การแข่งขันกันดุเดือดในสนามเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไปจนน่าตกใจ ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต้องปรับตัว และเร่งขับเคลื่อนงานกันอย่างคึกคัก แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน
ไม่มีช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองและดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ทั้งคณะรัฐมนตรี และ สส.
ปลายเดือน ส.ค. รัฐบาลเพื่อไทยยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แต่ปรากฏ สส.ภูมิใจไทย ตบเท้าไปที่อาคารรัฐสภา เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กิจการฮัจญ์ เพื่อปลดล็อกปัญหาการเดินทางไปแสวงบุญที่ยืดเยื้อมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ และ แซะห์ ที่ปล่อยลอยแพพี่น้องมุสลิม
แม้แต่ปีล่าสุด 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดแสวงบุญตามปกติที่ซาอุดิอาระเบียหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้น ยังปรากฏผู้แสวงบุญฮัจญ์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบริษัทประกอบกิจการฮัจญ์ลอยแพ ทั้งที่จ่ายเงินครบทุกบาท แต่กลับไม่ได้รับการดูแลตามที่ตกลงกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก การเดินทาง และอาหารการกิน สร้างความเดือดร้อนให้ผู้แสวงบุญ
หนำซ้ำหลังเกิดปัญหาขึ้น การเข้าไปดูแลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ล่าช้า รวมไปถึงทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถลงโทษเอาผิดกับบริษัทประกอบกิจการฮัจญ์ต้นเหตุได้ ทั้งที่มีหลักฐาน แต่กลับปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ปิดตัว อ้างล้มละลาย แล้ววนเวียนกลับมาเปิดกิจการในชื่อใหม่ ก่อปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากในทุกปี
@@ สส.หนึ่งเดียว ภท.ที่ปลายขวาน ชงกฎหมายใหม่
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกิจการฮัจญ์ พ.ศ.... ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ เนื่องจากพระราชบัญญัติกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524 ที่ได้บัญญัติเรื่องการอำนายความสะดวกดูแลการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และการควบคุม การจัดบริการเกี่ยวกับกิจการฮัจญ์ยังไม่รัดกุมเพียงพอ
กฎหมายใหม่เห็นควรจัดตั้ง “สำนักงานกิจการฮัจญ์” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยมี “กองทุนส่งเสริมกิจการฮัจญ์” เป็นกองทุนหมุนเวียน โดยให้ผู้ประกอบการจัดบริการฮัจญ์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสนับสนุนให้สมาชิกออมทรัพย์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และโอนการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ โดยเปลี่ยนจากการให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐมารวมให้แก่กองทุนนี้เพียงแห่งเดียว
รวมทั้งกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของสำนักงานกิจการฮัจญ์ เพื่อการประสานงานกับรัฐบาลราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้เกิดเอกภาพในการสนับสนุนและส่งเสริมกิจการฮัจญ์อย่างเป็นรูปธรรม
@@ 10 ประเด็นสาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ.ฮัจญ์” ฉบับใหม่
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกิจการฮัจญ์ พ.ศ.... ที่เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย โดยผ่านความเห็นของของที่ประชุมพรรคมีดังนี้
1.กําหนดให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นําชาวไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ และมีอํานาจหน้าที่ในการให้คําแนะนําแก่คณะกรรมการเกี่ยวกับการไปประกอบพิธีฮัจญ์ สอดส่องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 6 และร่าง มาตรา 7)
2.กําหนดให้ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจญ์ ต้องเป็นนิติบุคคลและได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ การอนุญาต การวางหลักประกัน และการหักหลักประกันชดใช้ผู้เสียหาย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจญ์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกอบการหรือการคุ้มครองผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 8)
3.กําหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจญ์ในระหว่างเวลาทําการ เพื่อตรวจสอบการดําเนินการและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจําตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 11)
4.กําหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกิจการฮัจญ์” โดยมีอํานาจหน้าที่ เช่น
- กําหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมกิจการฮัจญ์
- เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
- พิจารณาอนุมัติแผนการดําเนินงานและแผนการเงินของสํานักงาน รวมทั้งควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งการดําเนินงานของสํานักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
- ออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือคําสั่ง เกี่ยวกับการคัดเลือกการบรรจุการแต่งตั้งการถอดถอนวินัยและการลงโทษทางวินัย
- การออกจากตําแหน่ง การร้องทุกข์การอุทธรณ์การลงโทษพนักงานและลูกจ้างตลอดจนการกําหนดเงินเดือน ค่าจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของพนักงานและลูกจ้าง
- พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของสํานักงานแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ รองเลขาธิการ และกรรมการบริหารกองทุน เป็นต้น (ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 18)
5.ในแต่ละปี ให้คณะกรรมการดําเนินการแต่งตั้งคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการขึ้นคณะหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนับแต่วันเริ่มต้นเดือนมูฮัรรอม และให้คณะผู้แทนฮัจญ์ทางการมีอํานาจและหน้าที่ต่างๆ เช่น ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอํานวยความสะดวกให้ผู้เดินทางไปทําฮัจญ์ดําเนินการใดๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย จัดทํารายงานผลการดําเนินการเมื่อสิ้นสุดการทําฮัจญ์ที่ตนรับผิดชอบเสนอคณะกรรมการ เป็นต้น (ร่างมาตรา 21 และร่างมาตรา 25)
