ในขณะที่ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลกำลังเฟ้น “ตัวจริง” เพื่อนำขึ้นโต๊ะพูดคุยเจรจา หยุดปัญหาไฟใต้รอบใหม่ที่ยืดเยื้อมานาน 21 ปี
เสียงวิจารณ์จากแทบทุกฝ่ายพุ่งไปที่ฝ่ายรัฐ ทั้งไม่รู้จริง ไม่จริงใจ ไม่จริงจัง และไม่มีความพร้อม
แต่แท้ที่จริงแล้ว BRN ในฐานะขบวนการที่เชื่อกันว่าควบคุมกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐมากที่สุดตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจมีปัญหาและข้อจำกัดในตัวเอง ในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเจรจาด้วยเช่นกัน
บริบทและเงื่อนไขต่างๆ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า BRN ได้เปรียบรัฐไทยมาตลอดนั้น ในความเป็นจริงอาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นการบรรลุเป้าหมายการต่อสู้ของพวกเขาเองก็เป็นได้
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ และโลนวูลฟ์ อธิบายและตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
——————————
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการติดอาวุธจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะต่อรองกับรัฐผ่านการใช้กำลังอาวุธ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์อาณานิคม และโครงสร้างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์
ขบวนการเหล่านี้มักเริ่มต้นจากการต่อต้านความอยุติธรรมในระดับท้องถิ่น ก่อนจะพัฒนาไปสู่ข้อเรียกร้องในการจัดตั้ง “รัฐใหม่”
รูปแบบการต่อสู้ที่ขบวนการติดอาวุธนำมาใช้ คือ “ยุทธิวิธีรบแบบกองโจร” ซึ่งความได้เปรียบและยืนระยะต่อสู้กับรัฐนั้นๆ ได้อย่างยาวนาน
แต่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว “ยุทธวิธีกองโจร” ที่ไม่สามารถยึดครองพื้นที่ได้จริง แม้จะเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ยืดหยุ่นและยากต่อการปราบปราม กลับย้อนแย้งโดยตรงกับเป้าหมายในการสถาปนา “รัฐ” ขึ้นมาใหม่
หลักคิดสำคัญนั่นคือ เมื่อไม่มีพื้นที่ ก็ไม่มีรัฐ แนวคิดนี้ “เหมาเจ๋อตุง” ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า การปฏิวัติของประชาชนนั้นไม่ใช่เพียงการใช้ความรุนแรงฉับพลัน แต่ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน เริ่มจากการสร้างฐานที่มั่นในชนบท สร้างความสัมพันธ์กับประชาชน ฝังรากในพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อนจะค่อยๆ ขยับเข้าสู่เมือง และสถาปนารัฐ
กล่าวได้ว่า หากขบวนการใดยังวนเวียนอยู่กับการก่อเหตุแบบ “ตีแล้วถอย” โดยไม่ยึดพื้นที่ ก็เท่ากับยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างรัฐได้อย่างแท้จริง
ในทำนองเดียวกัน Stathis Kalyvas ซึ่งเป็นผู้ศึกษาสงครามกลางเมืองคนสำคัญในโลกวิชาการร่วมสมัยปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นว่า “การควบคุมอาณาเขต” คือหัวใจของการสร้างอำนาจทางการเมืองในภาวะสงคราม
การเก็บภาษี การจัดการทรัพยากร การให้บริการประชาชน และการบังคับใช้กฎระเบียบ ล้วนต้องอาศัยพื้นที่จริงที่ขบวนการควบคุม หากไม่มีพื้นที่เหล่านั้น การสร้าง “รัฐเงา” ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ การรบโดยใช้ “ยุทธวิธีกองโจร” ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่มี “พื้นที่ควบคุม” เพราะส่งผลในแง่ของ “อำนาจต่อรอง” และ “ความชอบธรรม” ที่ขบวนการจะนำเข้าสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้
ประการแรก การขาดพื้นที่ทำให้ขาดต้นทุนในการต่อรอง ขบวนการที่ไม่มีฐานที่มั่นไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการควบคุมประชากรหรือทรัพยากรได้จริง รัฐจึงมองว่าอีกฝ่ายไม่มีอำนาจแท้จริง และการเจรจามักกลายเป็นเพียง “การยื่นเงื่อนไข” จากฝ่ายรัฐ
ประการที่สอง ขาดความชอบธรรมในสายตาของประชาชน เพราะไม่มีพื้นที่สำหรับให้บริการหรือสร้างกลไกการบริหาร การเจรจาโดยไม่มีมวลชนสนับสนุนจึงเป็นเพียงการเจรจาของกลุ่มปิด ไม่ใช่การสร้างฉันทามติจากพื้นที่
ประการที่สาม ข้อเรียกร้องจะจำกัดลง
ในขณะที่กลุ่มขบวนการที่สามารถยึดพื้นที่ได้ จะสามารถเรียกร้องการปกครองตนเองหรือการเปลี่ยนโครงสร้างรัฐ แต่กลุ่มที่ไม่มีพื้นที่มักได้เพียงการนิรโทษกรรมหรือสิทธิบางประการที่รัฐยินยอมให้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกขบวนการที่ไร้พื้นที่จะไร้พลังต่อรองโดยสิ้นเชิง กรณีของ IRA (Irish Republican Army) คือข้อยกเว้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การไม่มีพื้นที่ควบคุมไม่จำเป็นต้องหมายถึงการไร้อำนาจ หากขบวนการนั้นสามารถมี “มือไม้ทางการเมือง” ที่แข็งแรง อย่างเช่น ในกรณีของพรรค Sinn Féin ซึ่งได้รับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องจากชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ
นอกจากนี้ บริบทระหว่างประเทศก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ และชุมชนไอริช-อเมริกัน ที่ผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษต้องเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างไม่มีเงื่อนไขเรื่องดินแดน
เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของ IRA เองที่ยืดหยุ่น ไม่ติดกับดักแนวคิดรัฐใหม่แบบแข็งทื่อ แต่พร้อมเจรจาในประเด็นการปฏิรูป การแบ่งปันอำนาจ และความเสมอภาคทางศาสนา
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พยายามทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ขบวนการที่ไม่มีพื้นที่ยึดครองยังสามารถอ้างความฝันต่อการสร้างรัฐใหม่ได้จริงหรือไม่? หรือท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้ทั้งหมดคือการแสวงหาพื้นที่ในระบบการเมืองเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่บนแผนที่ แต่ฝังอยู่ในความทรงจำของประวัติศาสตร์และการยอมรับในเวทีโลก
คำตอบนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่ปลายปืน หากแต่อยู่ที่ว่ากลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นพร้อมแปรเปลี่ยนพลังจากปืนไปเป็นการสื่อสาร การสร้างสถาบัน และนโยบายหรือไม่ ต่างหาก