พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความในลักษณะบันทึกเหตุการณ์เด่น เรื่องดังบนโลกโซเชียลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2565 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป
12 เหตุการณ์ที่คัดสรรมา มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ด้านบวกและด้านลบของการใช้สื่อโซเชียลฯ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่า จนหลายๆ ครั้งผู้รับสารตั้งตัวไม่ทัน และกลายเป็น “พอลลูชัน” แห่งข้อมูล
นี่คืออีกหนึ่งโจทย์สังคมที่กระทบถึงทุกตัวคน ซึ่งคนไทยและสังคมไทยสมควรเรียนรู้ สรุปบทเรียน และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
@@ ส่องโลกโซเชียลฯ 2565
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ผู้ประดิษฐ์ WorldWideWeb (www) เคยคาดหวังเอาไว้ว่า อินเทอร์เน็ตควรจะเป็นพื้นที่ของข้อมูลอันเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้ระดับเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงบริการที่มีประโยชน์ รวมทั้งคาดหวังว่าอินเทอร์เน็ตควรจะเป็นพื้นที่แห่งความเป็นอิสระ เปิดกว้างและสร้างสรรค์
แต่สิ่งที่ลีคาดหวังไว้เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะโลกเสรีของอินเทอร์เน็ตในอีกด้านหนึ่งที่ใครต่อใครสามารถส่งเสียงหรือแสดงออกได้แทบไร้ขีดจำกัดโดยไม่ต้องมีคนตรวจสอบ(Gatekeeper) กลับอยู่ในสภาวะตรงกันข้ามและเกินเลยจากสิ่งที่ลีอยากเห็นไปมาก เพราะเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งเต็มไปด้วย ความเท็จ ความเกลียดชัง การใส่ร้ายป้ายสี การปลุกระดม ความไร้สาระ ความรุนแรงหรือแม้แต่การฉ้อฉลและการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบตั้งแต่ ขายอาวุธ ขายยาเสพติด ขายกาม จนถึงขายแบงก์ปลอม ก็สามารถพบเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างดาษดื่น
สิ่งเหล่านี้คือ “พอลลูชัน” ทางข้อมูลที่มากับโซเชียลมีเดียและกำลังคุกคามมนุษย์อยู่ทุกนาที โดยที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่เคยรับผิดชอบ แต่ภาระเหล่านี้กลับต้องอยู่ในมือของผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศ หรือองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบความผิดปกติบนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ชาวเน็ตที่ต้องช่วยตรวจสอบเพื่อแสวงหาความจริง และหาวิธีรับมือกับพอลลูชันเหล่านี้กันเอง
ความอันตรายของโซเชียลมีเดียคือความเห็นผิดเป็นชอบจากการบิดเบือนบนโลกออนไลน์ด้วยอิทธิพลของ ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน ความเกลียดชัง และโฆษณาชวนเชื่อ ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างไม่มีวันจบสิ้น จนทำให้ความถูกต้องและความจริงหมดความหมายไป
นักวิชาการมักเรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า “กฎใหม่ด้านข้อมูลของเกรเชม” (New Gresham’s law of information) โดยเปรียบเทียบกับกฎทางเศรษฐศาสตร์ของเกรเชมที่กล่าวไว้ว่า “เงินเลวไล่เงินดีออกไปจากระบบ” (Bad money drives good money out of circulation) ซึ่งในกรณีของโซเชียลมีเดีย หากผู้รับข้อมูลข่าวสารไม่รู้เท่าทันหรือขาดการไตร่ตรอง ก็จะจมปลักอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปนานเท่านาน
ในรอบปี 2565 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในเมืองไทยทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกของโซเชียลมีเดีย หลายเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ที่ถ่ายทอดลงไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นๆ ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมและความดีงามที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกแห่งความจริง
1.ทิดสึกใหม่ ท้าชก บนโซเชียลมีเดีย
เปิดศักราช 2565 ด้วยข่าวคนดังบนโลกโซเชียลฯ อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังโพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจตัวเอง ท้าชกกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา ในวันวาเลนไทน์ พร้อมโอนเงินเข้า บ/ช 200,000 บาททันทีหากผู้ถูกท้ารับคำท้า การท้าทายเกิดขึ้นหลังจากเคยมีการปะทะคารมกันมาแล้วก่อนหน้า และเกิดขึ้นเมื่อผู้ท้าทายเพิ่งสึกจากความเป็นพระ ซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราวบนสื่ออยู่หลายวัน
แม้ว่าจะเป็นวิถีลูกผู้ชาย แต่แสดงให้เห็นเช่นกันว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่การใช้โซเชียลมีเดียในทางสร้างสรรค์ แต่เป็นการใช้โซเชียลมีเดียในเชิงใฝ่หาความรุนแรงที่สังคมโลกไม่ปรารถนาขณะถ่ายทอดสดบรรยายสาธยายธรรมสวดมนต์ข้ามปี อันเป็นพฤติกรรมที่เด็กและเยาวชนไม่ควรถือเป็นแบบอย่าง แม้จะอ้างว่าชกกันเพื่อความรักก็ตามที
