พฤติกรรมของแก๊งเยาวชนที่เรียกตัวเองว่า “โอริโอ้” สร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคม และผู้คนทั่วไปไม่น้อย
เพราะทั้งดิบเถื่อน ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่กลับร่ำรวย มีเงินมีทอง และมีเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมายครบทุกอย่าง
ทุกพฤติกรรมกระทำอย่างอุกอาจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย แถมยังสนุก สะใจกับสิ่งที่ได้ลงมือ
ที่น่าตกใจคือ พฤติกรรมเหล่านี้มีคนอีกจำนวนหนึ่งยอมรับ บ้างก็ชื่นชม บ้างก็เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม ร่วมวงกระทำการไปด้วยเลย
@@ “อินเกม” สู่ “อันธพาล”
รศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ในฐานะนักอาชญาวิทยา วิเคราะห์ปัญหาการก่อกำเนิดของกลุ่มเยาวชนทีมีพฤติกรรมแนวอันธพาล อย่าง “แก๊งโอริโอ้” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
- ภาษา เจน ซี (Gen Z) เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “เบียว”
- “เบียว” เป็นอาการของคนหรือกลุ่มคนที่อินกับอะไรบางอย่างมาก จนอยากเข้าไปสวมบทบาท หรือมีส่วนร่วมจนเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งนั้น
- กรณีของกลุ่มออริโอ้ คือเกมเมอร์ นักแคสต์เกม “Five M” แล้วอินกับเกม สวมบทบาทเหมือนในเกม
- การรวมกลุ่มเกิดจากการเล่นเกม และใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ทำให้สามารถเชื่อมคนที่มีรสนิยมหรือชอบในสิ่งเดียวกัน มาตั้งกลุ่มและรวมกลุ่มกันได้
- กิจกรรมที่ทำด้วยกัน สามารถหาเงิน สร้างรายได้ ซึ่งก็ทำผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย
- เมื่อกลุ่มของตนมีชื่อเสียงขึ้นจากกิจกรรมที่ทำ คือ แคสท์เกม ก็เริ่มมีตัวตน มีเงิน ถ้าเป็นคนรักดี ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ก็กลายเป็นอาชีพใหม่ในสังคม แต่ถ้าเป็นคนอีกประเภท ก็กลายเป็นกลุ่มแก๊งกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นอันธพาลได้เหมือนกัน
- โมเดลนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มลายพราง ถือเป็นปัญหาสังคมแบบหนึ่งที่พลวัตไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
@@ ผสมผสานคุกคาม “โลกจริง - โลกเสมือน”
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มแก๊งต่างๆ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจาก “โซเชียลมีเดีย”
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แก๊งต่างๆ ในบ้านเรามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างเห็นได้ชัด จากการรวมกลุ่มก้อนตามถนนหนทางสร้างความเดือดร้อนรําคาญ กลายเป็นการรวมกลุ่มกันบนโลกออนไลน์ และใช้อินเทอร์เน็ตกับโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้คน
พร้อมๆ กันนั้นก็แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของกลุ่มตัวเอง ด้วยการแชร์พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ใช้อาวุธ ฯลฯ รวมทั้งเผยแพร่พฤติกรรมที่กระทำต่อเหยื่อผ่านสมาร์ทโฟนบนแพลตฟอร์มต่างๆ
ถือเป็นภัยสังคมรูปแบบใหม่ที่กำลังระบาดไม่เฉพาะเมืองไทย แต่ในหลายประเทศก็พบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในลักษณะเดียวกัน และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่โซเชียลมีเดียยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดแสดงถึงการผสมผสานของการคุกคามบนโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือทางไซเบอร์ เรียกรวมๆ ว่า “ไซเบอร์แบงกิ้ง” (Cyberbanging)
พฤติกรรมที่พบเห็นโดยทั่วไปของ “ไซเบอร์แบงกิ้ง”
- ตั้งกลุ่มโดยคนบางคนหรือบางกลุ่ม โดยอาศัยพื้นที่โซเชียลมีเดียเป็นศูนย์กลาง
- หาสมาชิกผ่านโซเชียลมีเดีย (เช่นเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายที่หาสมาชิกเข้ากลุ่ม)
- ใช้โซเชียลมีเดียคุกคามฝ่ายตรงข้าม
- สร้างคอนเทนต์ในเชิงที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรืออาชญากรรม แม้ว่าจะล่อแหลมต่อการผิดกฎหมายก็ตาม
- โปรโมทแบรนด์ อุดมการณ์ของแก๊งตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย
- ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการติดต่อระหว่างสมาชิกกลุ่ม
- ประกาศความสำเร็จของตัวเองบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ
- ประกาศตัวเป็นศัตรูกับกลุ่มอื่นหรือบุคคลอื่นอย่างเปิดเผย
@@ โลกไซเบอร์...สร้างสรรค์ VS ทําลาย
อินเทอร์เน็ตสามารถสร้างสิ่งดึงดูดใจให้กับมนุษย์อย่างน้อย 3 ประการ คือ
- สามารถเข้าถึงข้อมูลและติดต่อกับผู้คนได้อย่างกว้างขวางตลอดเวลา
- เป็นช่องทางหารายได้ได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพอื่น
- มีต้นทุนที่ถูกและสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนในมือของทุกคน
- อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเหมือนแหล่งทรัพยากรที่มีทั้งคนดี คนร้าย เข้าไปหาประโยชน์ และเต็มไปด้วยข้อมูลที่สร้างสรรค์และทำลายสังคมได้ในเวลาเดียวกัน
“ไซเบอร์แบงกิ้ง” ใช้โลกไซเบอร์เพื่องานประเภทหลัง เพราะพวกเขาใช้ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการสร้างปัญหาให้กับสังคม
สิ่งหนึ่งที่พวก “ไซเบอร์แบงกิ้ง” ต้องการ นอกจากจะโชว์ศักยภาพของตัวเองให้โลกได้เห็นแล้ว ความต้องการยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ คือหนึ่งในเป้าหมายของพวกเขา เพราะคอนเทนต์ที่คนกลุ่มนี้สร้างขึ้น จะออกไปในแนวรุนแรง เกลียดชัง แปลกประหลาดในสายตาคนทั่วไป ซึ่งเรียกความสนใจแก่ผู้คนมากกว่าคอนเทนต์ธรรมดาๆ
คอนเทนต์ของแก๊งเหล่านี้จึงได้รับความนิยม และได้รับ Feedback ดีกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ จากคนที่มีรสนิยมและชื่นชอบแนวทางของพวกเขา และพวกเขามักจะภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำจาก Feedback เหล่านี้ และแสวงหาคอนเทนต์แปลกๆ เพื่อสร้างกระแสความสนใจต่อๆ ไป
นอกจากนี้ “พวกไซเบอร์แบงกิ้ง” ยังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์ของแก๊ง เช่น แสดงออกถึงความมั่งคั่ง (เงิน รถยนต์) แสดงรูปแบบของอาวุธที่ใช้ สไตล์ของผู้หญิงแบบชาวแก๊ง เครื่องดื่มประเภทมึนเมา รูปแบบของปาร์ตี้ และยาเสพติด เป็นต้น
พวกแก๊งยังสามารถสื่อสารระหว่างกันผ่านเกมออนไลน์ต่างๆ ทั้งระหว่างสมาชิกในประเทศหรือแม้แต่สมาชิกที่อยู่ต่างแดน
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมของแก๊งเจนเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างพฤติกรรมของแก๊งข้างถนนแบบเดิม กับวัฒนธรรมของโลกไซเบอร์ จนเกิดเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันว่า “ไซเบอร์แบงกิ้ง”
@@ คอนเทนต์ปัง...ไม่บังเอิญ
“ไซเบอร์แบงกิ้ง” มักโพสต์บนคอนเทนต์บนแต่ละแพลตฟอร์มต่างกันออกไป ดังนั้น “ไซเบอร์แบงกิ้ง” มือโปรจึงไม่โพสต์คอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งแบบสะเปะสะปะ แต่พวกเขารู้กันดีว่าจะเลือกแพลตฟอร์มใดที่เหมาะสมกับคอนเทนต์ของพวกเขา และรวมทั้งการหลบหลีกการตรวจสอบต่างๆ ด้วย
แพลตฟอร์มซึ่งเป็นที่นิยมของพวก “ไซเบอร์แบงกิ้ง” โดยทั่วๆ ไปได้แก่ Facebook YouTube Instagram X(Twitter) Google Snapchat Flickr WhatsApp และ kik ซึ่งแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา แต่เป็นที่นิยมของ “ไซเบอร์แบงกิ้ง” บางประเทศ
แพลตฟอร์มX : สมาชิกแก๊งไซเบอร์แบงกิ้ง มักโพสต์คอนเทนต์ประเภทดนตรีและเพลง เช่น โพสต์ มิกซ์เทป (Mixtape) ซึ่งหมายถึงการนำทำนองเพลงของคนอื่นมาร้องในสไตล์ตัวเอง รวมทั้งอาจจะโพสต์เพลงแร็ปที่แสดงตัวตนการเป็นสมาชิกของแก๊ง
แพลตฟอร์มFacebook : มักโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับสัญลักษณ์กลุ่ม และสีประจำกลุ่ม
แพลตฟอร์มYouTube : มักโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับการไลฟ์สด คลังยาเสพติด รูปแบบอาวุธ ฐานะการเงิน ไลฟ์สไตล์ของแก๊ง เพื่อยกระดับสถานะทางสังคมของตนเอง ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้เป็นคอนเทนต์ที่ค่อนข้างรุนแรงและล่อแหลมต่อการผิดกฎหมาย
นอกจากคอนเทนต์ข้างต้นแล้ว พวกเขายังใช้สัญลักษณ์ประเภท emoji และ hashtag หรือภาษาที่รู้กันเฉพาะกลุ่มเพื่อการติดต่อสื่อสาร กรณีที่มีปัญหาเรื่องความเข้มงวดของแพลตฟอร์มเดิม แก๊งเหล่านี้จะไปหาแพลตฟอร์มใหม่ที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า
@@ จับกลุ่ม รวมตัว สู่ห้องเสียงสะท้อน
ไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกที่เคยประดิษฐ์ขึ้นและมีศักยภาพในการทำให้ผู้คนสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้จำนวนมาก สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และสามารถใช้งานได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการเท่ากับโซเชียลมีเดีย
การรวมตัวของสมาชิกแก๊งไซเบอร์แบงกิ้ง สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการรวมตัวของฝูงนก และทฤษฎีการรวมตัวของฝูงชน
โดยธรรมชาติ นกมักมีพฤติกรรมชอบเลียนแบบนกตัวอื่น โดยนกแต่ละตัวจะสังเกตพฤติกรรมของนกที่อยู่ใกล้กับตัวเอง หากนกที่อยู่ใกล้ตัวบินไปทางซ้าย ตัวเองก็จะบินไปทางซ้ายตาม พฤติกรรมของนก กับพฤติกรรมการรวมฝูงของคนแทบไม่ต่างกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมชอบในสิ่งที่เหมือนๆ กับที่ตัวเองชอบ หรือที่เรียกกันในทฤษฎีโครงข่ายว่า “โฮโมฟิลี” (Homophily) ซึ่งในภาษากรีก หมายถึงชอบในสิ่งเดียวกัน หรือหนึ่งในประโยคที่พูดกันเสมอ คือ นกชนิดเดียวกันมักอยู่รวมฝูงกัน (Birds of a feather flock together)
และในยุคนี้ไม่มีพื้นที่ไหนที่สามารถทำให้คนที่ชอบในสิ่งเดียวกันมารวมตัวกันได้สะดวกรวดเร็วและมากได้เท่ากับโซเชียลมีเดีย
การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่คนมีความชอบที่เหมือนๆ กัน มักจะทำให้เกิดความเอนเอียงไปในทางเดียวกัน แม้ว่าจะบางคนอาจไม่เห็นด้วยต่อการกระทำบางอย่าง แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเดียวกัน คนคนนั้นก็มักจะคล้อยตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ และคนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มก้อนที่ตกอยู่ในภาวะ Echo chamber (ห้องเสียงสะท้อน) ซึ่งสื่อสารกันด้วยภาษาและความเข้าใจของกลุ่มเอง และเสริมความเห็นซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม โดยไม่มีใครอยากแตกแถว ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดสุดขั้ว และหากมีแรงกระตุ้นอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ตลอดเวลา
@@ ส่งต่อความรุนแรง จากโลกไซเบอร์สู่โลกจริง
มีคำถามอยู่เสมอๆ ว่า ความรุนแรงในโลกไซเบอร์สามารถที่จะพัฒนาสู่โลกแห่งความจริงได้หรือไม่
การศึกษาหลายการศึกษา และหลักฐานเชิงประจักษ์จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าว พิสูจน์ให้เห็นว่าความขัดแย้งบนโลกออนไลน์สามารถที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในโลกแห่งความจริงได้
เช่น การท้าทายกันบนโซเชียลมีเดียจนนำมาสู่ความรุนแรงตามข้างถนน ซึ่งเกิดหลายต่อหลายครั้งในบ้านเรา เพราะเชื้อไฟที่เติมกันอยู่บนโลกโซเชียลจากความไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์ และคุณสมบัติแฝงอื่นๆ ของโซเชียลมีเดีย ทำให้มนุษย์กล้าแสดงออกเชิงก้าวร้าวมากกว่าปกติ เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคล กลับสามารถทำได้อย่างง่ายดายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์”
พฤติกรรมเหล่านี้จึงนำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นความรุนแรงในโลกแห่งความจริงได้เสมอ
@@ บทสรุป...ยากเป็นจริง?
ลำพังตำรวจไซเบอร์ฝ่ายเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ ตราบเท่าที่เยาวชนทุกคนยังมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ และสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
การแก้ไขปัญหา นอกจากการจำกัดอายุของผู้มีบัญชีโซเชียลมีเดีย และอายุในการถือครองสมาร์ทโฟนแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากแพลตฟอร์ม
หรือต้องใช้มาตรการบางอย่างเพื่อให้แพลตฟอร์มลงทุนตรวจสอบคอนเทนต์ต่างๆ ที่รุนแรง สร้างความเกลียดชังที่อาจเป็นภัยต่อผู้คนที่มากและเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม