ศาลอาญาสั่งจำคุก “ผู้กองปูเค็ม” 12 เดือน ปรับ 1 แสนบาท หลังโพสต์เฟซ-ไลฟ์สด กล่าวหาอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยุยงให้แบ่งแยกดินแดน จากการพูดในวงเสวนาที่ปัตตานี เมื่อปี 62 แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี พร้อมสั่งลบข้อความและคลิปไลฟ์สดหมิ่นประมาททั้งหมด
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันอังคารที่ 25 ม.ค.65 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.2890/2562 ที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่ ร.อ.ทรงกลด ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวหาใส่ความและด่าทอ จนเป็นเหตุให้ น.ส.ชลิตา ได้รับความเสียหาย โดยต้นสายปลายเหตุมาจากการที่โจทก์ น.ส.ชลิตา ไปพูดบนเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่เป็นกิจกรรมของพรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจรภาคใต้ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.62 นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมแกนนำพรรคอื่นๆ รวม 7 พรรคการเมือง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.62 และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา จำเลยไลฟ์สดและโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวใช้ชื่อว่า “ผู้กองปูเค็ม” ทำนองว่า ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ยุยง ปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กของผู้กองปูเค็ม และบุคคลที่สาม เมื่อเห็นข้อความแล้วแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความดูหมิ่น เกลียดชัง และด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้ข้อความของจำเลยจะเป็นข้อความที่มีถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง ก็ถือเป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพและคำหยาบเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา
โดยศาลอาญาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลย ประกอบกับระหว่างพิจารณาจำเลยแถลงยอมรับว่า โพสต์ข้อความและถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ผ่านทางเฟซบุ๊ก มีการเผยแพร่ข้อความและถ้อยคำตามฟ้องจริง ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมขณะจำเลยไปยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ จากกรณีที่โจทก์พูดแสดงความคิดเห็นในการเสวนา และอัปโหลดหนังสือดังกล่าวบนหน้าเฟซบุ๊กของจำเลย เพื่อให้เพื่อนในเฟชบุ๊ก ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม รวมทั้งสื่อมวลชนได้ดาวน์โหลด แล้วสื่อมวลชนหลายสำนักนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศ
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความของจำเลยที่ระบุว่า โจทก์ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดนนั้น ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชม เพราะไม่มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลตามความคิดเห็นของจำเลย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของโจทก์ในการเสวนาว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร มีเพียงการใส่ความโดยการกล่าวหาเรื่องร้ายให้แก่โจทก์ด้วยข้อหาร้ายแรงว่า ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดน เป็นเหตุให้ต้องยื่นหนังสือถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กหรือบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความเข้าใจไปตามข้อความของจำเลย ส่งผลกระทบต่อเกียรติและสถานะทางสังคมของโจทก์ มิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จำเลยไม่มีเหตุจูงใจส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์ แต่จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ข้อความหรือคำพูดของจำเลยดังกล่าวจะทำให้โจทก์เสียหาย
จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 12 เดือน และปรับ 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยลบข้อความหรือคลิปไลฟ์สดที่มีข้อความหรือคำพูดหมิ่นประมาทโจทก์ตามคำพิพากษา