การท้าชกกันบนโลกออนไลน์ แถมยังมี ส.ส. คนหนึ่งออกมาถือหางเชียร์ผู้ท้าชก ไม่ว่าจะกระทำด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม นอกจากไม่ได้มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงจากอดีตพระผู้มีชื่อเสียงที่เคยมีคนนับถือกราบไหว้ และผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้แทนราษฎรแล้ว การท้าทายกันถึงขั้นชกต่อยผ่านโซเชียลมีเดียราวกับนักเลงโต ยังถือว่าเป็นการคุกคามกันบนโลกออนไลน์อีกด้วย
ในโลกอินเทอร์เน็ต แม้ว่าจะมีความเป็นอิสระในการแสดงออกและการแสดงความเห็นต่างๆ อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องกาลเทศะบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่มีตำราใดสอน แต่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและตัวตนของบุคคลนั้นเอง
อ้างอิง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000000161
2.“ตั๋วทอน” กับวัคซีนโควิด
การได้รับวัคซีนโควิด-19 ของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มก้าวหน้า กลายเป็นข่าวดังต้นปี 2565 ที่มีการนำเสนอกันตามสื่อต่างๆ อยู่ทั่วไป จนกลายมาเป็นเรื่องที่เพจล้อการเมืองนิยามศัพท์ว่า “ตั๋วทอน” จากการที่มีผู้กล่าวหาว่าคุณธนาธร ไปแย่งวัคซีนคนแก่บ้าง เคยด้อยค่าวัคซีนที่ตัวเองฉีดบ้าง หรือใช้ตั๋ว VVIP บ้าง จนกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลฯ และสื่อหลักอยู่หลายวัน
แม้เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธและชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าวว่าไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์แย่งวัคซีนคนแก่ เพราะบ้านอยู่ระหว่างรอยต่อระหว่างจังหวัด และวัคซีนที่ฉีดเป็นวัคซีนที่เหลือ แต่เป็นการถูกใส่ร้ายเพื่อให้ชื่อเสียงเสียหายและถูกเกลียดชังโดยคนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนเครือข่ายเผด็จการอนุรักษ์นิยม
ความเป็นคนดังของคุณธนาธร ทำให้เกิดกระแสโซเชียลมีเดียแพร่กระจายข่าวออกไปตลอดเวลาหลังจากมีข่าวว่าคุณธนาธรได้รับวัคซีน พร้อมการขุดคุ้ยเพื่อจับผิดของนักสืบโซเชียลฯ ทำให้ชาวเน็ตและสื่อบางสำนักยังแคลงใจแม้ว่าคุณธนาธรได้ชี้แจงแล้วก็ตาม
การที่คุณธนาธรเคยใช้โซเชียลมีเดียในการวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเผ็ดร้อน แม้ว่าภายหลังจะมีการแก้ข่าวไปในทางที่เป็นคุณแก่ตัวเอง แต่สิ่งที่เผยแพร่ออกไปก่อนหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยลักษณะท่าทางที่ดุเดือด และเนื้อหาที่กล่าวถึงการได้มาซึ่งวัคซีนยี่ห้อที่ฉีดในเชิงตำหนิ อาจทำให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจไปในอีกทางหนึ่งซึ่งต่างจากเจตนาของคุณธนาธร คำแก้ตัวภายหลังจึงยากต่อการหักล้างการแสดงความเห็นของตนเองก่อนหน้าซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปได้
โซเชียลมีเดียจึงเป็นแพลตฟอร์มที่มอบรางวัลหรือความเป็นพระเอกให้กับใครคนใดคนหนึ่งได้ในวันหนึ่ง แต่อีกวันหนึ่งโซเชียลมีเดียนั้นก็อาจกลับมาแว้งกัดคนคนเดียวกันจนจมเขี้ยวได้เช่นกัน
อ้างอิง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000002592
https://www.thaipost.net/x-cite-news/61343/
https://www.thaipost.net/hi-light/60788/
https://mgronline.com/politics/detail/9650000003225
3. ชนคนตาย แต่หล่อ?
นับเป็นเหตุการณ์เศร้าที่สุดรับปีเสือ 2565 เมื่อตำรวจหนุ่มขับขี่จักรยานยนต์ชนคุณหมอสาวขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นข่าวเศร้าที่ผู้คนให้ความสนใจ และเป็นข่าวที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง
ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดีย มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย ซึ่งการแสดงความเสียใจถือเป็นเรื่องปกติ แต่กลับมีคนอีกจำพวกหนึ่งกลับไปแสดงความเห็นในเชิงชื่นชมความหล่อของผู้กระทำผิด โดยไม่ได้ให้เกียรติต่อผู้สูญเสียชีวิตหรือตำหนิผู้กระทำผิด ซ้ำร้ายกลับตำหนิผู้เสียชีวิตที่เดินไม่ดูทาง แถมบางรายยังหวังว่าผู้กระทำผิดไม่ควรติดคุกเสียอีก ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรแสดงออกอย่างยิ่งบนหน้าข่าวแห่งความสูญเสีย
การกระทำเช่นนี้สะท้อนถึงการแสดงออกที่ไม่ปกติต่อผู้สูญเสีย แต่กลับไปนิยมชมชอบรูปลักษณ์ของผู้ที่กระทำผิด คล้ายกับการชื่นชมความงามของสาวคดีหั่นศพเมื่อหลายปีก่อน
พฤติกรรมข้างต้นนอกจากสะท้อนถึงความไร้จิตสำนึกและความไร้วินัยในการขับขี่ยวดยานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้รักษาและบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังสะท้อนถึงความไร้มารยาท ความไม่รู้จักกาลเทศะ ขาดการบ่มเพาะทางจริยธรรม เห็นความหล่อของผู้ชายมากกว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมทั้งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยบางคนได้ในระดับหนึ่ง
อ้างอิง https://www.naewna.com/likesara/630567
4.คดีแตงโมกับนักสืบโซเชียลฯ
