รัฐบาลเดินหน้าสางปม “หนี้ กยศ.” ภายหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค.66 แต่ผู้กู้ และลูกหนี้ กยศ. ยังใช้หนี้ และถูกบังคับคดีตามกฎหมายเก่า รวมไปถึง “ผู้ค้ำประกัน” ด้วย
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ก.ย.66 กระทรวงยุติธรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อแก้ปัญหาการบังคับหนี้ และบังคับคดี ซึ่งยังเป็นไปตามกฎหมายเก่า ทั้งๆ ที่ไม่มีบทเฉพาะกาลให้บังคับใช้กฎหมายเดิมในช่วงที่ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายใหม่
ส่งผลให้ผู้กู้ ลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน โดนละเมิด โดนเรียกเก็บหนี้ ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และบังคับคดี ทั้งตัวลูกหนี้รวมไปถึงผู้ค้ำประกัน เกินกว่าที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนด
เรื่องนี้มีการจัดทำเอกสารรายละเอียดกฎหมาย สภาพปัญหา และแนวทางปฏิบัติ พร้อมขีดเส้นให้ กยศ.และกรมบังคับคดี เดินตามกรอบแนวทางนี้อย่างชัดเจน เร่งด่วน เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้กู้ กยศ.ทุกราย
@@ แฉ กม.ใหม่ใช้นานแล้ว แต่ลูกหนี้ยังอ่วมตาม กม.เดิม
พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566
- มีผลใช้บังคับวันที่ 20 มีนาคม 2566 โดยไม่มีบทเฉพาะกาลในการบังคับใช้ พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 1) ดังนั้นเมื่อไม่มีบทเฉพาะกาล พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 1) จึงเป็นอันสิ้นผล
- ปัญหา
1.ปัจจุบันผู้กู้ยืมเงินยังคงถูกหักเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ในอัตราเดิม (ดอกเบี้ย 7.5% เบี้ยปรับ 18%) ทั้งๆ ที่บทกฎหมายดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแล้ว ทำให้ผู้กู้ยืมได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยเป็นกรณีที่ถูกหักเงินเกินกว่าที่ต้องชำระตามกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่
2. หนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดี ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันยังคงถูกยึด อายัด ขายทอดตลาด ตามกฎหมายเดิม ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่มีผลใช้บังคับแล้ว
@@ ผู้ค้ำประกันต้องหลุดหนี้ทันที - งดบังคับคดีผู้กู้ทุกคดี
// ข้อเท็จจริงที่หนึ่ง //
มาตรา 29 บัญญัติว่า “เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา 44 วรรคสี่ ภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับผู้กู้ยืมเงิน ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น”
มาตรา 44 วรรค 4 บัญญัติว่า “เพื่อบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ กองทุนอาจผ่อนผัน ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือ ลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
// ข้อเสนอ //
จากบทบัญญัติที่มีการแก้ไขใหม่ดังกล่าวข้างต้น เมื่อกองทุนมีการดำเนินการตามมาตรา 44 แล้ว จะเป็นผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง รวมทั้งหนี้ในชั้นบังคับคดีด้วย ดังนั้นในระหว่างรอคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง จึงเห็นควรให้ กยศ.ในฐานะโจทก์ งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวก่อนทุกคดี
// คดีที่อยู่ในชั้นบังคับคดี //
- กรณีมีหมายบังคับคดี แต่ยังไม่มีการยึดหรืออายัด และระยะเวลาบังคับคดีเหลือมากกว่า 6 เดือน ให้รอการบังคับคดีไว้ก่อน
- หากคดีอยู่ระหว่างรอการทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่าย ให้โจทก์แถลงขอให้รอการทำบัญชี
- ตามกฎหมาย การของดการบังคับคดีของ กยศ. โจทก์ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ จำเลย ดังนี้ หากเป็นกรณีที่ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ ให้โจทก์ขอศาลงดการบังคับคดี
กยศ.มีประเด็นว่าคดีที่อยู่ในชั้นศาล และชั้นบังคับคดี อาจมีปัญหาเรื่องอายุความ หรือระยะเวลาบังคับคดี ทำให้ กยศ.ต้องเร่งดำเนินการ จึงเสนอให้ทำการแปลงหนี้ใหม่เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยคณะกรรมการต้องเร่งออกหลักเกณฑ์ ทั้งการผ่อนผันการชำระ การปรับโครงสร้างหนี้ และการแปลงหนี้ใหม่
@@ ผ่อนยาว 15 ปี - ตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย - เลือกวิธีได้
// ข้อเท็จจริงที่สอง //
มาตรา 44 วรรค 2 บัญญัติว่า คณะกรรมการจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใด ภายหลังที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันที่ทำสัญญา ต้องไม่เกินอัตราร้อยละหนึ่งต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น หรือจะยกเว้นหรือลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระเงินคืนกองทุนครบถ้วน หรือมีประวัติชำระเงินคืนกองทุนดีต่อเนื่อง หรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 44 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสี่ ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าต่อปี เว้นแต่คณะกรรมการจะยกเว้นหรือลดหย่อนให้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 44/1 บัญญัติว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 19 (8) ต้องเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุน ต้องคำนึงถึงรายได้และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืมเงินประกอบด้วย แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องชำระ เว้นแต่กรณี ที่มีเหตุจำเป็นและสมควรจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้
