"...เราได้รับการร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงการคุกคามของคนที่เห็นต่าง ไม่ใช้เฉพาะรัฐคุกคามประชาชน แต่มีประชาชนคุกคามประชาชนด้วย เราคิดว่าตอนนี้เรามีสังคมที่ค่อนข้างจะเสรีมากขึ้น มีการแสดงออกไปถึงโรงเรียน สถานศึกษา อยากให้เรายอมรับในความเห็นซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นของคนที่เห็นต่างไปจากเรา ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม เพราะนี้คือส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย..."
สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเริ่มมีความคุกรุ่นมากขึ้น นับตั้งแต่มีการชุมนุมเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นไฟลามทุ่งกระจายตัวไปตามต่างจังหวัด มหาวิทยาลัย และลงไปสู่ระดับโรงเรียน นำมาสู่การชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการขยับของหลายฝ่ายเพื่อตอบรับข้อเรียกร้อง พรรคการเมืองเสนอเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการจับกุมและออกหมายจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม (อ่านประกอบ : ไทม์ไลน์ชุมนุมประท้วง รบ.-เปิดหมายจับ 3 ลอต'แกนนำม็อบ'ถูกคุมตัวแล้ว 6 ราย)
นอกจากวาระการแก้ไข รธน. อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในสภาผู้แทนราษฎร คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ภายใต้กรอบระยะเวลา 90 วัน ต้องรับฟังผ่านเวทีปราศรัย - สัมภาษณ์บุคคล เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วสารทิศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คุยกับ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ภูมิใจไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ.ชุดดังกล่าว เพื่อถอดสูตรคลายความขัดแย้ง