ตลอดปี 2565 คงไม่มีข่าวใดครองพื้นที่ทั้งบนสื่อหลักและโซเชียลมีเดียได้อย่างกว้างขวางและยาวนานเท่าคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโม นักแสดงสาว เมื่อต้นปี จนกลบข่าวสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนไปจนหมดสิ้น
การเสียชีวิตของคุณแตงโม ดูเหมือนว่าประชาชนผู้รับข่าวสารส่วนหนึ่งจะไม่เชื่อว่าเป็นการตายจากอุบัติเหตุ และเชื่อว่าต้องมีเงื่อนงำลึกลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง
ปฏิบัติการของนักสืบโซเชียลฯ จึงเริ่มขึ้นจนหลายต่อหลายครั้งเป็นการหาเบาะแสที่ไปคนละทิศละทางและล้ำหน้ากว่าตำรวจ และหยิบประเด็นข้อสงสัยต่างๆ มานำเสนอจนคนจำนวนไม่น้อยเห็นคล้อยตามกระแสโซเชียลฯ และทำให้ตำรวจต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมไปในทันทีด้วยการชี้นิ้วของโลกออนไลน์
การทำหน้าที่อย่างแข็งขันของนักสืบโซเชียลฯ เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีในหลายแง่มุมตามคำแถลงของตำรวจ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความสับสนต่อผู้รับข่าวสารอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่ทำหน้าที่ช่วยสืบสวนคดีคุณแตงโม แม้แต่นักสืบโซเชียลฯจากเวียดนามยังเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนหาความจริงในคดีนี้ด้วย พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้พรมแดนของโลกดิจิทัลและความสนใจในข่าวของคุณแตงโมที่ดังไปไกลถึงต่างแดน
การสูญเสียของคุณแตงโม นอกจากจะมีผู้คนแสดงความสงสารและเห็นใจต่อคุณแตงโมอย่างคาดไม่ถึงแล้ว เรายังได้เห็นถึงพฤติกรรมหิวแสงของบุคคล กลุ่มคน รวมทั้งนักการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคม ต่างเรียงหน้าออกมาให้ข้อมูลในเชิงลึกในการสูญเสียของคุณแตงโม ราวกับเป็นเป็นพนักงานสอบสวนหรือเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงเสียเอง บางคนถึงกับฟันธงไปเลยว่าเป็นการฆาตกรรม
การที่มีบุคคลต่างๆ มากมาย ทั้งบุคคลในเครื่องแบบ นักการเมือง ดารา ฯลฯ เรียงหน้าออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีคุณแตงโม ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย ได้นำไปสู่การถกเถียง พาดพิงซึ่งกันและกัน และมีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดถึงขั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกันและกลายเป็นคดีความต่างๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ จากคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโม
สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์การแสดงออกถึงความหิวแสงของคนบางคนที่ฉวยโอกาสใช้เหตุการณ์สำคัญๆ ออกมาล่าแสงจนเป็นข่าวให้สื่อได้นำเสนออยู่นับเดือน จนถึงวันนี้ก็ยังมีผู้ขุดคุ้ยหาหลักฐานใหม่ที่พบในร่างคุณแตงโมมาบอกกล่าวต่อสังคมเพื่อแสดงให้เห็นถึงเงื่อนงำของคดีอยู่
5. หลวงปู่แสง - เหยื่อกระสือหากินกับพระ
คงจำกันได้ดีว่า เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งตัวเองเป็น “มือปราบอลัชชี” หรือ “มือปราบสัมภเวสี” ร่วมกับสำนักข่าวบางสำนัก และเจ้าหน้าที่บางหน่วยงาน บุกเข้าไปถึงกุฏิ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” อายุ 98 ปี พระเกจิชื่อดัง ที่อาศัยอยู่ในที่พักสงฆ์ พื้นที่บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก จ.ยโสธร
ภาพการยกโขยงเข้าไปบุกกุฏิหลวงปู่แสงอย่างเอิกเกริกราวกับยกทัพไปจับโจร รวมทั้งกริยาวาจาที่คนกลุ่มนี้แสดงออก พร้อมคำพูดเยาะเย้ยถากถางหลวงปู่แสงซึ่งหน้า ได้สร้างความหดหู่ใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างยิ่ง และในภายหลังทราบว่าหลวงปู่อาพาธด้วยโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งทำให้กระแสตีกลับไปยังกลุ่มบุคคลเหล่านั้นอย่างรุนแรง แม้จะมีการขอขมาจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อหลวงปู่แสง ก็ไม่อาจจะลบภาพการกระทำที่ย่ำยีหัวใจชาวพุทธไปได้
การเดินสายวิ่งไล่จับพระจากการนำของฆราวาสที่มิได้มีหน้าที่ใดๆ เลยโดยมีสื่อบางสำนักยกขบวนกันไปทำข่าวแบบไลฟ์สด เผยแพร่ทั้งทางโซเชียลมีเดียและสื่อหลักหลายแห่ง ราวกับว่าบ้านเมืองเราขาดระบบระเบียบการปกครองเกี่ยวกับสงฆ์นั้น เชื่อว่าเป็นการวางแผนกันมาล่วงหน้าผ่านกระบวนการจัดการ และมีผลประโยชน์ทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินแอบแฝงอยู่ แม้ว่าจะมีการปฏิเสธว่าเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสื่อก็ตาม
การที่มีบุคคลทำตัวเองเสมือน “ตำรวจพระ" เดินสายจับพระ พร้อมกับนำไปเผยแพร่บนช่องทางโซเชียลมีเดียและสื่อช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ผู้ติดตามนับล้านคนได้ดูปฏิบัติการจับพระนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการทำมาหากินรูปแบบหนึ่ง การอ้างว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อจรรโลงวงการสงฆ์จึงฟังไม่ขึ้น
พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้นอกจากเป็นพฤติกรรมที่ชาวพุทธยากจะยอมรับได้ เพราะนอกจากกระทบกระเทือนต่อจิตใจชาวพุทธทั่วไปอย่างรุนแรงแล้ว เชื่อได้ว่าย่อมกระทบกระเทือนจิตใจต่อพระสงฆ์นับแสนรูปอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์ ดร. พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วัดไร่ขิง พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี" สะท้อนถึงความรู้สึกของท่านและเชื่อว่าเป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกเดียวกันของชาวพุทธโดยทั่วไป ความว่า
"ในวันที่ใครๆ ก็ดังได้ ใครก็หาเงินกันได้ง่ายๆ จากโลกออนไลน์ มันทำให้เกิดเปรตอสุรกายที่กระหายเงินตราและชื่อเสียงออกปฏิบัติการล่ากลุ่มที่อ่อนแอในสังคม แล้วขยี้บี้ให้เป็นประเด็น เรียกเสียงชื่นชมตน พร้อมเสียงก่นด่าเหยื่อกันสนุกสนาน หากพลาดอย่างดีก็แค่ทำเฉย แล้วออกล่าเหยื่อรายต่อๆ ไป ดูอย่างการจัดฉากสร้างรอยมลทินให้พระสงฆ์อายุหลัก 100 ปี ถ้าสติปัญญาดีๆ ก็พิจารณาได้ ทั้งเหตุการณ์รวมถึงการแสดงล้วนมีเลศนัย แต่คนที่ได้ผลประโยชน์เต็มๆ คือผู้กำกับการแสดง ทั้งยอดวิว ยอดแชร์พุ่งกระฉูด ทั้งยูทูบก็คงจ่ายเงินก้อนใหญ่ แถมพาทัวร์มาถล่มหลวงตาอย่างสะใจ ซักวันเวรกรรมจะตามทัน
บรรดาข้าราชการเกรงกระแสสังคมของแฟนคลับคนพวกนี้จะถล่ม ก็ทำตนเหมือนตอไม้ ไม่ขยับกายเคลื่อนไหวช่วยป้องภัยให้พระสงฆ์ จนดูเหมือนมีอยู่ไม่ต่างจากกาฝาก จริงอยู่ในศาสนานี้มีอลัชชีอยู่ไม่น้อย จะช่วยกันกำจัดให้ศาสนาไม่มัวหมอง ก็จะได้รับแต่คำสรรเสริญ ทำด้วยใจไม่ให้ผลประโยชน์มาบังหน้า ก็คงไม่มีใครว่า มีแต่คนชื่นชม ถ้าหลายหูหลายตาช่วยกันรักษา ศาสนาก็จะปลอดจากความมัวหมอง"
อ้างอิง https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/108794-socialmonk.html
https://www.banmuang.co.th/news/education/280223
6.”ชัชชาติ” บนโลกโซเชียลฯ
หนึ่งในบุคคลที่มีสีสันที่สุดบนโลกโซเชียลของไทยไม่ใช่ใครที่ไหนเลย แต่เป็นผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี่เอง
คุณชัชชาติ ได้สร้างปรากฏการณ์การใช้สื่อโซเชียลฯ ในลักษณะการไลฟ์สดซึ่งมักไม่ค่อยพบเห็นในการทำงานของผู้บริหารระดับสูงโดยทั่วไป เพราะคุณชัชชาติมักจะไปไหนต่อไหนพร้อมกับการไลฟ์สดบนโซเชียลมีเดียไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมใดก็ตาม
การใช้โซเชียลมีเดียของคุณชัชชาติ จึงเป็นความแปลกใหม่ของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คุณชัชชาติ ให้คุณค่าแก่เทคโนโลยีเป็นอย่างมากสำหรับการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์เดินดินด้วยสไตล์การแต่งตัวแบบธรรมดาอย่างที่สุด (Normcore) ของคุณชัชชาติผ่านโซเชียลมีเดีย และยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมดิจิทัลซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลาในชีวิตของผู้คน
การใช้โซเชียลมีเดียของคุณชัชชาติ นอกจากจะสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองแล้ว โซเชียลมีเดียยังช่วยให้คุณชัชชาติสามารถเชื่อมต่อกับสังคมขนาดใหญ่ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ง่ายขึ้นและแสดงความเป็นปัจจุบันของตนเองให้ผู้คนได้เห็นการเคลื่อนไหวและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนซึ่งอาจลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารเมืองกับคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯได้โดยไม่มีกำแพงของลำดับชั้นการบริหารมาขวางกั้น
ถึงวันนี้ยังไม่อาจพูดถึงผลงานของคุณชัชชาติที่จับต้องได้อย่างเต็มปากนัก เพราะเข้ามาบริหาร กทม.เพียงครึ่งปี แต่อาจพูดได้ว่าคุณชัชชาติอยากทำงานซึ่งเห็นได้จากคำพูดที่ออกจากปากคุณชัชชาติอยู่เสมอๆ
อย่างไรก็ตาม การใช้โซเชียลมีเดียที่มากจนเกินไปของคุณชัชชาติ เกิดขวางหูขวางตาคนบางคนจนถึงขั้นออกมาค่อนแคะผ่านโซเชียลมีเดียว่า “เอาแต่วิ่งไม่เห็นทำงาน” แต่ก็ถูกโต้กลับเบาๆ จากคุณชัชชาติเช่นกันว่า “วิ่งนอกเวลาทำงาน”
7.ชูวิทย์ – โซเชียลมีเดีย- ทุนจีนสีเทา
ณ นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดบนหน้าสื่อทั่วไปและโซเชียลมีเดียของประเทศไทยคือ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และนักธุรกิจ คุณชูวิทย์มีบัญชีโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม รวมทั้งมีเว็บไซต์ด้วย ซึ่งคุณชูวิทย์ใช้สื่อเหล่านี้ในการแสดงความเห็นทางการเมืองตลอดมา แต่เท่าที่มักเป็นข่าวและสื่อนำมานำเสนอต่อสาธารณะ น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวจากบัญชี “เฟซบุ๊ก” ของคุณชูวิทย์เป็นหลัก
นับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นมา คุณชูวิทย์มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเปิดโปงขบวนการจีนสีเทาที่เข้ามาทำมาหากินและขยายเครือข่ายสร้างอิทธิพลอยู่ในประเทศไทย โดยมิได้ยำเกรงต่อกฏหมายไทยแม้แต่น้อย เพราะทุนกลุ่มนี้มีเส้นสายที่โยงใยไปถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มการเมือง คุณชูวิทย์ถึงกับเรียกทุนจีนเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า “อั้งยี่ ซ่องโจร” และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งหากเป็นจริงดังเช่นที่คุณชูวิทย์กล่าวไว้ เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว
การปฏิบัติการเปิดโปงและการให้เบาะแสของคุณชูวิทย์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งคุณชูวิทย์มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กราว 1.6 ล้านคน นอกจากจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อกลุ่มทุนจีนสีเทาที่เข้ามาทำธุรกิจหลายประเภท รวมทั้งผับที่คุณชูวิทย์เรียกว่า “ผับศูนย์เหรียญ” แล้ว เบาะแสของคุณชูวิทย์ยังส่งแรงกระแทกอย่างรุนแรงไปถึงวงการสีกากี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าที่คุณชูวิทย์พุ่งเข้าหาโดยตรงคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่คุณชูวิทย์เชื่อว่าคอยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนจีนสีเทา รวมทั้งยังเปิดหลักฐานการจัดตั้งมูลนิธิรับจดทะเบียนให้คนจีนพักอาศัยในไทยโดยผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีการชี้แจงจากผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต่อกรณีดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังไม่สิ้นความสงสัยเพราะการต่ออายุวีซ่าให้กับกลุ่มคนจีนจำนวนหนึ่งให้อยู่ในเมืองไทยในฐานะนักเรียนจำนวนมากตามที่เป็นข่าวนั้น แม้จะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ยังฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ การให้เบาะแสจากคุณชูวิทย์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ตม. ที่ร่ำรวยผิดปกติแต่ละคนนั้น ยิ่งเพิ่มความสงสัยต่อการเข้าไปพัวพันของเจ้าหน้าที่บางคนต่อทุนจีนสีเทาเหล่านี้มากขึ้นไปอีก แถมยังปล่อยหมัดเด็ดเข้าไปยัง “บิ๊ก ปปง.” อีกหมัดอย่างจัง
คนไทยต้องติดตามคดีนี้กันต่อไปให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าคุณชูวิทย์คงกัดไม่ปล่อย และจะได้เห็นข้อมูลดีๆ จากการปล่อยของบนโซเชียลมีเดียของคุณชูวิทย์ที่จะทำให้อีกหลายคนต้องร้อนๆ หนาวๆ และอยู่ไม่เป็นสุขจากการกระทำอันมิชอบของตัวเอง เพราะการเปิดโปงครั้งนี้คุณชูวิทย์ได้เอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันเลยทีเดียว
การเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลฯแต่ละครั้งของคุณชูวิทย์มักมีสีสัน มีเรื่องที่น่าติดตาม และเป็นข่าวที่ถูกนำมาเผยแพร่ต่ออยู่เสมอ การที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก คุณชูวิทย์จึงถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer) ในระดับทองคำ (Gold level) และเป็นคนเด่นในโลกโซเชียลฯคนหนึ่งของไทยก็ว่าได้ เพราะข้อสงสัยของคุณชูวิทย์บนโซเชียลมีเดียมักได้รับการติดตามและตอบสนองด้วยความฉับไวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงอยู่เสมอ
ภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2568683
8.ผัดไทย กับ เทย์เลอร์ สวิฟต์
กลายเป็นข่าวที่สร้างความปิติให้กับคนไทยอีกครั้ง เมื่อสื่อกระพือข่าวว่า "เทย์เลอร์ สวิฟต์” ( Taylor Swift ) ศิลปินระดับโลก ได้ใช้ภาพ “ผัดไทย” ประกอบเพลงที่ชื่อว่า Lover
ข่าวแจ้งในเบื้องต้นว่า การใช้ปกเพลงเป็นภาพนี้ยังไม่มีเหตุผลแน่ชัดเปิดเผยออกมา แต่ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเมนู "ผัดไทย" เป็นที่ยอมรับระดับโลก จนเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากทั้งในทวิตเตอร์ และ TikTok จนติดเป็นกระแส #PadThai ขึ้นมาเลยทีเดียว
แต่เมื่อส่องเข้าไปดูเนื้อเพลง Lover ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2019 ของเธอ ไม่ปรากฏว่ามีประโยคหรือคำพูดใดที่กล่าวถึง “ผัดไทย” หรือ “ประเทศไทย” แม้แต่น้อย แต่กลับพูดถึงความโรแมนติกของหนุ่มสาวคู่รักเป็นสำคัญ จึงเป็นที่แคลงใจอยู่ว่าเพลงนี้เกี่ยวกับผัดไทยอย่างไร
จนกระทั่งมีคำเฉลยในอีกไม่กี่วันต่อมาว่า ภาพผัดไทยที่ปรากฏคู่กับเพลงของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นั้น ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเพลง Lover หรือซอฟต์เพาเวอร์ที่คนไทยพากันปลื้มนักหนา เพราะเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ของยูทูบ
คำพูดที่ว่า อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต จึงยังคงเป็นคำพูดที่ยังเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะภาพที่เห็นไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียได้ทั้งหมด เนื่องจากอัลกอริทึมได้เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในหลายๆ เรื่อง และจับแพะชนแกะเอาเองตามที่ได้เรียนรู้จากข้อมูลโดยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งลึกซึ้งเกินกว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้าใจได้
แม้มนุษย์ผู้สร้างอัลกอริทึมเหล่านี้ขึ้นมาเองกับมือ ก็ยากที่จะเข้าใจสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นเช่นกัน การโปรโมตผัดไทยครั้งนี้อย่างน้อยที่สุดน่าจะส่งผลให้เมนูผัดไทยกลายเป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะเกิดจากการสร้างสรรค์ของอัลกอริทึมก็ตาม
อ้างอิง https://mgronline.com/travel/detail/9650000110443
https://mgronline.com/travel/detail/9650000112375
9. คอนเทนต์ คอนเทนต์ และคอนเทนต์ - เป้าหมายในชีวิตของคนยุคใหม่
โลกดิจิทัลได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในอดีตด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย หนึ่งในวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดียคือ การเรียกร้องความสนใจผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งใครๆ ก็สามารถจะกลายเป็นคนดังได้ชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องใช้เวลาฝึกฝนแรมปีดังเช่นอาชีพอื่น หากคอนเทนต์ที่สร้างถูกใจผู้คน
มนุษย์ยุคปัจจุบันจึงเป็นมนุษย์ยุคที่ไขว่คว้าหาความมีชื่อเสียง (Fame hunger generation) จากการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย หรือเกาะกระแสคนดังเพื่อให้ตัวเองดังไปด้วย โดยหวังจำนวนยอดวิวโดยแทบไม่ใส่ใจต่อคุณภาพของคอนเทนต์ที่นำเสนอ
จากการสำรวจของ PEW Research Center พบว่า คนวัย 18-25 ปี จำนวนมากเห็นว่า “ความต้องการมีชื่อเสียง” คือเป้าหมายสำคัญของชีวิตอันดับที่ 1 หรืออันดับที่ 2
การสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจของ The Harris Poll ในปี 2019 ที่ได้สำรวจเด็กจำนวน 3,000 คน จาก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน โดยตั้งคำถามว่า “เมื่อมีอายุมากขึ้นอยากทำอาชีพใดมากที่สุด” ใน 5 อาชีพ ได้แก่ นักบินอวกาศ นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ ครู และ Vlogger/YouTuber
คำตอบอันดับหนึ่งจากเด็กชาวอเมริกันและสหราชอาณาจักรพบว่า อาชีพที่อยากเป็นมากที่สุดคือ ยูทูบเบอร์ ในขณะที่คำตอบอันดับหนึ่งของเด็กจีนคือ นักบินอวกาศ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดคนจำนวนมากรักอาชีพการสร้างคอนเทนต์มากเสียยิ่งกว่าการหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพอื่น
การอยู่ในยุคที่ต้องการไขว่คว้าหาความมีชื่อเสียงทำให้คนจำนวนไม่น้อยถือว่า ยอดผู้ติดตาม (Follower) ยอดไลค์ ยอดแชร์ คือมาตรวัดความสำเร็จ การสร้างคอนเทนต์แบบปกติธรรมดาเพื่อให้ถึงเป้าหมายจึงมักจะไม่ดึงดูดความสนใจผู้คน หลายต่อหลายคนจึงแสวงหาวิธีแปลกๆ หรือสุดขั้วเข้าขั้นพิสดารที่คนปกติไม่ทำกันมานำเสนอ และหลายครั้งเลยเถิดไปจนกลายเป็นกระแสตีกลับ ต้องออกมาขอโทษขอโพยต่อสังคมในภายหลัง และอาจต้องถูกดำเนินคดีอีกด้วย เป็นต้นว่า...
กินค้างคาวโชว์ : เหตุเกิดเมื่อครูสาวรายหนึ่งทำคอนเทนต์กินต้มแซ่บค้างคาวโชว์ และเผยแพร่บน เฟซบุ๊ก จนเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และถูกตำรวจเข้าจับกุมในที่สุด โดยแจ้งข้อหาดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และในที่สุดครูสาวได้ไลฟ์ขอโทษทุกฝ่ายต่อการกระทำดังกล่าว ยอมรับว่าคิดน้อยและทำไปอย่างขาดสติ และยืนยันว่าจะไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
ข่าวการกินค้างคาวโชว์ของครูสาวยังไม่ทันจาง ก็ปรากฏคลิปหนุ่มกินค้างคาวโชว์เผยแพร่บน TikTok เกิดซ้ำขึ้นมาอีก แต่เป็นเป็นคลิปเก่าที่เพิ่งกลายเป็นไวรัล คราวนี้เป็นเมนูต้มค้างคาวกับแกงค้างคาวซึ่งผู้โพสต์อ้างว่าเป็นค้างคาวจากต้นตาลไม่ใช่ค้างคาวจากถ้ำ ซึ่งไม่ว่าจะอ้างอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น เพราะนอกจากค้างคาวจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นสัตว์ที่มนุษย์ปกติไม่ควรไปสรรหามากิน รวมทั้งต้องไม่เผยแพร่ความห่ามของตัวเองต่อสาธารณะเพื่อให้ผู้คนเข้าใจผิดเป็นอันขาด
แค่อยากทำคอนเทนต์ : เรื่องเกิดขึ้นเมื่อโลกออนไลน์ได้มีการโพสต์เชิญชวนให้บริการ ตกหมึก ดูนม ชมหอย หมึกซ็อต ซาซิมิ พร้อมเครื่องดื่ม โดยคิดราคาท่านละ 3,000 บาท 4 ชั่วโมงเต็ม จำกัดรอบ ละ 2-3 ท่าน
ในภาพที่นำเสนอมีภาพสาวสวยเปลือยกาย 2 คน ถ่ายภาพข้างนักตกปลา ณ ริมทะเล ชายหาด ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทำให้คนในพื้นที่ รวมถึงเรือตกปลาในพื้นที่ วิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสม และทางชาวบ้านในพื้นที่ได้นำหลักฐานภาพเปลือยกายบนเรือตกปลา และริมชายหาด ที่หลุดออกมาโลกออนไลน์ ในทวิตเตอร์ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สองสาวได้ให้การเบื้องต้นว่า รูปดังกล่าวตนได้ถ่ายกันเอง โดยผู้ชายบนเรือคือแฟนของตนทั้งคู่ โดยเรือตกปลาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ตนเพียงเช่าเรือออกไปเท่านั้น ส่วนข้อความและรูปที่ลงว่าให้บริการ ตกหมึก ดูนม ชมหอย หมึกซ็อต ซาซิมิ พร้อมเครื่องดื่มในราคาเพียงท่านละ 3,000 บาท 4 ชั่วโมงเต็ม จำกัดรอบ ละ 2-3 ท่าน ตนได้ทำขึ้นเองแล้วนำไปลงในโลกออนไลน์ ทวิตเตอร์ เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้คนสนใจเท่านั้น
ตามข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เตรียมดำเนินคดีในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสองตัวอย่างของการสร้างคอนเทนต์พิสดารมากมายบนโซเชียลมีเดียที่เกินเลยกว่าที่สังคมและกฎหมายจะยอมได้ แม้กระนั้นก็ยังมีคนอดใจไม่ได้ต่อความเย้ายวนของโซเชียลมีเดีย จนต้องฝ่าฝืนกฎของสังคมเหล่านี้อยู่เป็นประจำเพราะความหลงใหลในความมีชื่อเสียงจากยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือเงินทอง โดยไม่แคร์ต่อสายตาของผู้คนบนโซเชียลมีเดียที่ต่างจับจ้องการกระทำแผลงๆเหล่านี้อยู่ทุกนาที
อ้างอิง https://www.naewna.com/likesara/687360
https://www.naewna.com/local/687403
10.แช็ตสยิว ครูกับศิษย์
ในหลายต่อหลายโอกาส โลกโซเชียลฯมักเปิดเผยสิ่งที่เราไม่สามารถจะพบได้ตามสื่อปกติ เรื่องราวที่คุยกันในที่ลับอาจถูกนำมาเปิดเผยในที่แจ้งผ่านโซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา ไม่ว่าโซเชียลมีเดียนั้นจะใช้ติดต่อระหว่างกลุ่มหรือตัวต่อตัวก็ตาม แสดงให้เห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลถูกนำไปโพสต์บนโลกออนไลน์ ข้อมูลนั้นไม่มีทางถูกเก็บเป็นความลับได้อีกต่อไป เราจึงมักพบไลน์หลุดจากนักการเมือง ดารา และอีกหลายต่อหลายอาชีพ จนสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมอยู่หลายครั้ง และที่เรียกเสียงฮือฮาต่อสังคมจนสะเทือนถึงวงการแม่พิมพ์ของชาติเป็นข้อความที่อ้างว่าเป็นแช็ตระหว่างครูกับศิษย์ที่หลุดออกสู่สาธารณะ
ความที่ฝ่ายหนึ่งเป็นถึงแม่พิมพ์ของชาติ สายตาทุกคู่จึงพุ่งไปที่ครูสาวผู้ถูกกล่าวหา เพราะถือว่ากระทำตัวไม่เหมาะสมแก่สถานะความเป็นครูที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับศิษย์ชายตามที่มีการเสนอข่าวกันตามสื่อจากไลน์หลุดที่มีข้อความแช็ตกันอย่างวาบหวิว ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงแล้วทั้งคู่คือเหยื่อของการแก้แค้นจากคู่รักของฝ่ายชาย โดยการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลสองคนมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ แต่การที่เหยื่อฝ่ายหญิงอยู่ในสถานะของครู สปอตไลท์จึงจับไปที่ฝ่ายหญิงเต็มๆ โดยที่ฝ่ายที่นำข้อมูลมาเปิดเผยแทบจะไม่ถูกกล่าวถึง
โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างสัมพันธ์อันดูดดื่มระหว่างหนุ่มสาว แต่ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็อาจกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการแก้แค้นที่สามารถนำมาใช้ทำลายความสัมพันธ์อันหวานชื่นนั้นได้เพียงชั่วพริบตา
อ้างอิง https://today.line.me/th/v2/article/WBgka2J?imageSlideIndex=2
11.เกรียนกับตำรวจทางหลวง
ถ้าใครได้ติดตามการเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย อาจเคยเห็นคลิปที่ส่งต่อๆ กันในไลน์ หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ในคลิปที่เผยแพร่จะเห็นชายคนหนึ่งพร้อมพวกได้ขับรถยนต์มาจอดในจุดที่ตำรวจทางหลวงกำลังตั้งด่านเปรียบเทียบปรับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ที่กระทำความผิดอยู่
ระหว่างนั้นชายคนนี้ซึ่งไม่ได้รู้จักกับกลุ่มจักรยานยนต์ ได้หยุดรถและลงมาขอดูใบเสร็จจากผู้ที่ถูกปรับ โดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานจราจร แต่เป็นเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงซึ่งไม่มีสิทธิ์ออกใบสั่งปรับ และพูดจาในลักษณะที่ไม่ได้ให้เกียรติต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติงานในขณะนั้นแม้แต่น้อย แถมยังอบรมสั่งสอนเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งนำคลิปเหตุการณ์นั้นไปเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเสียอีก
พลันที่คลิปนี้เผยแพร่ออกไป ตำรวจทางหลวงจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารไปในทันที เพราะความเห็นต่างๆ ที่มีต่อคลิปดังกล่าวล้วนส่งผลในทางลบต่อตำรวจทางหลวงทั้งสิ้น
เมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง กองบังคับการตำรวจทางหลวงจึงต้องออกมาชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงเป็นเจ้าพนักงานจราจรตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทุกประการ รวมทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด และดำเนินการตามกฎหมายอาญาทั่วไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงที่อยู่ในเหตุการณ์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อกองบังคับการตำรวจทางหลวงในภาพรวม ดังนั้น กองบังคับการตำรวจทางหลวงและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อยแล้ว