6.กําหนดให้จัดตั้งสํานักงานกิจการฮัจญ์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอํานาจหน้าที่กระทําการต่างๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่เช่นว่านี้ ให้รวมถึงการจัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ การก่อตั้งสิทธิหรือการทํานิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร การลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสํานักงาน โดยต้องไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม และการกระทําการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สําเร็จตามวัตถุประสงค์ของสํานักงาน (ร่างมาตรา 26)
7.กําหนดให้สํานักงานมีเลขาธิการ 1 คน และรองเลขาธิการอีกไม่เกิน 2 คน และให้เลขาธิการมีหน้าที่บริหารกิจการของสํานักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่ของสํานักงานระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกําหนด นโยบาย ประกาศ และมติของคณะกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสํานักงาน และให้มีอํานาจหน้าที่ เช่น บรรจุแต่งตั้ง ถอดถอน ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างของสํานักงาน ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตําแหน่ง (ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 33)
8.กําหนดให้มี “กองทุนส่งเสริมกิจการฮัจญ์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสําหรับใช้จ่ายในการดําเนินงานของสํานักงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดบริการเกี่ยวกับการให้ความปลอดภัยการรักษาพยาบาล และประสานงานอื่นๆ แก่ชาวไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยงานอื่นที่ให้การช่วยเหลืองานของกิจการฮัจญ์ แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้เดินทางต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการจัดบริการฮัจญ์ และรายได้ของกองทุนและของสํานักงานให้นําส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในกิจการตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องนําส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
และให้สํานักงานจัดทํางบการเงินส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชีและทํารายงานแสดงผลการดําเนินงานต่อนายกรัฐมนตรีพร้อมทั้งให้ส่งงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วให้กระทรวงการคลังทราบด้วย (ร่างมาตรา 36 ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 40)
9.กําหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยมีอํานาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการกองทุน และอํานาจหน้าที่อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด (ร่างมาตรา 44 และร่างมาตรา 45)
10.กําหนดให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ผู้ที่ไม่อํานวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคสอง ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 20 และกําหนดให้คณะกรรมการ คณะผู้แทนฮัจญ์ทางการ หรือพนักงานผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องได้รับโทษซึ่งมีทั้งโทษจําคุกโทษปรับ หรือทั้งจําทั้งปรับ (ร่างมาตรา 48 ร่างมาตรา 51 ร่างมาตรา 52และร่างมาตรา 53)
@@ พูดแล้วทำ...ตามสัญญา
นายนัจมุดดีน อูมา อดีต สส.นราธิวาส และผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แม่ทัพชายแดนใต้ของพรรค ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กฎหมายฮัจญ์มีมาแล้ว 3 ฉบับ เริ่มจากปี 2524 ให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ต่อมาปี 2532 เปลี่ยนไปอยู่กับกรมการศาสนา และฉบับล่าสุดปี 2559 ไปอยู่กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่ที่ผ่านมาแก้ปัญหาให้ผู้แสวงบุญไม่ได้
ที่ผ่านมาตนได้ศึกษาเรื่องนี้ในนามของคณะกรรมาธิการ โดยยึดต้นแบบจากกิจการฮัจญ์ของมาเลเซีย ซึ่งดีสุดในโลก ผลการศึกษาถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา เป็นข้อเสนอที่ดีมาก แต่สุดท้ายไม่ได้ทำต่อ ส่งผลให้งานกิจการฮัจญ์เป็นเพียงงานฝากของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กองกิจการฮัจญ์มีเจ้าหน้าที่แค่ 2-3 คน ทำงานก่อนไปฮัจญ์ ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะพี่น้องมุสลิมจากประเทศไทยไปฮัจญ์ปีละเป็นหมื่นคน สูงสุดถึง 2-3 หมื่นคน
“หัวใจของปัญหาอยู่ตรงนี้ เราจึงนำผลการศึกษาที่ทำเสร็จนานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ มายกร่างเป็นกฎหมายใหม่ และเสนอสภา ให้มีสำนักงานกิจการฮัจญ์ เป็นหน่วยงานรัฐแต่ไม่ใช่หน่วยราชการ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง มีเลขาธิการทำงานเต็มเวลา มีนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลโดยตรง และมีคณะผู้แทนฮัจญ์คอยรับหน้าที่ดูแลผู้แสวงบุญในแต่ละปี ตั้งแต่ก่อนไปฮัจญ์ จนถึงช่วงการเดินทาง ความเป็นอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย ที่พัก และการเดินทางกลับ เรียกว่าครบวงจร”
นายนัจมุดดีน บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ของประเทศไทยสูงมาก สูงถึง 270,000 บาทต่อคน ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ราวๆ 150,000 บาทเท่านั้น สะท้อนว่า มาเลเซียมีระบบบริหารจัดการที่ดีกว่ามาก นอกจากนั้นในกฎหมายใหม่ยังจะมี “กองทุนส่งเสริมกิจการฮัจญ์” สามารถดึงเงินมาใช้ช่วยเหลือผู้แสวงบุญที่ประสบปัญหา หรือถูกลอยแพได้อย่างทันท่วงที
อดีต สส.นราธิวาส ซึ่งเป็นขุนพลชายแดนใต้ของภูมิใจไทย บอกด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเสนอนโยบายเกี่ยวกับชายแดนใต้ 11 ข้อ และมี 3 เรื่องที่จะทำทันที นั่นก็คือการเสนอกฎหมายกิจการฮัจญ์ฉบับใหม่ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสองเรื่องนี่ได้ดำเนินการแล้ว เหลืออีก 1 เรื่อง คือเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนซากาต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอที่ประชุมพรรคภูมิใจไทย คาดว่าอีกไม่นานจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้
“นี่คือบทพิสูจน์คำสัญญา...พูดแล้วทำ” นายนัจมุดดีน กล่าวในที่สุด