ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความอีก 1 ชิ้น ขยายมุมมองที่มีต่อ “กระบวนการสันติภาพ” เพื่อดับไฟใต้
ที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เดินหน้าไปสู่การให้ความเห็นชอบสิ่งที่เรียกว่า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ซึ่งมีรายละเอียดและหัวข้อที่คณะพูดคุยของรัฐบาล กับฝ่ายบีอาร์เอ็นจะต้องตกลงเจรจากันต่อ
แต่บางหัวข้อ เมื่อพิจารณาแล้วน่ากังวลว่ากระบวนการนี้จะถูกใช้ประโยชน์จากฝั่งบีอาร์เอ็น จนทำให้เกิดผลเข้าทางฝ่ายตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ และกระทบกับเสถียรภาพความมั่นคงของไทย ตลอดจนประชาชนในพื้นที่หรือไม่ จึงมีความพยายามทักท้วงเพื่อให้ทบทวนอย่างรอบคอบ
ทว่ากลับมีการสร้างกระแสปกป้องกระบวนการพูดคุยฯ และตั้งคำถามย้อนกลับว่า ฝ่ายที่ทักท้วงนั้น พยายามล้มโต๊ะพูดคุย หรือปฏิเสธกระบวนการสันติภาพ
อาจารย์สุรชาติ สะบัดปากกาเขียนบทความชิ้นนี้เพื่ออธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจน...
@@ การเจรจาภาคใต้ในมิติยุทธศาสตร์
บทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผู้ที่สนใจมิติทางยุทธศาสตร์ต่อปัญหาการเจรจาที่เกิดขึ้นในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
การเสนอข้อคิดในทางยุทธศาสตร์มิได้มีความหมายว่า ถ้ามองด้วยชุดความคิดในทางยุทธศาสตร์แล้ว เราจะต้องปฎิเสธสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพ” (peace process) เสมอไป เพราะสำหรับผู้ที่อาจไม่คุ้นเคยกับการมองภาพแบบองค์รวมที่เป็นระดับมหภาคแล้ว มิติทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ อาจมีความหมายเพียง “การใช้กำลัง”
กล่าวคือ ความไม่คุ้นเคยดังกล่าวอาจทำให้มีการตีความในกรอบแคบด้วยความเชื่อแบบอัตวิสัยง่ายๆ ว่า ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ คือข้อเสนอในการใช้อำนาจกำลังรบในการแก้ปัญหา และเป็นข้อเสนอไม่เชื่อในเรื่องของการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ …
ชุดความเชื่อเช่นนี้ทำให้การนำเสนอบทความ 2 ตอนของผู้เขียนในการมองปัญหาการเจรจาปัญหาภาคใต้ของไทยนั้น ถูกตีความว่าเป็นมุมมองแบบ “ต่อต้านการเจรจา” และทำให้ ปกรณ์ พึ่งเนตร บก. ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และ บก. เนชั่น เลยต้องตกที่นั่งเป็น “จำเลยร่วม” ไปด้วย โดยเราสองคนถูกมองว่าพยายาม “ล้มโต๊ะ” เจรจา
ว่าที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในสาขายุทธศาสตร์ศึกษาแบบผม หรือ บก. ปกรณ์ ที่ทำข่าว “ไฟใต้” มาตั้งแต่ต้นนั้น อยากเห็นที่สุด คือ อยากเห็น “วันเสียงปืนดับ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะการสิ้นสุดของสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมไทยปรารถนา
และอยากเห็นที่สุดคือ ชีวิตของศาสนิกต่างความศรัทธาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และอดกลั้นต่อความเห็นต่าง อีกทั้งกองกำลังของทุกฝ่ายยุติการสร้าง “พื้นที่แห่งความกลัว” ด้วยการเคารพในชีวิตของประชาชนทุกความเชื่อ
แต่ด้วยความเป็นจริงของสถานการณ์ด้านความมั่นคงแล้ว การจะดับ “ไฟใต้” ได้ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน (หรือที่ผู้เขียนเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้เป็นชื่อหนังสือเรื่อง “วิกฤตใต้! สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา” ตุลาคม 2547) เพราะเราไม่อาจเพียงคิดด้วยความ “เพ้อฝัน” ว่า สงครามก่อความไม่สงบชุดใหม่ในภาคใต้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น จะยุติลงได้อย่างง่ายดาย
เพราะประสบการณ์ทั้งในเวทีโลก และในบริบทของไทยในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เป็นคำตอบที่ดีว่า การ “ดับไฟสงคราม” นั้น จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์รองรับ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ปัญหาเกิดเป็นจริงได้
ในอีกด้านหนึ่ง นักเรียนในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนเสมอว่า สุดท้ายแล้วสงครามจบลงบนโต๊ะเจรจาด้วยยุทธศาสตร์การเมือง และสงครามในสนามรบจบลงด้วยยุทธศาสตร์ทหาร แต่การจบของสงครามใน 2 สนามรบนี้ จะต้องดำเนินควบคู่กันเสมอ
ฉะนั้น สงครามในสนามรบทางการเมืองของการเจรจา “ยุติศึก” จึงเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญในทางยุทธศาสตร์อีกแบบหนึ่ง และแน่นอนว่าการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในจุดสุดท้ายจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ของโต๊ะเจรจา
นอกจากนี้ เราไม่อาจคิดด้วยการ “มองโลกสวยงาม” ว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐอ่อนแอ และอ่อนด้อยกว่า รัฐย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบในกระบวนการเจรจา เช่นที่มองแบบด้านเดียวว่า รัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบในสนามรบ เพราะมีกำลังรบที่เหนือกว่า ซึ่งชุดความคิดเช่นนี้อาจไม่เป็นจริงเลยก็ได้
ดังจะเห็นได้ว่าโมเมนตัมของการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงในรอบเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่โมเมนตัมของการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดด้วยการก่อเหตุในรูปแบบต่างๆ มาตลอดเวลา 2 ทศวรรษนั้น กลับมีทิศทางขยับตัวขึ้น อันเป็นผลจากเงื่อนไขทางการเมืองภายใน และจากการสนับสนุนของปัจจัยภายนอก
อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นข้อถกเถียงอย่างมากว่า ขบวนติดอาวุธที่ก่อเหตุร้ายซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าคือ “กลุ่ม BRN” นั้น มีความ “เหนือกว่าทางการเมือง” หรือไม่ แต่อย่างน้อย เราอาจสรุปได้ว่า พวกเขาดูจะมีโมเมนตัมทางการเมืองมากขึ้น
ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีองค์กรจากภายนอกเข้ามาช่วยเล่นบท “เคลียร์ใจ” กับรัฐไทย จึงทำให้เกิดเวทีการเจรจาทั้งที่มาเลเซีย และในยุโรปบางประเทศ เช่นที่สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นต้น
ประกอบกับภาวะของการเมืองไทยที่เปิดมากขึ้น ย่อมเป็นโอกาสให้ “ปีกการเมือง” ของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ ขยายบทบาททางการเมืองได้มากขึ้น ซึ่งว่าที่จริงก็เป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ใน “สนามรบทางการเมือง” ที่เห็นได้ในเวทีโลก เพราะขบวนติดอาวุธไม่เคยต่อสู้ในเวทีเดียว ซึ่งปัญหาเช่นนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความเท่าทันของรัฐที่จะต้องตระหนักในเรื่องของ “สงคราม 2 แนวรบ”
ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ รัฐไทยจะต้องตระหนักให้มากว่า การเจรจาคือ ยุทธศาสตร์แบบหนึ่งในการเอาชนะสงคราม เช่นที่หัวข้อและ/หรือสาระการเจรจาคือประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การละเลยมิติทางยุทธศาสตร์ของการเจรจาด้วยทัศนะที่เห็นสนามรบทางการเมืองเป็นเพียง “หัวข้อทางยุทธวิธี” อาจจะไม่ช่วยนำไปสู่การ “ยุติศึก” สำหรับรัฐไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสภาวะที่โมเมนตัมทางการเมืองของกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัย
เพียงแต่สถานการณ์ขณะนี้มีข้อดีคือ “กระแสก่อการร้าย” ในโลกปัจจุบัน ไม่ขึ้นสู่กระแสสูงเช่นในแบบ “ยุค 9/11” หรือ “ยุคกลุ่มรัฐอิสลาม” ที่กลายเป็นแรงขับเคลื่อนของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ แต่เงื่อนไขเช่นนี้ ก็ไม่ได้อนุญาตให้รัฐใช้มาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างผลลบในทางยุทธศาสตร์
ฉะนั้น มิติคิดทางยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่ปฏิเสธการเจรจา แต่ต้องการกระบวน “การเจรจาที่มียุทธศาสตร์” แต่ยุทธศาสตร์นี้จะเกิดได้ในอีกส่วนต่อเมื่อผู้นำรัฐบาลตระหนักและสนใจปัญหาความมั่นคงที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่
ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” … การพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด จะยังเกิดไม่ได้ตราบเท่าที่สงครามยังไม่สงบ
เว้นแต่เราจะขาย “ทัวร์สงคราม” แต่ใครเล่าอยากมาเป็นลูกทัวร์ในงานนี้ !