ทันทีที่เจอกับการตอบโต้จากตำรวจ เฟซบุ๊ก "อย่าหาทำ" ได้เผยแพร่แถลงการณ์จากเพจ “อย่าหาทำ และเพจนักรบด่านเถื่อน” ต่อกรณีดังกล่าว โดยได้ขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นต่อผู้บังคับการตำรวจทางหลวงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน จากการเผยแพร่วีดีโอดังกล่าวบนโซเชียลมีเดีย โดยแจ้งว่าคลิปดังกล่าว น่าจะสุ่มเสี่ยงให้เกิดการเข้าใจผิดและความเสียหายต่อองค์กรตำรวจทางหลวง และได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอโทษ ในการกระทำของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถทำให้ใครต่อใครส่งเสียงดังหรือแจ้งเบาะแสให้สังคมได้รับรู้ในเรื่องที่ต้องการจะบอกแก่สังคม แต่การแสดงออกนั้นมีข้อจำกัดที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ทั้งกฎของโซเชียลมีเดียเองและกฎหมายของแต่ละประเทศ รวมทั้งกติกามารยาทในการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นกติกาหลวมๆ ที่รู้กันระหว่างผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยกัน
การแสดงออกตามอำเภอใจราวกับว่าเสรีภาพบนโซเชียลมีเดียไร้ขีดจำกัดจึงไม่สามารถกระทำได้ โดยเฉพาะการอวดรู้ในสิ่งที่รู้ไม่จริง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดหรือตั้งใจเพื่อให้คอนเทนต์ตัวเองได้รับความสนใจ อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจสับสนและเป็นการสร้างปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จบ
อ้างอิง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000116764
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000116938
12.เคลมผลงาน หรือ เข้าใจผิด?
ยิ่งใกล้เลือกตั้ง นักการเมืองก็ยิ่งต้องสาละวนหาเสียงกันแทบไม่ได้หยุดพัก นอกจากต้องตระเวนไปพบผู้คนด้วยตัวเองแล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่มักสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเองโดยใช้โซเชียลมีเดียอยู่เกือบตลอดเวลา
โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับนักการเมืองระดับโลก ระดับชาติ จนถึงนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อใช้สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ ทั้งเรื่องนโยบายที่จะทำต่อไปข้างหน้าและสิ่งที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเพื่อให้ตัวเองหรือพรรคของตัวดูดีมีผลงานพอที่จะอวดและขายให้ชาวบ้านได้
แต่หลายต่อหลายกรณีโซเชียลมีเดียกลับกลายเป็บดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำให้ตัวเองต้องขายหน้า เพราะหากสิ่งที่สื่อออกไปเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ ต่อสังคม อาจถูกชาวเน็ตโต้แย้งหรือถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนได้เช่นกัน
ดังเช่นกรณีของ คุณแพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊งค์” ลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ได้ขนคณะลงนครศรีธรรมราชเพื่อขอคะแนนชาวใต้
หลังจากนั้นเธอได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชี ทวิตเตอร์ชื่อ “@ingshin“ ระบุว่า “ถนนเส้นนี้ชื่อว่า ‘ถนนเขาพลายดำ-ท้องหยี’ จ.นครศรีธรรมราชค่ะ คนพื้นที่บอกว่าเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ ข้างหนึ่งเป็นภูเขา อีกข้างจะเป็นทะเล วิวสวยอย่างแรงนิ เป็นทางที่เชื่อมระหว่าง อ.ขนอม กับ อ.สิชล เพื่ออำนวยความสะดวกลดระยะเวลาเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นผลงานโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ค่ะ”
เมื่อข้อความนี้ถูกทวีตออกไป มีความเห็นแย้งจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ ต่อข้อความดังกล่าวในทันที เพราะสิ่งที่คุณแพรทองธารได้ทวีตออกไปนั้น ชาวเน็ตเห็นว่าไม่เป็นความจริง พร้อมให้ข้อมูลว่าถนนสายนี้เพิ่งสร้างในสมัยรัฐบาลคุณประยุทธ์เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องถึงขั้นต้องต่อความยาวสาวความยืดเลย หากผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นคนธรรมดาๆ แต่ด้วยเหตุว่าคุณแพรทองธารเป็นถึงหนึ่งในผู้นำพรรคการเมืองที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นรัฐบาลต่อไป อีกทั้งยังมีข่าวแว่วๆ ว่าเธออาจเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย เลยทำให้ทุกการเคลื่อนไหวของเธอถูกจับตามองแทบทุกฝีก้าว ความเห็นของเธอบนโซเชียลมีเดียจึงถูกนำมาขยายความต่ออยู่เสมอ
การสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียเป็นวิธีสื่อสารที่ ง่าย เร็ว และถูก แต่มีโอกาสผิดพลาดได้ตลอดเวลาไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมืองเพื่อสื่อสารถึงคนส่วนใหญ่จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาดจะถูกดิสเครดิตและอาจกลายเป็นเป้าหมายให้ถูกโจมตีได้เช่นกัน
และหากข้อมูลนั้นมีความอ่อนไหวและเกี่ยวกับความเป็นความตายของบ้านเมืองอาจส่งผลกระทบตามมาโดยคาดไม่ถึง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลเท็จเข้าถึงคนส่วนใหญ่แล้ว การลบล้างความเท็จด้วยความจริงเป็นเรื่องยากและต้องใช้พลังมากกว่าการสร้างข้อมูลเท็จหลายเท่าตัวเพื่อทำให้ความจริงปรากฏ แต่มักได้ผลช้าเพราะในโลกโซเชียลมีเดียความเท็จมักเดินทางเร็วกว่าความจริงเสมอ
อ้างอิง https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000118543