กิจกรรมส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาครั้งแรก ที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นก้าวย่างสำคัญของไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในเมียนมาเท่านั้น
แต่เรื่องนี้อาจเป็น “จุดเปลี่ยนสถานการณ์” ได้ด้วยเช่นกัน
สถานะของไทย คือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดของเมียนมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลและกองทัพ โดยเฉพาะในยุคที่ไทยปกครองโดยรัฐบาลทหาร ก็จะมีนัยเชิงบวกมากเป็นพิเศษ
จังหวะก้าวนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยต่อปัญหาในเมียนมา เพราะในความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ก็ถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจไปพร้อมกัน
ขณะที่สงครามกลางเมืองในเมียนมาส่งผลกระทบต่อไทยแล้ว และจะกระทบต่อไป ส่วนจะนานเท่าไรย่อมขึ้นกับสถานการณ์ และความพยายามของไทยในการช่วยจบปัญหาด้วย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ซึ่งเกาะติดปัญหาและสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา ทั้งยังเคยเสนอให้ไทยแสดงบทบาทสร้าง “สถานีมนุษยธรรม” และเป็น Peace Broker ให้ความเห็นต่อการส่งความช่วยเหลือของไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญแรกๆ ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดอย่างไทย
1.การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ไทยทำมานาน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำมานานแล้ว เพื่อสร้างภาพเชิงบวกให้กับบทบาทของไทยทางด้านมนุษยธรรม
2.รัฐบาลไทยต้องสร้างหลักประกันให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือนี้จะต้องตกถึงมือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง เพราะประชาชนในสงครามเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก
3.การจัดการความช่วยเหลือต้องคิดในแบบมาตรฐานสากล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลกระทบด้านลบต่อไทยในเชิงภาพลักษณ์ เพราะภาพของไทยในปัญหาเมียนมาที่ผ่านมา เป็นไปในทางลบมากกว่า และเป็นเรื่องที่ดีที่การดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคงไทยที่มีบทบาทนำ
4.รัฐบาลไทยต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อหลีกเลี่ยงว่าความช่วยเหลือนี้จะต้องไม่ใช่การสนับสนุน SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งจัดตั้งโดยฝ่ายกองทัพเมียนมา) ในอีกแบบหนึ่ง
5.รัฐบาลไทยควรยกเลิกข้อตกลงที่ทำกับ SAC ในการห้ามองค์กรเอกชนเข้าใกล้พื้นที่ชายแดน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และหากความช่วยเหลือระหว่างประเทศมีมากขึ้น รัฐบาลผู้ให้ความช่วยเหลือในอนาคตอาจต้องการการมีส่วนร่วมขององค์กรเอกชนในพื้นที่ และหลายฝ่ายอาจกังวลต่อการจัดการความช่วยเหลือโดยผ่านหน่วยงานความมั่นคงไทยในอนาคต
6.การเตรียมรับกับปัญหามนุษยธรรมยังเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาลไทย และอาจต้องคิดเตรียมรับมืออย่างจริงจัง หากสงครามกลางเมืองขยายตัวมากขึ้น และเกิดการทะลักของผู้ลี้ภัยมากขึ้นในอนาคต
7.สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยควรเปิดการเชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเมียนมาให้มากขึ้น เพราะการเปิดช่องทางการติดต่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เสริมสร้างบทบาทของไทยในการทำเวทีสันติภาพเมียนมา
8.รัฐบาลไทยควรลดท่าทีที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่า ไทยต้อง “เกรงใจ” SAC แบบไม่จบ เพราะจะทำให้หลายฝ่ายหวาดระแวงไทย แม้กระทั่งเกิดความระแวงในการให้ความช่วยเหลือของไทย เพราะเกรงว่าไทยจะใช้การให้ความช่วยเหลือนี้ ไปช่วยทางฝ่าย SAC มากกว่า
9.รัฐบาลไทยอาจต้องยอมรับว่าไทยถูกหวาดระแวงจากฝ่ายประชาธิปไตย ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเดิมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลทหาร
10.การสร้างนโยบายไทยต่อปัญหาวิกฤตเมียนมาเป็นสิ่งที่ควรเร่งทำ เพื่อกำหนดทิศทางให้เกิดความชัดเจนแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะสถานการณ์สงครามมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต