ท่ามกลางกระแสของฝ่ายค้าน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนที่ออกมาโจมตีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี และเรียกร้องให้ยกเลิก
กระแสนี้ร้อนแรงมากขึ้นในช่วงหลัง เพราะถูกนำไปยึดโยงกับกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารเพียง 1 คืน ก็มีอาการสมองบวม หมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพบว่าเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วย แต่ก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะ
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า จริงๆ แล้วยังมีการจัดเวที "ประชาสังคมสนับสนุนกฎหมายพิเศษ" ในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน โดยการสนับสนุนงบประมาณและการจัดการตางๆ จากศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
เวทีที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เป็นของ "กลุ่มสตรีพัฒนาจิตอาสาบ้านปากบางสะกอม" อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอรอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดย นางอุมาพร ซาหีมซา หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านปากบาง ตำบลสะกอม อำเภอเทพา เป็นแม่งานจัดเวทีประชาสังคมสนับสนุนกฎหมายพิเศษ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนบ้านปากบางสะกอม มีกลุ่มสตรีพัฒนาจิตอาสา ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 147 คน ในงานมีการร่วมกันร้องเพลงชาติไทย เพื่อสร้างกระแสจิตสำนึกความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ด้วย
จากนั้น ดร.อภิรัชศักดิ์ รัชนีวงค์ นักวิชาการด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "กฎหมายพิเศษ มีความสำคัญอย่างไร" จบแล้วมีการแบ่งกลุ่มกลุ่มระดมความคิดเห็น และนำเสนอผลงานในหัวข้อ "การสนับสนุนกฎหมายพิเศษในพื้นที่" โดยกลุ่มสตรีพัฒนาจิตอาสาฯ ได้ร่วมรณรงค์ในแคมเปญ "คนสะกอมสนับสนุนกฎหมายพิเศษ" และ "คนสะกอมสนับสนุนกฎหมายความมั่นคง เพื่อปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์" ด้วย
นอกจากนั้นยังมีการเปิดเวทีเสวนา โดยมี น.ส.ปาดีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หรือ We Peace เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์และผลดีของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
นางอุมาพร หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านปากบาง บอกว่า กฎหมายพิเศษมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันเหตุร้ายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมากฎหมายพิเศษดูแลประชาชนได้ดีมากๆ ขอให้มีกฎหมายพิเศษนี้อยู่คู่กับพวกเราต่อไป
ขณะที่ นางนงลักษณ์ สาเมาะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลสะกอม บอกว่า กลุ่มสตรีมีส่วนสำคัญและมีพลังอย่างอย่างยิ่งในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เพราะสตรีเกือบทุกคนสวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จิตอาสาเยียวยา และ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. ถือว่ามีความพร้อม สามารถรวมตัวกันได้ภายใน 15 นาทีเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีการแจ้งเหตุและแจ้งเตือนไปยังลูกบ้าน จึงขอสนับสนุนการใช้กฎหมายพิเศษ