(2) การผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นงวด ผู้กู้ยืมเงินต้องสามารถชำระเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้
(3) ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินมีหนี้ค้างชำระทั้งต้นเงิน ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่ม เงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระให้นำไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่ม ตามลำดับ
(4) การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคำนวณเงินที่จะต้องใช้ในห้าปีถัดไปแล้ว ยังมีเงินเหลือจากการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี
(5) การกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระเงินคืนกองทุน หรือชำระเงินคืนกองทุนครบถ้วนก่อนกำหนดเวลา ซึ่งอาจเป็นการลดหย่อนต้นเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดก็ได้
// ข้อเสนอ //
เนื่องจากปัจจุบันผู้กู้ยืมเงินยังคงถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในจำนวนที่สูง เป็นเหตุให้ผู้กู้ยืมได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่ จึงเห็นควรประสาน กยศ. เพื่อดำเนินการคำนวณยอดหนี้ย้อนหลังให้เป็นไปตามตามกฎหมายใหม่โดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ การปรับลดยอดผ่อนชำระ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ตามมาตรา 44/1 ด้วย
@@ ประเดิม 4.7 หมื่นคดีแรกได้อานิสงส์ - ปรับโครงสร้างหนี้ตาม กม.ใหม่
// หมายเหตุ //
**ความชัดเจน (ยืนยันจากผู้จัดการ กยศ. จากการหารือวันที่ 18 ก.ย.66)
ลูกหนี้ กยศ.ที่ชำระไปแล้วในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ต้องนำดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว มารวมคำนวณ เพื่อปรับลดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่รวมไม่เกิน 1.5% โดยลำดับหักการชำระหนี้ เงินต้น>ดอกเบี้ย >เบี้ยปรับ รวมทั้งที่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี บังคับคดีประมาณ 4.7 หมื่นคดีด้วย
(ในชั้นบังคับคดีแม้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่มีกฏหมายออกมาใหม่ที่ถือว่าใหญ่กว่าคำพิพากษา ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีข้อเสนอที่ให้กรมบังคับคดีรวบคดีที่ใกล้หมดอายุความยื่นคำร้องให้ศาลสั่งเพื่อเป็นไปตามกฏหมาย)
ลูกหนี้ กยศ.จะได้ประโยชน์ บางรายอาจหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ ดังนั้นการไกล่เกลี่ยปัจจุบันควรต้องชะลอหนี้ กยศ. และต้องใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับใหม่ ในการไกล่เกลี่ยเพื่อความเป็นธรรมตามที่กฏหมายกำหนด
@@ ดีเดย์ปรับโครงสร้างหนี้ 1 พ.ย. ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1
สำหรับวงประชุมระหว่างกระทรวงยุติธรรม กับผู้จัดการ กยศ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ก.ย.66 โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เชิญนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ผู้จัดการ กยศ.) เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับ ความคืบหน้าการดำเนินงานการไกล่เกลี่ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.66 ที่ผ่านมา
โดยนายชัยณรงค์ ได้รายงานว่า ปัจจุบัน กยศ. อยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ และการระงับการชำระเงินคืนเพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ โดยคาดว่าจะออกระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในเดือน ต.ค.66 และจะเริ่มให้ลูกหนี้ กยศ. เข้ามาทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่งในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ซึ่งตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จะทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดี เพื่องดการบังคับคดีออกไปก่อนในระหว่างที่รอออกระเบียบฉบับใหม่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และวิธีการชำระหนี้ ซึ่งจะมีลูกหนี้ทั่วไป และลูกหนี้ที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งที่เป็นลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้กับลูกหนี้ กยศ. ได้รับประโยชน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เน้นย้ำว่ากระทรวงยุติธรรมและกองทุน กยศ. จะร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.66 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ลูกหนี้ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเงินที่ลูกหนี้ชำระเข้ามาจะถูกนำไปชำระเงินต้นก่อน แล้วตามด้วยดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน กยศ. ที่มิได้ต้องการแสวงหากำไร แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น