สถานการณ์ด้านความมั่นคงบีบรัดกดดันรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่จบ อย่างเช่นไฟใต้, ปัญหาใหม่ที่กำลังร้อนแรงอย่างสถานการณ์ในเมียนมา, และปัญหาเก่าแต่เสี่ยงกลับมาปะทุขึ้นใหม่อย่างพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา กับเอ็มโอยู 44
น่าสนใจตรงที่ปัจจุบันนี้รัฐบาลไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และยังไม่มีเลขาธิการ สมช.ที่ทำงานได้เต็มที่ เต็มเวลา ท่ามกลางปัญหาความมั่นคงที่รุมเร้า
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความจาระไน 3 สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่ท้าทายประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภายใต้การนำของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ซึ่งยังไม่มีแม้แต่รองนายกฯด้านความมั่นคง
@@ ปัญหาความมั่นคงเฉพาะหน้า
สถานการณ์ความมั่นคงไทยเฉพาะหน้าในช่วงระยะเวลาจากต้นปี 2567 เป็นต้นมานั้น มีประเด็นที่เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลใน 3 เรื่องหลัก และทั้ง 3 เรื่องนี้ดูจะต้องการคำตอบในเชิงนโยบายที่มีความชัดเจนด้วย ซึ่งหากพิจารณาแล้ว จะเห็นถึงสิ่งที่เป็นประเด็นเฉพาะหน้าทั้ง 3 ดังนี้
/// ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา ///
สงครามกลางเมืองในเมียนมาชุดใหม่ที่เริ่มขึ้นหลังจากผู้นำกองทัพเมียนมาตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว ได้เกิดการต่อต้านขึ้นในวงกว้างอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
สงครามยกระดับขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากปฏิบัติการรุกทางทหารของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 (ปฏิบัติการ 1027) และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สงครามเริ่มขยายตัวเข้าสู่ย่างกุ้ง ที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งส่อให้เห็นถึงแนวโน้มสงครามที่น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในฤดูแล้งนี้
ในอีกด้าน การประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ พร้อมกับสงครามที่ขยับเข้าใกล้แนวชายแดนไทยมากขึ้น เช่น ที่เมืองเมียวดีที่อยู่ตรงข้ามแม่สอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) เริ่มมีการรบหนักมากขึ้น และอาจกระทบไทยมากด้วย
สภาวะเช่นนี้ ทำให้ไทยในทางภูมิศาสตร์กลายเป็น “ด่านหน้า” ของการอพยพ ซึ่งหากเกิดการอพยพใหญ่แล้ว ไทยจะมีสภาพเป็นดัง “โปแลนด์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่เป็นพื้นที่หลักของการหลบภัยสงคราม
ดังนั้น การจัดการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดน การเตรียมพื้นที่ที่อาจเกิดการทะลักเข้าของผู้อพยพ ตลอดรวมถึงการป้องกันระวังชายแดน จึงต้องการ “การเตรียมการ” ทั้งในระดับนโยบาย และในระดับของพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างเอกภาพในการดำเนินการของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการควบคุมการปฎิบัติของฝ่ายไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะตอบสนองต่อการแก้ปัญหามนุษยธรรมในภาวะสงคราม
บทบาทสำคัญที่รัฐบาลจะต้องคิดอย่างมากในขณะนี้ คือ บทบาทในการช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของสถานการณ์สงคราม โดยเฉพาะการสร้างบทบาทของไทยที่จะเป็น “คนกลาง” (peace broker) ในการชักชวนคู่ขัดแย้งให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ หรือผลักดันให้เกิด “เวทีสันติภาพเมียนมา” (Myanmar Peace Forum) และทั้งจะต้องดำเนินการด้วยการสื่อสารกับอาเซียน และลาวในฐานะประธานอาเซียน อย่างใกล้ชิด
การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้จะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดนโยบายในระดับของรัฐบาล รวมถึงการกำหนดบทบาทของตัวนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิด “เอกภาพในนโยบาย” ของไทย
/// ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ///
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินมาถึงจุดสำคัญอีกครั้งหนึ่งในต้นปี 2567 เพราะคณะผู้เจรจามีการนำเสนอสิ่งที่ถูกเรียกว่า “แผนสันติภาพภาคใต้” หรือที่เรียกว่า “JCPP” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ร่างข้อเสนอที่ปรากฏในเวทีสาธารณะนั้น ไม่น่าจะเป็นทิศทางเชิงบวกในการแก้ปัญหา
โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มติดอาวุธ คือ กลุ่ม BRN ที่ต้องการขยายพื้นที่ปัญหา ไม่ใช่ครอบคลุมเพียงแค่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในแบบเดิมเท่านั้น และยังต้องการขยายกิจกรรมในพื้นที่ผ่านข้อตกลงดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้น คำว่า “การสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” ดูจะเป็น “สันติภาพแห่งความสับสน” อย่างมาก อีกทั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่อย่างใด และทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามอย่างมากว่า การมุ่งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างด้านเดียวนั้น จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงได้ทั้งหมดจริงหรือไม่
และทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากในเรื่องของ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ว่า รัฐบาลจะมีทิศทางไปอย่างไร หรือจะมีเข็มมุ่งเชิงนโยบายไปทางใดในอนาคต
ประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างกังวลว่า การที่ผู้นำรัฐบาลละเลยถึงปัญหาความรุนแรงที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องการ เกิดเป็นจริงได้เพียงใด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจต้องตระหนักว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในรูปแบบ “สงครามก่อความไม่สงบ” ในจังหวัดชายแดนใต้นั้น ต้องการการคิดในกรอบใหญ่ที่เป็น “ยุทธศาสตร์” มากกว่าคิดเป็นส่วนๆ แบบมิติเดียว
/// ปัญหาเส้นเขตแดนทะเลไทย-กัมพูชา ///
การปลุกระดมของกลุ่มขวาจัด ว่าด้วยเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2551 แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องเส้นเขตแดนทางบก (กรณีปราสาทพระวิหาร)
ในปี 2567 พวกเขาเริ่มหยิบเรื่องเส้นเขตแดนกลับมาใหม่ แต่ครั้งนี้เป็นเขตแดนทะเล อันเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนต่อการทำความเข้าใจของสาธารณชน
การสร้างกระแสขวาจัดของคนเหล่านี้ ด้านหนึ่งเพื่อสร้างบทบาทให้แก่พวกเขาเอง ในอีกด้านเพื่อการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งการสร้างกระแสนี้มักอิงอยู่กับประเด็นเก่าที่เป็นเรื่อง “ชาตินิยม” และหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา
เรื่องเดิมคือกรณีปราสาทพระวิหาร เรื่องใหม่คือการแบ่งเขตแดนทะเล พร้อมกับการอธิบายด้วย “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ดูตื่นเต้นและชวนเชื่อ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยประกาศเขตให้สัมปทานปิโตเลียมในอ่าวไทยไปตั้งแต่ปี 2511
กล่าวคือ ปัญหาสัมปทานในอ่าวไทยไม่ได้เพิ่งมาแบ่งในรัฐบาลยุคหลังๆ หรือกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมาต้องการให้ชะลอการคุยเรื่องเส้นเขตแดนทะเลไว้ก่อน เพื่อให้ไทยและกัมพูชาสามารถนำเอาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อน ดังตัวแบบ “พื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเลไทย-มาเลเซีย” หรือที่เรียกกันว่า “JDA” เพราะมองว่าเป็นประโยชน์มากกว่าในการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น เพื่อให้ความตกลงระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาล 2 ฝ่ายจึงลงนามใน “บันทึกช่วยจำ 2544” เพื่อเป็นกรอบของการเจรจา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่จะต้องมีการกำหนด “กรอบการเจรจา” เพื่อให้การเจรจาเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง และแม้จะยกเลิกไป ก็จะต้องหันกลับมาสร้างกรอบเช่นนี้อีก
แต่สำหรับฝ่ายขวาแล้ว กรอบนี้ถูกตีความว่าเป็นข้อตกลงในการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกในปี 2551 และนำมาเป็นข้อเรียกร้องอีกครั้งในปีปัจจุบัน โดยหวังว่าการขับเคลื่อนกระแสชาตินิยมจากปัญหานี้ จะพาการเมืองไทยกลับสู่วังวนในปี 2551 อีกครั้ง
น่าสนใจว่าพวกเขายัง “ฝัน” ที่จะล้มรัฐบาลอีกหรือ?
ปัญหาความมั่นคงเฉพาะหน้าทั้ง 3 เรื่องนี้ มารออยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรอว่า รัฐบาลจะกำหนดทิศทางในการพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างไร
อีกทั้งมีเรื่องค้างเก่าที่ทิ้งไม่ได้คือ พี่น้องคนงานไทยอีกส่วนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในกาซา ยังไม่ได้กลับบ้านเลย ขอรัฐบาลอย่าลืมพวกเขา!