จีนได้มีการส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำมาที่สนามบินแม่สอดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับพลเมืองของตัวเอง แต่ว่าสำหรับรัฐบาลอื่นๆที่เป็นเจ้าของพลเมืองที่เป็นเหยื่อแล้ว มีไม่กี่รัฐบาลที่มีศักยภาพในการทำเช่นเดียวกับจีนได้
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางการไทยได้มีความร่วมมือกับจีน ในการปราบปรามกลุ่มสแกมเมอร์ริมชายแดนไทยอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหาใหม่ที่กำลังจะตามมาก็คือว่าเมื่อมีการช่วยเหลือเหยื่อจากศูนย์ฉ้อโกงออกมาเป็นจำนวนมากแล้ว วิธีการจะส่งตัวคนเหล่านี้กลับประเทศต้นทางนั้นจะต้องทำอย่างไรกันแน่
โดยเรื่องนี้ไม่เคยมีการชี้แจงออกมาจากทางการไทยหรือกองกำลังที่เกี่ยวข้องมาก่อนเลย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงนำเอาบทความวิเคราะห์ในเรื่องนี้จากสำนักข่าวเอพีมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
@การบังคับใช้แรงงานสู่การกักขัง
เมื่อมีข่าวการปล่อยตัวเหยื่อผู้ที่ถูกกักขังในศูนย์ฉ้อโกงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลายพันคน อาชญากรฉ้อโกงที่เคยเป็นทาสใช้แรงงานตอนนี้พบว่าตัวเองถูกกักขังอย่างไม่มีกําหนด โดยไม่รู้ว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด
มีรายงานว่าเหยื่อผู้ถูกบังคับให้ทำงานอาชญากรส่วนมากแล้วถูกคุมขังในค่ายทหารของกองกำลังรักษาชายแดนกะเหรี่ยงหรือ BGF หรือถูกคุมขังในพื้นที่ศูนย์ฉ้อโกงที่ถูกแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่
เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่เหยื่อชายและหญิงเหล่านี้ อยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัย กองกำลัง BGF กล่าวว่าว่าผู้คนกว่า 7,000 คนถูกบังคับให้แออัดในพื้นที่ศูนย์เหล่านี้ ขณะที่จีนเริ่มขนส่งประชาชนของตัวเองกลับผ่านทางเครื่องบิน
"เรารู้สึกเหมือนว่าเราได้รับพรที่เราหลุดพ้นจากที่แห่งนั้น แต่แท้จริงแล้วคือตอนนี้ทุกคนแค่ต้องการกลับบ้าน" ชายชาวอินเดียวัย 24 ปี หนึ่งในเหยื่อที่ไม่ขอระบุนามกล่าวและกล่าวต่อไปอีกว่าเขามีความกังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะกองกำลังติดอาวุธที่เฝ้าอยู่ได้ยึดโทรศัพท์ของพวกเขาไป
ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน มีเหตุการณ์ทะเลาะกันระหว่างพลเมืองจีนที่รอกลับบ้านและกองกำลังความมั่นคงที่เฝ้าพวกเขา
มีรายชื่อที่ไม่ได้รับการยืนยันจากทางการเมียนมาระบุว่าพวกเขากําลังกักขังพลเมืองจาก 29 ประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์ เคนยา และสาธารณรัฐเช็ก
@ตั๋วเครื่องบินราคา 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทางการไทยกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถให้คำอนุญาตกับกลุ่มชาวต่างชาติเพื่อให้ข้ามแดนจากเมียนมามาไทยได้เว้นเสียแต่ว่าชาวต่างชาติเหล่านี้จะถูกส่งกลับบ้านทันที สิ่งนี้ส่งผลทำให้เหยื่อหลายคนต้องรอความช่วยเหลือจากสถานทูต ซึ่งต้องใช้เวลานาน
จีนได้มีการส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำมาที่สนามบินแม่สอดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับพลเมืองของตัวเอง แต่ว่าสำหรับรัฐบาลอื่นๆที่เป็นเจ้าของพลเมืองที่เป็นเหยื่อแล้ว มีไม่กี่รัฐบาลที่มีศักยภาพในการทำเช่นเดียวกับจีนได้ เช่นตอนนี้มีกรณีชาวเอธิโอเปียจำนวน 130 คน กำลังรออยู่ที่ฐานทัพทหารในประเทศไทย ซึ่งเหตุผลที่ชาวเอธิโอเปียยังติดค้างก็เพราะประเด็นเรื่องเงินค่าต๋วเครื่องบินมูลค่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,278 บาท) ขณะที่ชาวอินโดนีเซียอีกหลายสิบคน ถูกนำตัวขึ้นรถประจำทางเมื่อเช้าวันหนึ่ง ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับสัมภาระอีกเล็ก มุ่งหน้าไปยังกรุงเทพฯ เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน
เจ้าหน้าที่ไทยจะจัดการประชุมกับตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศในสัปดาห์นี้ โดยสัญญาว่าจะดําเนินการ "โดยเร็วที่สุด" ช่วยเหลือพลเมืองที่ยังติดอยู่ แต่ประเทศไทยตอนนี้มีศักยภาพในการรับคนเหล่านี้ได้เพียง 300 คนต่อวัน ลดลงจาก 500 คนก่อนหน้านี้
บทสัมภาษณ์เหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือ (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
สถานทูตอินเดียในกรุงเทพฯ ไม่ตอบสนองต่อคําขอให้แสดงความคิดเห็น ส่วนกระทรวงการต่างประเทศเช็กกล่าวว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าพลเมืองเช็กเป็นหนึ่งในเหยื่อผู้ที่ถูกส่งกลับประเทศ แต่กระทรวงต่างประเทศเช็กได้มีการติดต่อกับสถานทูตในกรุงเทพฯ และในย่างกุ้งแล้วเกี่ยวกับปัญหานี้ แต่จนถึงตอนนี้สถานทูตเช็กยังไม่ได้รับคำขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด
นางเอมี่ มิลเลอร์ ผู้อํานวยการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กร Acts of Mercy International ซึ่งเธอประจําอยู่ที่ชายแดนไทย-เมียนมา กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่โลกจะเข้าใจว่าทําไมแรงงานทาสที่ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดจึงไม่เป็นอิสระ
“คุณสามารถยืนอยู่ที่ชายแดนมองเห็นผู้คนเหล่านี้ด้วยตาเปล่า ว่าพวกเขาอยู่ภายในศูนย์ฉ้อโกง อยูบนระเบียง ในบริเวณเหล่านี้ แต่เราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้" เธอกล่าว และชี้ไปยังตึกแห่งหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามสะพานมิตรภาพในฝั่งเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ช่วงตึกและกล่าวต่อไปว่า "ฉันคิดว่าสิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจก็คือการเข้าสู่ประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นเหมือนการประกาศสงคราม รัฐบาลคุณไม่สามารถเข้าไปรับคนเหล่านี้ออกไปได้”
@ความช่วยเหลือที่มีน้อยมาก
หน้าที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอสำหรับงานนี้คือการช่วยเหลือเหยื่อที่มาจากประเทศที่มีทรัพยากรน้อย แต่เอ็นจีโอเหล่านี้ก็มีเงินทุนที่จำกัดเช่นกัน
"เมื่อเราดูตัวเลขคนหลายพันคน ความสามารถในการส่งพวกเขาข้ามไปยังฝั่งไทย การหาทรัพยากรเลี้ยงดูพวกเขา เรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้สําหรับรัฐบาลส่วนใหญ่ ดังนั้นมันต้องการการตอบสนองในระดับทั่วโลกจริงๆถึงจะแก้ปัญหานี้ได้" นางมิลเลอร์กล่าว
ทว่าเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมวิกฤตก็คือเมื่อไม่นานมานี้มีการระงับการระดมทุนช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อย่างกะทันหัน ส่งผลทำให้การให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ทำงานศูนย์ฉ้อโกงซึ่งได้รับการปล่อยตัวเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติเคยให้ทุนดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกหลอกลวงในกัมพูชา แต่ว่าการให้ทุนดังกล่าวก็ต้องหยุดลง หลังจากรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกประกาศในเดือนมกราคม ว่าจะระงับเงินช่วยเหลือต่างประเทศหรือ USAid การระงับการระดมทุนยังส่งผลกระทบต่อเครือข่ายกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทํางานเพื่อหยุดการค้ามนุษย์และช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงกล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งให้สำนักข่าวเอพีตอนหนึ่งยืนยันว่าสหรัฐฯยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปฏิบัติการหลอกลวงฉ้อโกงที่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กระทบกับชาวอเมริกันและคนอื่นๆอีกหลายประเทศ
ขณะที่นายโจ ฟรีแมน นักวิจัยจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าสิ่งที่เราเห็นที่ชายแดนไทย-เมียนมาในขณะนี้เป็นผลมาจากการไม่ดําเนินการหลายปีต่อวิกฤตการค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนหลายพันคน ซึ่งหลายคนแค่แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ถูกล่อลวงให้เข้ามาทำงานที่ศูนย์ฉ้อโกงเหล่านี้ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
@ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ
ยังไม่ชัดเจนว่าการช่วยเหลือและปล่อยตัวเหยื่อเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของกลุ่มอาชญากรที่ฉ้อโกงหลอกลวงมากน้อยเพียงใด
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นครั้งที่สามแล้วที่ทางการไทยได้ดำเนินการตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตไปยังเมืองฝั่งตรงข้ามในเมียนมา แต่ทุกครั้งที่มีการดำเนินการตัดไฟและเน็ต ศูนย์ฉ้อโกงก็มักจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยศูนย์ฉ้อโกงขนาดใหญ่มักจะสามารถเข้าถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลได้ เช่นเดียวกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการด้วยดาวเทียมสตาร์ลิงก์
นายเบเนดิกต์ ฮอฟฟ์แมน รักษาการผู้แทนสํานักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมในภูมิภาคกล่าวว่าทรัพยากรเป็นสิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่ขาด และพวกเขาสามารถนํามาใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธได้จัดฉากว่าดำเนินการปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงในเมียวดีแล้ว เนื่องจากว่า พล.อ.ซอวื ชิต ตู่ ผู้นำกลุ่ม BGF นั้นก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกคว่ำบาตรจากทั้งสหราชอาณาจักร และยุโรปในข้อหาการค้ากำไรจากการหลอกลวงและการค้ามนุษย์
ข่าวทางการไทยตัดไฟศูนย์ฉ้อโกง (อ้างอิงวิดีโอจากเรดิโอฟรีเอเชีย)
ยิ่งไปกว่านั้นนักเคลื่อนไหวได้ออกมากล่าวว่ามีศูนย์ฉ้อโกงอีกไม่น้อยที่พบว่าอยู่ในการควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธหรือว่า DKBA ซึ่งข้อมูลศูนย์ฉ้อโกงภายใต้ DKBA นั้นอยู่ในบันทึกสาธารณะน้อยกว่าความเป็นจริง
“เห็นได้ชัดว่ามีแรงกดดันอย่างมากต่อกองกําลัง BGF ให้ดําเนินการ และการช่วยเหลือผู้คนให้ออกไปเป็นวิธีที่ดูเหมือนว่าจะสร้างภาพว่ามีความชัดเจนมากที่สุด” นายฮอฟฟ์แมนกล่าวและกล่าวอีกว่ามีแนวโน้มที่ศูนย์ฉ้อโกงในอนาคตจะปรับรูปแบบธุรกิจโดยลดจํานวนคนที่เกี่ยวข้องให้น้อยลง เพื่อให้เป็นเป้าสายตาน้อยลงและดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่สะดุดตา
นายฮอฟฟ์แมนกล่าวย้ำว่า จะต้องใช้แรงกดดันพร้อมกันในหลายพื้นที่เพื่อจะปิดศูนย์ฉ้อโกงให้ได้อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้นในการปราบปรามครั้งนี้ยังไม่พบว่ามีการดำเนินการคดีกับรายใหญ่หรือการปิดศูนย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
เรียบเรียงจาก:https://apnews.com/article/myanmar-thailand-scam-centers-trapped-humanitarian-c1cab4785e14f07859ed59c821a72bd2