มี 2 ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ หลังจากอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เดินทางลงพื้นที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.68
หนึ่ง ไฟใต้จะดับมอดลงได้ในรัฐบาลชุดนี้ ชุดนายกฯแพทองธาร ลูกสาวของอดีตนายกฯทักษิณ จริงตามที่ท่านประกาศ และตั้งเป้าหมายหรือไม่
สอง การฟื้นนโยบาย 66/23 ที่เคยใช้ในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ มาปรับใช้เพื่อดับไฟใต้ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งอดีตนายกฯทักษิณ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้แสดงท่าทีขัดข้อง จะสามารถจัดการปัญหาภาคใต้ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันได้จริงหรือ เพราะนโยบาย 66/23 ก็ถูกใช้มานานถึง 45 ปีที่แล้ว
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายาการ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ไล่เรียงอธิบายความเป็นไปได้ของ 2 ประเด็นที่ว่านี้...
1.ไฟใต้ในขณะนี้ไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องลัทธิการเมืองการปกครอง หรือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เป็นหลัก เหมือนเมื่อครั้งที่ใช้นโยบาย 66/23
ปัจจุบัน เงื่อนไขและสถานการณ์แตกต่างกันมาก และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดสุดโต่ง (Violence and Extremism) ของขบวนการคนอีกรุ่น โดยไม่มีศาสนาใดยอมรับวิธีการรุนแรงแบบนี้
ที่สำคัญยังมีเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน (separatism) หรือการสถาปนารัฐขึ้นมาใหม่ (irredentism) ที่ชัดเจนด้วย
ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะย้อนกลับไปใช้นโยบาย 66/23 หรือ 65/25 ที่เคยใช้เอาชนะคอมมิวนิสต์ในอดีตได้
2.ในสมัยก่อนที่มีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือการใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างเข้มข้น แล้วจึงเสนอทางเลือกให้สมาชิกขบวนการคอมมิวนิสต์ "กลับใจ" หรือ "เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย" โดยอาศัยความขัดแย้งภายในของขบวนการคอมมิวนิสต์เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ร่วมกับใช้กฎหมายและนโยบาย 66/23 กับ 65/25 เปิดทางสู่สันติจนสำเร็จ
แต่ปัจจุบัน ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคงอ่อนแอลง แนวทางเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผล จึงยิ่งจะไม่ได้ผลมากขึ้น
3.ในอดีตบทบาทของมาเลเซียก็ไม่สำคัญมากเหมือนทุกวันนี้ เหตุเพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่ได้อาศัยหรือใชัพื้นที่ในมาเลเซียเป็นฐานที่มั่นในการสั่งการหรือจัดการ
อีกทั้งโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.หรือ CPM) ก็มีฐานอยู่ในไทยที่ อ.เบตง จ.ยะลา ไม่ใช่อยู่ในมาเลเซีย
ผิดกับปัจจุบัน ขณะนี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือแกนนำการสร้างแนวความคิดและความรุนแรงแบบสุดโต่งไปอาศัยอยู่ในมาเลเซีย และสั่งการหรือจัดการจากที่นั่นเป็นหลัก จึงทำให้ยากต่อการจัดการ
ดังนั้น หากต้องการจะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลุล่วงจริง ๆ ก็จะต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้
1.ปราบปรามและป้องกันไม่ให้เกิดความคิดแบบสุดโต่งอย่างจริงจัง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการก่อความไม่สงบหรือการโจมตีเจ้าหน้าที่หรือคนที่สนับสนุนรัฐอย่างที่เกิดทุกวันนี้
2.กดดันให้มาเลเซียในฐานะผู้ประสานงานของไทย นำตัวแกนนำทั้งหลายที่เป็นตัวจริงหรือมีบทบาทหลัก ที่อาศัยและปฏิบัติการอยู่ในมาเลเซียนั้น ออกมานั่งโต๊ะเจรจาหรือพูดคุยสันติสุขกับฝ่ายไทยให้ได้
หรือหากคนเหล่านั้นไม่ร่วมมือ ก็ต้องจับกุมหรือเนรเทศออกนอกประเทศมาเลเซีย เพราะถือว่าทำผิดกฏหมายของมาเลเซียหรือของสากลอยู่แล้ว เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะสงบลง
3.ในส่วนของผู้นำรัฐบาล รวมทั้งอดีตผู้นำที่มีเครือข่ายของตนอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะต้องควบคุมดูแลกำกับคนของตนเองให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขยันดูแลประชาชนมากกว่านี้ และละเลิกการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญอีกปัจจัยของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรื้อรังมาถึงปัจจุบัน
@@ ไฟใต้ 66/68 ไทยเสี่ยงสูญเสียอำนาจรัฐส่วนกลาง
ส่วนพลวัตของปัญหาในมุมมองของอาจารย์ปณิธาน ได้ฉายภาพเอาไว้อย่างแจ่มชัด
1. เดิม..การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐ ต้องการดำรงความมุ่งหมายเดิม คือสร้างสถานการณ์เพื่อรักษาสถานภาพ ตามที่ฝ่ายความมั่นคงได้ระบุบ่อยๆ
2.แต่ปัจจุบัน เนื่องจากฝ่าย BRN ทั้งที่นั่งอยู่บนโต๊ะพูดคุย ทั้งที่อยู่ในไทย และที่สำคัญคือที่อยู่ในมาเลเซีย มี "สถานภาพ" ที่ชัดเจนแล้ว คือไม่ต้องถกเถียงกันมากอีกแล้วว่ามี "B" หรือไม่ หรือใครคือ "B" หรืออยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะแทบทุกฝ่ายก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว
ฉะนั้นการก่อเหตุรุนแรงที่กระทำอยู่ จึงกระทำเพื่อต้องการอำนาจในการต่อรองและการสนับสนุน ทั้งที่โต๊ะเจรจา ทั้งในพื้นที่ ทั้งในองค์กรของตัวเอง ทั้งกับต่างประเทศ
และที่สำคัญอีกประการคือ การต่อรองกับมาเลเซีย เพื่อไม่ให้โดนจับ โดนเนรเทศ
3.การต่อรองหลายระดับ และหลายมิติที่ซับซ้อนนี้ บ่งบอกถึงพัฒนาการที่เข้มแข็งขึ้นมากของ BRN โดยเฉพาะทางการเมืองและการต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลชัดเจนจากงานวิจัยทีตนได้ศึกษาโครงสร้างและการทำงานของ BRN มาเกือบ 10 ปี
4.ถ้าประเมินการพูดคุยสันติสุข จะสรุปได้ในขณะนี้ว่า
- ฝ่ายBRN ได้เปลี่ยนความพ่ายแพ้ทางยุทธการหรือทางทหาร ให้เป็นความความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ได้แล้ว คือสามารถต่อรอง กุมทิศทาง ขัดขวาง ชะลอเวลา และบางครั้งก็สามารถชี้นำฝ่ายรัฐระดับสูงที่นั่งร่วมโต๊ะเจรจาได้แล้ว
- ส่วนฝ่ายรัฐ ถูกเปลี่ยนจากชัยชนะในทางยุทธการหรือทางการทหาร หรือการการดำเนินนโยบายเชิงรุกในพื้นที่ มาเป็นการตั้งรับในเชิงการเมือง การต่างประเทศ และเริ่มเพลี่ยงพล้ำในเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว
คือมีแนวโน้มที่จะต้องเสียอำนาจรัฐส่วนกลางแบบ unitary state ไปให้กับท้องถิ่นมากกว่าที่ควรจะเป็น และก็ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป