ในยุคโลกาภิวัฒน์... สถานการณ์โลกแม้เกิดในพื้นที่ห่างไกลจากประเทศไทย แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะส่งผลถึงไทย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เช็คลิสต์สิ่งที่อาจารย์เรียกว่า “10 ประเด็นร้อนเวทีโลก” ในปี ค.ศ.2025 หรือปี พ.ศ.2568 โดยได้ให้สัมภาษณ์สื่อบางแขนง รวมถึงส่งข้อมูลให้ “ทีมข่าวอิศรา”
10 ประเด็นร้อนเวทีโลกในมุมมองของอาจารย์สุรชาติ มีหลายเรื่องที่กระทบกับไทยโดยตรง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งเปราะบางอย่างยิ่งทั้งในแง่สังคมและการเมืองบ้านเรา
“ทีมข่าวอิศรา” ถ่ายทอดทัศนะและคำเตือนล่วงหน้าของอาจารย์สุรชาติ โดยเริ่มจากประเด็นร้อนที่จะพุ่งเข้าใส่ประเทศไทยโดยตรง ซึ่งก็คือผลพวงจากการมีประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ นามว่า โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขาจะเข้าพิธีสาบานตนเพื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 ม.ค.2025
ประเด็นแรก การกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี จะเกิดขึ้นแน่นอน
โดยปี 2025 จะเป็น “ปีแห่งลัทธิกีดกันทางการค้า” (The Year of Protectionism) หรือจะเป็น “ปีแห่งกำแพงภาษี” (The Year of Tariff) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจในภาพใหญ่ หรือโดยนัย คือปี 2025 จะเป็น “ปีแห่งสงครามการค้า” (The Year of Trade War) ที่แรงเสียดทานระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในทางเศรษฐกิจจะมีเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อาจารย์สุรชาติ ประเมินว่า ไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าทรัมป์เปิดสงครามการค้า ไทยมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในบัญชีและได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเราจะเห็นความย้อนแย้งในการเมืองไทยจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่ค่อนข้างโปรจีน และมักจะเรียกร้องให้ไทยหันเข้าหาจีนมากขึ้น ซึ่งดูจะละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐและตะวันตก แต่ไทยเสียดุลการค้ากับจีน
และสิ่งที่ต้องระวัง คือ จีนอาจจะใช้มาตรการผลักดันสินค้าจีนราคาถูกมาขายในบ้านเรามากขึ้น เพราะจีนจะขายสินค้าในตลาดตะวันตกได้ยากในปี 2025 สังคมไทยจะเผชิญกับสินค้าราคาถูกและไร้คุณภาพจากจีนมากขึ้น
คำถามของอาจารย์สุรชาติ คือ ไทยจะรับมือกับประเด็นนี้อย่างไร
ต่อเนื่องจากการกลับคืนเวทีของทรัมป์ สิ่งที่จะตามมาติดๆ คือ การฟื้นคืนชีพอย่างแข็งแกร่งของ “ประชานิยมปีกขวา” ซึ่งอาจารย์สุรชาติยกเป็น 1 ใน 10 ประเด็นร้อนเวทีโลกด้วยเช่นกัน
อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ชัยชนะของทรัมป์ไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของผู้นำทำเนียบขาว แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสหรัฐคือ “การเลือกตั้งโลก” เนื่องจากนโยบายของทรัมป์ผูกโยงอยู่กับกระแส “ประชานิยมปีกขวา” (Right-Wing Populism) หรือ “ขวาประชานิยม” (Right Populism)
กระแสปีกขวาที่น่าจับตามองในปี 2025 อย่างการ “การเลือกตั้งในเยอรมนี” ครั้งที่ผ่านมาพรรคฝ่ายขวาอย่าง “พรรคทางเลือกเยอรมนี” (Alternative für Deutschland: AfD) ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งการเติบโตของกระแสประชานิยมปีกขวาค่อนข้างมากในการเมืองฝรั่งเศส ยังไม่นับรวมถึงตัวแสดงสำคัญอย่าง จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลีที่มีแนวคิดขวาจัด หรือ เกร์ต ไวล์เดอร์ส ผู้นำพรรคขวาจัดอย่างพรรค PVV ในเนเธอร์แลนด์
เมื่อโลกถูกขับเคลื่อนโดยกระแสประชานิยมปีกขวามากขึ้นและอาจทำให้ปี 2025 เป็น The Year of Right-Wing Populism บนเวทีโลก กระแสดังกล่าวจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองโลกแน่ๆ ถ้าตะวันตกเป็น Populism มากขึ้น ความเป็นระเบียบโลก “แบบเสรี” (Liberal International Order) ก็จะเป็นระเบียบโลกที่ “ไม่เสรี” (Illiberal International Order) มากขึ้น
พูดถึง “ระเบียบโลกใหม่” จึงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นร้อนที่ 3 ซึ่งอาจารย์สุรชาติเรียกว่า “ภาวะถดถอยของโลกาภิวัตน์”
อาจารย์อธิบายว่า วันนี้เรามีคำใหม่คือ “ภาวะถดถอยของโลกาภิวัตน์” หรือ “ภาวะที่โลกาภิวัตน์ถูกหยุด” (Deglobalization) ซึ่งสิ่งที่จะตามมาแน่ๆ คือผลกระทบกับ “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ทั่วโลก
โจทย์ตรงนี้อาจจะต้องคิดต่อว่า ไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานนี้ เราจะจัดวางตัวเองอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้
การเข้าเป็นสมาชิก BRICS และ OECD ไม่ใช่ทางเลือกของไทยในช่วงที่สงครามการค้าระลอกใหม่เตรียมปะทุและโลกาภิวัตน์กำลังถดถอย เพราะตลาดของไทยไม่ได้อยู่กับจีนและรัสเซีย แต่ผลประโยชน์ของไทยในทางเศรษฐกิจอยู่กับสหรัฐและสหภาพยุโรป BRICS จึงไม่ใช่คำตอบ และไทยไม่สามารถเล่นบทแบบอินโดนีเซีย อินเดีย หรือแอฟริกาใต้ได้ เพราะไทย “มีต้นทุนต่ำ” คือสถานะทางเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) ของไทยบนเวทีโลกอยู่ในระดับที่ใช้เป็นข้อต่อรองได้ไม่มากนัก การเข้าร่วมกลุ่มกับโลกใต้ (Global South) อาจไม่ได้ตอบโจทย์อย่างที่คิด
ส่วน OECD ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าไทยจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเข้ารับเป็นสมาชิกใหม่ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ไทยควรทำมากขึ้นคือการสร้างบทบาทของไทยในประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นโจทย์ใกล้ตัวที่ทำได้จริง
แน่นอนว่า “ระเบียบโลกใหม่” ก็มีต้นสายปลายเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่หนักหน่วงรุนแรง และจะเป็นประเด็นร้อนที่ 4 ในเวทีโลกปี 2025
อาจารย์สุรชาติ บอกว่า “การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์” จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเงื่อนไขส่วนหนึ่งมาจากแนวนโยบายของสหรัฐ ซึ่งด้านหนึ่งจะผูกโยงอยู่กับ “ลัทธิชาตินิยม” และอีกส่วนหนึ่งก็คือการยืนอยู่บนชุดความคิดแบบ “โดดเดี่ยวนิยม” (Isolationism) ทำให้คาดเดาได้ว่าการแข่งขันทางภูมิศาสตร์ของปี 2025 คงเข้มข้นขึ้น
ในช่วงปลายปี 2024 เราได้เห็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายตกใจ ทั้งกรณีที่ทรัมป์ขู่ทวงคืนคลองปานามา รวมถึงกระแสข่าวที่ทรัมป์ต้องการจะทุ่มเงินซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์กเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง และทรัมป์อาจพาสหรัฐถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งความร่วมมืออื่นๆ ดังเช่นที่ทรัมป์เคยทำขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยแรก (ปี 2017-2020)
ทั้งหมดล้วนสะท้อนชุดความคิดแบบ “โดดเดี่ยวนิยม” จากเมื่อ 4 ปีที่แล้วในสมัยแรกของทรัมป์ว่า ทรัมป์ทำอะไรบ้าง และทรัมป์อาจมีแนวโน้มทำสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่งในลักษณะที่เพิ่มมากขึ้น
ประเด็นร้อนที่จะกระทบแน่ๆ และสะเทือนถึงไทยด้วย ก็คือ สงครามและการเตรียมรับมือกับสงคราม
อนาคตของสงครามยูเครน ทรัมป์อาจบีบให้ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับเงื่อนไขยกดินแดนที่เสียไปให้กับรัสเซีย และกดดันให้รัสเซียหันกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติสงคราม
โดยด้านหนึ่งสหรัฐอาจลดความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบให้กับยูเครนลง เพื่อให้ยูเครนไม่สามารถรบได้ แต่ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรป (EU) และ NATO ก็คงยังต้องการสนับสนุนยูเครนเพื่อยันกับรัสเซียต่อไป เพราะมองว่าหากรัสเซียชนะหรือรัสเซียสามารถยึดครองดินแดนของยูเครนได้อย่างชอบธรรม ในมิติด้านความมั่นคงก็เชื่อว่ารัสเซียอาจขยายอิทธิพลมากขึ้นกับพื้นที่ต่างๆ ของยุโรป ฉะนั้นโจทย์สงครามในอีกมุมหนึ่งคือ “การเตรียมรับสงคราม”
นอกจากนี้เรายังเห็นปัญหาสงครามที่ยังไม่รู้จุดจบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ในขณะเดียวกันความล่อแหลมที่จะเกิดสงครามในเอเชียก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ รวมถึงบริเวณช่องแคบไต้หวัน และการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือบนคาบสมุทรเกาหลีที่มีความถี่มากยิ่งขึ้นหลังช่วงโควิด
แปลว่า “ความเปราะบางของสงคราม” เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในปี 2025
พูดถึงสงครามยุคนี้ ก็ต้องหมายถึง “สงครามนิวเคลียร์” และการก่อการร้าย ซึ่งจัดเป็นประเด็นร้อนที่ 6 และ 7 ในเวทีโลกของอาจารย์สุรชาติ
อาจารย์อธิบายว่า ในปี 2024 มีสัญญาณบางอย่างที่น่ากังวล เนื่องจากเราได้เห็นจีนทดลองยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี แม้จะไม่ได้ติดหัวรบก็ตาม ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของรัสเซียที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เกาหลีเหนือที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวนโยบายประชานิยมของทรัมป์ ทรัมป์อยากขยายกองทัพอเมริกัน อยากเพิ่มงบประมาณทางการทหารและเสริมสร้างขีดความสามารถในการสู้รบ ที่สำคัญทรัมป์อยากนำพาสหรัฐหันกลับไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยยุติไปในปี 1992 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ด้วยการถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรปทั้งของสหรัฐและสหภาพโซเวียตออกไป เพื่อให้ยุโรปมีภาวะปลอดอาวุธนิวเคลียร์
การกลับมาของทรัมป์จะทำให้ประเด็นด้านอาวุธนิวเคลียร์กลับมาอีกครั้ง และอาจทำให้ปี 2025 เป็น “ปีแห่งอาวุธนิวเคลียร์” (The Year of Nuclear Weapon)
เช่นเดียวกับ การก่อการร้ายที่ไม่เคยหายไปไหน
การก่อเหตุร้ายกับตลาดคริสต์มาสชื่อดังในเยอรมนีเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ว่าสงครามก่อการร้ายอาจจะหวนกลับคืนมา และสะท้อนว่าการก่อการร้ายไม่เคยหายไปไหน แม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามในการสังหารแกนนำกลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ของกองทัพอิสราเอล แต่ก็เป็นเพียง “การแก้ปัญหาระยะสั้น” เพราะโจทย์ระยะยาวของปัญหาการก่อการร้ายเป็นโจทย์การเมือง ต่อให้ตัวผู้นำจะหายไปหรือถูกสังหาร แต่อุดมการณ์ของกลุ่มยังคงอยู่และอาจนำไปสู่การฟื้นตัวของกลุ่มในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ส่วนในบริบทของไทยที่มีกลุ่ม BRN เคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังเรื่อยมา โดยกลุ่ม BRN มุ่งหวังที่จะปลดปล่อยให้รัฐปัตตานีกลายเป็นรัฐเอกราช ซึ่งการผลักดันเรื่องรัฐเอกราชอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในกรณีของ “ติมอร์-เลสเต” ที่มีเงื่อนไขของรัฐมหาอำนาจภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่อาเจะห์ในอินโดนีเซียและมินดาเนาในฟิลิปปินส์ก็เป็นตัวแบบที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่มีเงื่อนไขของการจัดการปกครองที่เหมาะสมเข้ามาช่วยคลี่คลายความตึงเครียด
ส่วนวิกฤตในเมียนมา หากได้รับการเยียวยาแก้ไข ก็อาจไม่ได้เป็นโอกาสในการจัดตั้งรัฐเอกราชใหม่เช่นเดียวกัน แต่เป็นเพียงการจัดเงื่อนไขการปกครองในรูปแบบที่เหมาะสมระหว่างกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา
ประเด็นร้อนที่ 8 อาจารย์สุรชาติให้น้ำหนักไปที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาค่าครองชีพ
อาจารย์แจกแจงว่า ในสภาวะที่เราเห็นสงครามการค้า เห็นโลกาภิวัตน์กำลังถดถอย เห็นปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน เราคาดการณ์ได้อย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนอย่างมาก แม้อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นวิกฤตก็ตาม และในความผันผวนนี้เกี่ยวพันกับ “ค่าครองชีพ” (Cost of Living) ในชีวิตประจำวันของผู้คน
ชัยชนะของทรัมป์คือภาพสะท้อนความพ่ายแพ้ในการจัดการปัญหาค่าครองชีพของพรรคเดโมแครตในสหรัฐ แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ได้แย่และมีอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น แต่ปี 2025 ชีวิตจริงของผู้คนในทุกสังคมทั่วโลกมีโอกาสจะถูกกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจนี้ ชีวิตของคนชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นกลาง-ล่าง (Lower Middle Class) จะถูกกระทบด้วยปัญหาค่าครองชีพ ขณะที่สังคมไทยก็น่าจะอยู่ในโมเดลที่ไม่แตกต่างกัน
ดังนั้นถ้าสงครามการค้าเกิด “สงครามค่าครองชีพ” ที่กระทบกับชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นตามมา
ประเด็นร้อนที่ 9 ซึ่งไม่อาจมองข้ามได้เลย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนกระทบกับไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในปี 2024 ทั้งวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในสเปนและวิกฤตไฟป่าในโลกตะวันตก สิ่งที่เห็นจะเป็นภาพตอกย้ำที่เราจะเจอความแปรปรวนเหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ รวมถึงในปี 2025
กรณีของไทยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนที่สุดในปี 2024 คือ วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือและภาคใต้ของไทย ซึ่งทำให้เราเห็นว่าชีวิตของคนในสังคมไทยประสบความยากจนมากขึ้นจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นผลักดันให้ทั้งภาครัฐและภาคสังคมต้องคิดเรื่องอากาศใหม่อีกครั้ง มองเห็นความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้าและต้องได้รับการเยียวยาแก้ไข
นอกจากนี้วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังเกี่ยวพันกับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปี 2025 อาจเป็นปีที่ฝุ่น PM2.5 อยู่กับเรานานกว่า 6 เดือน นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิตของผู้คนที่ต้องเผชิญ โดยไม่มีเงื่อนไขของอายุ เวลา และสถานที่ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ประเด็นร้อนที่ 10 คือปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและวิกฤตมนุษยธรรม ซึ่งไทยก็อยู่ในวงจรนี้ด้วยเช่นกัน
โจทย์สำคัญที่เป็นผลพวงจากสงครามและความขัดแย้งคือ “ปัญหาผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ในบริบทของไทย เราอาจเห็นผลกระทบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แม้ในระยะหลังจะไม่ส่งผลกระทบมากเช่นในอดีต แต่สงครามเหล่านี้ก่อให้เกิด “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” (Internally Displaced Person: IDP) ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญในปี 2025 เพราะปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและหนีภัยความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้อาจนำไปสู่ “วิกฤตมนุษยธรรม” ซึ่งการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Aid) จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากหลายฝ่าย
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่า ในปี 2025 จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ (Forcibly Displaced and Stateless People) จะสูงกว่า 139 ล้านคนทั่วโลก โดยจำนวนนี้เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 68.5 ล้านคน และเป็นผู้ลี้ภัยอีกราว 34 ล้านคน
อาจารย์สุรชาติ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า 10 โจทย์ใหญ่เหล่านี้ ไทยจะมีจุดยืนอย่างไร จะดำเนินการอย่างไร สุดท้ายแล้วคงต้องขึ้นอยู่กับผู้นำไทยว่า จะเห็นโจทย์รอบประเทศไทยแค่ไหน เห็นแล้วเข้าใจแค่ไหน เข้าใจแล้วสามารถตีความเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมได้แค่ไหน
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการมองเห็นเท่านั้นว่า โลกภายนอกที่ล้อมรอบหรือกระแสโลกที่ล้อมไทยเป็นอย่างไร แต่ต้องทั้งเข้าใจและสามารถผลักดันกระบวนการที่จะทำให้นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศของไทยสอดรับกับสถานการณ์บนเวทีโลกให้ได้มากที่สุดอีกด้วย