่วนผสมในวัคซีนที่คล้ายโปรตีน คือ "เจลาติน" เพื่อรักษาความเสถียรของวัคซีน ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนสุกร
ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ที่พูดคุยกันยังระบุว่า วัคซีนจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า มีคำยืนยันชัดเจนว่าไม่มีส่วนผสมของโปรตีนจากสุกร แต่วัคซีนซิโนแวคจากจีนยังไม่มีคำยืนยัน แต่มีเริ่มฉีดแล้วในประเทศไทย ชาวบ้านจึงยังไม่กล้าฉีด บางคนรอฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน
นางสาวอัสมะ มูซอ ชาวบ้านยะลา วัย 38 ปี กล่าวว่า รู้สึกกลัวการฉีดวัคซีน ถ้าต้องฉีดก็จะขอฉีดคนหลังๆ ไม่รีบ ส่วนข่าวลือเรื่องส่วนผสมจากสุกรนั้น ไม่ได้รู้สึกกังวลเท่าไหร่ เพราะผู้นำศาสนาในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรี ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องวัคซีนไม่ฮาลาล
@@ "วินัย ดะห์ลัน" ยันวัคซีนไร้ "เจลาติน" จากสุกร
ด้าน ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงข้อข้องใจเรื่องวัคซีนฮาลาลหรือไม่ สรุปว่า ในบรรดาคนไทยเกือบ 70 ล้านคน มีประมาณ 4-5 ล้านคนเป็นมุสลิม คำถามที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่กับมุสลิมประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลกก็มีคำถามเหมือนกันว่า วัคซีนโควิด-19 ฮาลาลสำหรับมุสลิมหรือไม่
เรื่องวัคซีนฮาลาลเคยเป็นประเด็นกับวัคซีนตัวอื่นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโปลิโอ คอตีบ หรือแม้กระทั่งไข้กาฬหลังแอ่น ชาวบ้านในปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทย เกิดคำถามถึงขนาดผู้ปกครองบางส่วนปฏิเสธที่จะให้ลูกหลานรับวัคซีนกลุ่มนี้ ความที่เป็นประเด็นมาก่อน ทำให้ทางการของอินโดนีเซียและมาเลเซียส่งนักวิชาการศาสนาอิสลามเข้าร่วมตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้พากันปรับสูตรการผลิตกันยกใหญ่ เนื่องจากตลาดมุสลิมใหญ่โตมโหฬารจำเป็นต้องรักษาไว้
สิ่งที่เป็นข้อห้ามในทางศาสนาอิสลามที่เป็นประเด็นในกรณีวัคซีน คือการใช้เจลาติน (Gelatin) จากสุกรเพื่อรักษาสภาพของวัคซีน (Stabilizer) วิธีนี้ใช้กันทั่วไป เหตุนี้ "ซิโนแวค" และ "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนส่งให้ประเทศไทยต่างยืนยันว่าใช้เจลาตินที่ปลอดสุกร โดยอินโดนีเซียส่งนักวิชาการศาสนาอิสลามเข้าไปร่วมตรวจกระบวนการผลิตวัคซีนของซิโนแวคที่ประเทศจีน ก็ยืนยันตรงกัน เช่นเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้า โดยในส่วนของการรับรองฮาลาล คาดว่าคงให้นักวิชาการศาสนาอิสลามในอังกฤษซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ
@@ แพทยสมาคมฯช่วยย้ำอีกแรง "มุสลิมฉีดได้" ผลข้างเคียงต่ำ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า วัคซีนโควิดไม่เกี่ยวอะไรกับสารสกัดจากน้ำมันหมู ยืนยันว่าวัคซีนตัวนี้ไม่มีส่วนผสมของหมู ไม่ได้นำมาจากไขมันหมู ไม่มีส่วนผสมของสัตว์ เป็นสารสังเคราะห์ในระดับโมเลกุล
สำหรับกลุ่มประชาชนที่ฉีดไปแล้ว จะมีผลข้างเคียงหลังฉีดหรือไม่ ต้องดูปฏิกิริยา ซึ่งที่มีและปรากฏเป็นข่าวยืนยัน ถือว่าจำนวนน้อยมาก ผลข้างเคียงมักจะเกิดปัญหากับบางคนที่แพ้ง่าย แต่ละคนที่จะไปฉีดวัคซีนต้องรู้ตัวว่าแพ้ง่ายหรือไม่ แพ้อะไร และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
ขั้นตอนการฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้เดินตามไปตามนั้น 8 ขั้นตอน ที่สำคัญคือ ฉีดไปครึ่งชั่วโมงแรกก็ต้องอยู่ตรงนั้น อย่าเพิ่งไปไหน ถ้าใครฉีดเข้าไปแล้วเกิดมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก จะเป็นลม รีบบอกหมอก่อนเลย ให้หมอตรวจได้เลย หมอก็จะวัดความดัน จะเช็คดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางทีอาจจะตื่นเต้นตกใจเป็นเรื่องธรรมดา บางคนก็แพ้น้อย แพ้มาก แพ้แบบรุนแรง หายใจลำบาก เหนื่อย อย่างนี้ก็ได้เตรียมยาไว้ให้แล้ว
"ในเบื้องต้นยังไม่พบกลุ่มที่แพ้อย่างรุนแรง หลังฉีดแล้วดูอาการ 50 นาทีไม่มีอะไร ก็จะให้กลับบ้าน สังเกตอาการในระยะ 3 วัน กลุ่มนี้ถือว่าไม่ฉุกเฉินมาก อาจมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมากๆ แต่ไม่รุนแรงมาก ก็ต้องกลับไปหาหมอ ก็ต้องมีหมอดูอาการ ถ้าดูข้อมูลตอนนี้ อย่างที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ฉีดไปแล้วเป็นพันคน มีสัก 10 คนเท่านั้นที่มีอาการแพ้ ถือว่าไม่เยอะ ที่พบอาการข้างเคียงไม่มากและถือว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่แพ้ขั้นรุนแรง"
นายกแพทยสมาคมฯ บอกด้วยว่า แนวทางป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