ลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยได้รับการกล่าวขานว่าหลายๆ เรื่องไม่เหมือนที่ใดๆ ในโลก
หนึ่งในนั้นคือ กลไกการได้เป็นรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มี ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีส่วนคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
กลไกที่ว่านี้ทำให้ “ผู้ชนะในการเลือกตั้ง” อาจไม่ใช่ “ผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล” เสมอไป
บริบทการเมืองไทยจากการเลือกตั้ง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง บางทีก็ลักลั่น แปลกประหลาด และคาดเดายาก
แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้การเมืองคาดเดายาก ไม่ได้มีแค่กลไกตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ แทรกซ้อนอีกหลายประการ
นักวิเคราะห์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนไทย วิเคราะห์ “ปัจจัยจากภายนอกประเทศ” ที่จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งในไทย และการจัดระเบียบการเมืองใหม่ของไทยในปี 2566 หรือ ค.ศ.2023 อย่างน่าสนใจ
นักวิเคราะห์ที่แสดงทัศนะเรื่องนี้จ คือ อ.กฤษฎา บุญเรือง อาจารย์พิเศษที่สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของสหรัฐ ปัจจุบันพำนักอยู่ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
ประเด็นชวนคิดของ อ.กฤษฎา ก็คือ เลือกตั้ง’66 ปัจจัยภายนอกประเทศอาจจะมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ และตัวละครไม่จำกัดแค่ชาวไทยล้วนๆ
โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การเดินหมากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสองค่ายคือ ตะวันตก และ จีน
1. ปัจจัยทางไซเบอร์ แทรกแซงโดยดิจิทัลมีเดีย ปัญญาประดิษฐ์ AI & deepfake จะทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มแยกไม่ออกระหว่างข้อมูลที่พอเชื่อถือได้ กับข้อมูลปลอม
ตัวละครทั้งสองค่ายจากนอกประเทศได้ทดลองหลายครั้งแล้วในไทย มีการเตรียมตัวจะใช้เป็นระยะช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง และช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว
2. นโยบายการปิดล้อมจีนของฝ่ายตะวันตก ซึ่งเกณฑ์เอาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น
ปัจจุบัน 2 ประเทศนี้ตัดสินใจเพิ่มขีดความสามารถพัฒนาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันตนเอง และส่งออกเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประชาชนทั้งสองประเทศสนับสนุน
สถานการณ์นี้จะสร้างความกดดันให้จีนและเกาหลีเหนือ ทำให้ “ไต้หวัน” อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และตึงเครียดมากขึ้น
3. ปัจจัยด้านการเงินการธนาคาร โดยชาติตะวันตกกำลังใช้องค์กรระหว่างประเทศและพลังทางทหารซ่อมแซมระเบียบโลกปัจจุบัน ไม่ให้อเมริกันดอลลาร์ถูกท้าทายมากไปกว่านี้
ส่วนจีนจะใช้เงินตราดิจิทัล และทุ่มเทขนาดยอมขาดทุนในการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางด้านฟินเทค (เทคโนโลยีด้านการเงิน) ไปเติมช่องว่างในประเทศต่างๆ ที่อยากลดความพึ่งพายูเอสดอลลาร์
4. ปัจจัยด้านโรคระบาดอีกรอบ หรือภัยทางชีววิทยาบางอย่าง เป็นตัวแปรที่ยังประมาทไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทำให้โลกเปลี่ยนไปมาก และความหวาดกลัวของประชาคมโลกยังคุกรุ่นอยู่ ทั้งยังพยายามหาผู้รับผิดชอบ
ปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง เมื่อเกิดขึ้นจะกระทบกระเทือนกับความนิยม การตีความของนโยบาย และความเชื่อมั่นต่อคนบางกลุ่มในเมืองไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งอีกที
หรืออาจจะมีการขัดขวางการเลือกตั้ง พยายามทำให้เป็นโมฆะ มีการยึดอำนาจ หรือจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน!