“...ดังนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว เห็นว่าการระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ จึงได้ขอความร่วมมือให้ท่านกรุณาแก้ไขข้อบกพร่องในญัตติดังกล่าว เพื่อให้การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน...”
ถึงแม้ว่าพรรคประชาชนจะ ‘ยอมถอย’ ตัดชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ‘นายกฯผู้พ่อ’ ออกจากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ‘เพียงผู้เดียว’ เพื่อไม่ให้ ‘ญัตติซักฟอก’ โดน ‘ปัดตก’ ไม่บรรจุญัตติ โดยอ้าง ‘ข้อบกพร่อง’
ทว่า ณ เวลานี้ การประชุมระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล-รัฐมนตรี ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่อง ‘เวลาการอภิปราย’ ภายหลัง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ หัวหน้าพรรคประชาชน-ผู้นำฝ่ายค้าน หารือ ‘นอกรอบ’ กับ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนนำมาสู่การยอม “ปรับคำ” – ตัดชื่อ ‘ทักษิณ’ ออกจากญัตติซักฟอก โดยคิดว่าจะ ‘ซื้อเวลาอภิปราย’ ไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำหนังสือตอบ-โต้ ระหว่างนายณัฐพงษ์-ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับ ‘อาพัทธ์ สุขะนันท์’ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ต่างฝ่ายต่างงัดหลักการ-เหตุผล และข้อกฎหมายขึ้นมาหักล้างเหตุผลของอีกฝ่าย จนนำมาสู่การ ‘ยอมถอย’ ตัดชื่อ ‘ทักษิณ’ ออกจากญัตติไม่ไว้วางใจในครั้งนี้
อ่านประกอบ : ‘วันนอร์’ มีหนังสือด่วนแจ้งฝ่านค้านแก้ญัตติอภิปรายนายกฯ ตัดชื่อ ‘ทักษิณ’ ออก
@ ย้อนคำแย้ง ‘ประชาชน’
“…เมื่อพิเคราะห์ตามเจตนารมณ์แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และรัฐธธรรมนูแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เห็นได้ว่า ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ห้ามการอภิปรายที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงบุคคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลภายนอก ในทางตรงกันข้าม ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สามารถตีความเจตนารมณ์ได้ว่าการอภิปรายถึงบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลภายนอกนั้น สามารถกระทำได้ เพียงแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อภิปรายนั้นจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำเอง และประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562…”
ด่วนที่สุด ที่ สผ 0020.01/60 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2568
เรื่อง ข้อโต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และขอให้บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดต่อไป
กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้ข้าพเจ้า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ พิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ‘โดยอ้างว่าญัตติดังกล่าวมีเนื้อหาระบุรายชื่อบุคคลภายนอก อันอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่ามีข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 176 นั้น
ข้าพเจ้า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ ขอยืนยันว่าญัตติของข้าพเจ้าและคณะไม่มีข้อบกพร่องตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างแต่ประการใด ดังนี้
ข้อ 1 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาว่าวินิจฉัยว่าเนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า สมควรมีเนื้อหาอย่างใดมิได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า เนื้อหาของญัตติสมควรจะเป็นประการใด สมควรจะได้รับการบรรจุไว้ไว้ในระเบียบวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะหรือไม่
หากแต่บัญญัติดังกล่าวกำหนดอำนาจผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคลหรือทั้งคณะเท่านั้น โดยหากรัฐธรรมนูญประสงค์กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยถึงเนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรือมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าจะบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
รัฐธรรมนูญจักต้องบัญญัติถ้อยคำที่แสดงถึงอำนาจในการใช้ดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดแจ้ง เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 236 ที่บัญญัติให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานรัฐสภาในการพิจารพิจารณาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระเพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง กรณีมีการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
@ ตีความกฎหมาย ลุแก่อำนาจ
โดยเมื่อมีการยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควรแล้ว หากประธานรัฐสภา “เห็นว่า” มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา จึงให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาได้
อีกทั้งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 176 มิได้ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการใช้ดุลพินิจว่าเนื้อหาของญัตติควรจะเป็นอย่างไร หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือ ข้อ 176 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบว่าญัตติมี “ข้อบกพร่อง” หรือไม่
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าและคณะเห็นว่า คำว่า “ข้อบกพร่อง” ในข้อดังกล่าวมีเจตนารมณ์หมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาดในเชิงข้อเท็จจริงหรือรูปแบบ เช่น มีรายชื่อผู้เสนอที่ไม่ครบตามเกณฑ์ที่รัฐธธรรมนูญกำหนด ลายมือชื่อของผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกันกับลายมือชื่อจริง ระบุชื่อรัฐมนตรีที่ระบุในญัตติผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือมีการอ้างถึงมาตราหรือข้อกฎหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ดังนั้น การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจโดยอ้างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 โดยตีความในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ลุแก่อำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงและทำลายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร
ข้อ 2 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มิได้มีข้อห้ามมิให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติ ดังนั้น การระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติของข้าพเจ้าและคณะจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
อีกทั้ง ในอดีตที่ผ่านมา ญัตติที่เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายญัตติก็มีการระบุชื่อของบุคคลภายนอก เช่น ญัตติด่วนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเกา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
โดยในเนื้อหาของญัตติได้ระบุชื่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใด ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) รายละเอียดปรากฏตามสำเนาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (1) และรวมถึงญัตติอื่น ๆ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (2)
อีกทั้ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 178 กำหนดให้การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง เห็นได้ว่า ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 จึงไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามมีให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติเต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น หากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหายจากการอภิปราย หรือการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้นเพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจงได้ ตามข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อพิเคราะห์ตามเจตนารมณ์แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และรัฐธธรรมนูแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เห็นได้ว่า ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ห้ามการอภิปรายที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงบุคคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลภายนอก
ในทางตรงกันข้าม ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สามารถตีความเจตนารมณ์ได้ว่าการอภิปรายถึงบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลภายนอกนั้น สามารถกระทำได้ เพียงแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อภิปรายนั้นจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำเอง และประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
@ พ้นกำหนดแก้ญัตติ 7 วัน
ข้อ 3 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 176 กำหนดให้เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติตามข้อ 175 แล้ว ให้ทำการตรวจสอบ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาผู้แหนราษฎรแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2559 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 แจ้งถึงผลการพิจารณาญัตติของประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นได้ว่า การแจ้งข้อบกพร่องตามข้อ 176 ในหนังสือฉบับดังกล่าวนั้นไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ข้อ 176 กำหนด จึงเป็นการแจ้งข้อบกพร่องที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
ด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติของข้าพเจ้าและคณะเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 แต่กลับมีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2568 อันเป็นวันที่พ้นระยะเวลาเจ็ดวันตามที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนด
จากที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าและคณะขอยืนยันว่า ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของข้าพเจ้าและคณะนั้น ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ดังนั้น จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดต่อไป
@ เปิดคำตอบ ‘ประธานวันนอร์’
“…นอกจากนี้ การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในอดีตไม่เคยมีการระบุชื่อบุคคลภายนอกที่เป็นบุคคลธรรมดาไว้ในเนื้อหาของญัตติ แต่มีการใช้ถ้อยคำอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุชื่อบุคคลภายนอกโดยตรง เช่น การใช้คำว่า “อดีตนักการเมืองผู้สูญเสียผลประโยชน์” หรือคำว่า “บุคคลในครอบครัวกดปุ่ม สั่งการ” เป็นต้น หรือมีแต่เพียงการระบุชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต อาทิ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี 2529 เท่านั้น อีกทั้งการนำชื่อบุคคลภายนอกออกจากญัตติก็ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของญัตติฉบับนี้เปลี่ยนแปลงไป ผู้เสนอญัตติยังคงสามารถบรรยายให้เห็นถึงการกระทำของนายกรัฐมนตรีที่ถูกชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง…”
หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2796 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2568
เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
เรียน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านกับคณะได้โต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลและขอให้บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดต่อไป นั้น
ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาข้อโต้แย้งกรณีขอให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้ว เห็นว่า
ข้อ 1 อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาวินิจฉัยเนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ
มาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกระบวนการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงผลของการลงมติในญัตติ กล่าวคือ การห้ามมิให้มีการยุบสภาภายหลังเมื่อได้มีการเสนอญัตติ การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ จำนวนมติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเดิมแล้ว แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่เท่านั้น
แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้บัญญัติโดยตรงเกี่ยวกับอำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรในการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตรวจสอบเนื้อหา หรือความถูกต้องสมบูรณ์ของญัตติก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา และการเปิดอภิปรายทั่วไป ประกอบกับมาตรา 119 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจของดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ โดยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม และมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม
@ ยืนยันอำนาจตรวจสอบเนื้อหาในญัตติ
เมื่อข้อบังคับฯ ข้อ 176 กำหนดว่า “เมื่อประธานสภาได้รับญัตติตามข้อ 175 แล้ว ให้ทำการตรวจสอบ หากมีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ เมื่อประธานได้ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติแล้ว ให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วนและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ”
ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจว่ามีความสมบูรณ์และถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับฯ กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม ซึ่งในการตรวจสอบของประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้จำกัดเฉพาะการตรวจสอบข้อบกพร่องในเชิงข้อเท็จจริงหรือรูปแบบเท่านั้น แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบในเชิงเนื้อหาของญัตติด้วย
ซึ่งเทียบเคียงกับการตรวจสอบข้อบกพร่องของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการไว้ในมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ แต่มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับฯ ข้อ 111 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอมาตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญหากพบข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งให้ผู้เสนอทราบ ซึ่งในการแจ้งข้อบกพร่องให้ผู้เสนอทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขก็มีทั้งการแก้ไขข้อบกพร่องในเชิงเนื้อหาและในเชิงรูปแบบเช่นเดียวกัน เช่น การแจ้งข้อบกพร่องกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น
ดังนั้น การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติแล้วเห็นว่า การระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภา จึงมิใช่การใช้และการตีความกฎหมายที่ลุแก่อำนาจ แต่เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับฯ ให้อำนาจไว้
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 128 ประกอบมาตรา 119 และมาตรา 151 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ประกอบข้อ 176
ข้อ 2 การระบุชื่อบุคคลภายนอกในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 164 ได้กำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายของคณะรัฐมนตรีด้วย
ด้วยเหตุนี้ หน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจึงเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น เนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จึงต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธธรรมนูญ มาตรา 164 อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการบริหารราชการแผ่นดินไว้ในมาตรา 164 ความว่า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความชื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ซึ่งเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งของญัตติได้มีการระบุชื่อบุคคลภายนอกเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสมของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น
@ เทียบญัตติด่วน ตรวจสอบไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินไม่ได้
ประธานสภาจึงใช้อำนาจตามข้อบังคับฯ ข้อ 176 ในการตรวจสอบความถูกต้องในเนื้อหาของญัตติ และได้วินิจฉัยว่าควรตัดชื่อบุคคลภายนอกที่ปรากฏในญัตติออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกเพราะไม่สามารถเข้ามาชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมถึงญัตติอื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวอ้าง
เนื่องจากญัตติดังกล่าวเป็นการเสนอตามข้อบังคับฯ ข้อ 49 และข้อ 50 ซึ่งข้อบังคับฯ ข้อ 51 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ แล้วแจ้งให้ผู้เสนอทราบ และบรรจุญัตติด่วนเข้าระเบียบวาระการประชุม โดยไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้ประธานสภาต้องทำการตรวจสอบข้อบกพร่องแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และหากสภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะกรรมาธิการ ก็สามามารถเชิญบุคคลภายนอกที่ถูกกล่าวอ้างในญัตติมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการได้
นอกจากนี้ การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในอดีตไม่เคยมีการระบุชื่อบุคคลภายนอกที่เป็นบุคคลธรรมดาไว้ในเนื้อหาของญัตติ แต่มีการใช้ถ้อยคำอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุชื่อบุคคลภายนอกโดยตรง เช่น การใช้คำว่า “อดีตนักการเมืองผู้สูญเสียผลประโยชน์” หรือคำว่า “บุคคลในครอบครัวกดปุ่ม สั่งการ” เป็นต้น หรือมีแต่เพียงการระบุชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต อาทิ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี 2529 เท่านั้น อีกทั้งการนำชื่อบุคคลภายนอกออกจากญัตติก็ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของญัตติฉบับนี้เปลี่ยนแปลงไป ผู้เสนอญัตติยังคงสามารถบรรยายให้เห็นถึงการกระทำของนายกรัฐมนตรีที่ถูกชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง
ส่วนข้อบังคับฯ ข้อ 178 ที่กำหนดให้การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง เป็นกรณีที่ใช้ในการอภิปรายญัตติ เพื่อให้ประธานในที่ประชุมสามารถควบคุมการประชุมสภาให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ ข้อบังคับข้อฯ 39 เป็นกรณีที่มีการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องหรือไม่ และคำวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเด็ดขาดนั้น เป็นกระบวนการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก แต่ไม่ใช่แนวทางในการตรวจสอบญัตติของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับฯ ข้อ 176
ดังนั้น ประธานสภาจึงมีอำนาจในการวินิจฉัยญัตติก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระการประชุม โดยไม่จำเป็นต้องนำข้อบังคับฯ ข้อ 178 และข้อ 39 มาใช้เป็นแนวทางแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ใช่หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบญัตติแต่เป็นหลักเกณฑ์ในการอภิปรายและการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการอภิปราย
@ แจ้งด้วยวาจาแลัวไม่ถือว่าเกินกำหนด 7 วัน
ข้อ 3 การแจ้งข้อบกพร่องของญัตติให้ผู้เสนอทราบเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 176 วรรคหนึ่ง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน กับคณะ จำนวน 165 คน ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบความสมบูรณ์ก่อนเสนอประธานสภา พบว่า ลายมือชื่อของผู้ร่วมเสนอญัตติไม่ตรงกับตัวอย่างที่ให้ไว้กับสำนักงานฯ จำนวน 10 คน จึงได้ประสานกับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้เสนอหลักและนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการแก้ไขญัตติ
ซึ่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้เสนอญัตติจำนวน 8 คน ได้ยืนยันลายมือชื่อดังกล่าว และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้เสนออีก 2 ท่านที่เหลือได้มาลงลายมือชื่อยืนยันว่าเป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวจริง ดังนั้น จึงถือว่าลายมือชื่อของผู้เสนอญัตติดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธธธรรมนูญ มาตรา 151 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
จากนั้น สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอแฟ้มต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามข้อบังคับฯ ข้อ 176 และได้แจ้งให้ผู้เสนอหลักทราบถึงข้อบกพร่องของญัตติด้วยวาจาเพื่อดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ในวันที่ 6 มีนาคม 2568 และให้สำนักงานฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือแจ้งผู้เสนอญัตติอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2568
ดังนั้น เมื่อถือว่าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปมีผู้เสนอถูกต้องครบถ้วนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และประธานสภาได้แจ้งให้ผู้เสนอทราบด้วยวาจาในวันที่ 6 มีนาคม 2568 และแจ้งเป็นหนังสืออีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2568 จึงไม่ถือว่าเกินกำหนดระยะเวลาตามข้อบังคับฯ ข้อ 176 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว เห็นว่าการระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ จึงได้ขอความร่วมมือให้ท่านกรุณาแก้ไขข้อบกพร่องในญัตติดังกล่าว เพื่อให้การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน