“…4 เสียงที่ไม่เห็นด้วยให้รับเป็นคดีพิเศษ คือ นายนพดล เกรีฤกษ์ ตัวแทนจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ตัวแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ขณะที่นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ตัวแทนจากอัยการสูงสุด งดออกเสียง…”
คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติ ‘เสียงข้างมาก’ 11 เสียง จากกรรมการ กคพ.ทั้งหมด 18 คน เห็นชอบรับ ‘คดีฮั้วเลือก สว.’ เป็น ‘คดีพิเศษ’ อาศัยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 11 กำหนดให้การประชุม กคพ. ให้นำบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาบังคับใช้โดยอนุโลก ซึ่งให้นับเสียงข้างมากของที่ประชุมตัดสิน-ชี้ชาด
“เราได้พิจารณาเห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษ 11 เสียง ไม่เห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ด้วยเหตุผลที่บางท่านจะมีบทบาทเกี่ยวข้องในการชี้ขาดหลายเรื่องต่อไปจึงงดออกเสียง”นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธาน กคพ. แถลงผลการลงมติรับคดีเลือกสว.ไว้เป็นคดีพิเศษ
อ่านประกอบ : กคพ.มีมติเสียงข้างมากรับ ‘ฮั้วเลือกสว.’ เป็นคดีพิเศษ ฐานฟอกเงิน-ความผิดอาญาเกี่ยวเนื่อง
@ บอร์ดคดีพิเศษ ชี้ขาด รับเป็นคดีพิเศษ อั้งยี่-ฟอกเงิน
ภายหลัง ‘บอร์ดคดีพิเศษ’ ใช้เวลาในการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ในการประชุมวันที่ 6 มีนาคม 2568 (เลื่อนประชุมมา 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 : อ่านประกอบ อินไซด์ ‘บอร์ด กคพ.’ เลื่อนลงมติ ‘คดีฮั้วเลือกสว.’ เลขาฯกฤษฎีกา หวั่น โดน ‘ม.157’) ก่อนจะออกมาแถลงข่าว-เผยแพร่เอกสารข่าวอย่างเป็นทางการ
บอร์ด กคพ. มีมติวินิจฉัยชี้ขาดให้ กรณี การสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ ที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก เมื่อ พ.ศ. 2567 เป็นคดีพิเศษ
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้จัดการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการคดีพิเศษ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมในฐานะกรรมการคดีพิเศษ และมี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 18 คน
@ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประธาน กคพ. @
การประชุมวันนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ในวาระเพื่อพิจารณา กรณี ร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (สำนวนสืบสวนที่ 151/2567) เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคดีพิเศษที่จะพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายและมีมติให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษนำเรื่องกลับไปรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและเสนอเรื่องผ่านอนุกรรมการกลั่นกรอง ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษอีกครั้งในวันนี้
โดยที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง เสนอความเห็นว่า กรณีนี้พบมูลความผิดทางอาญาฐานอั้งยี่ ซึ่งความผิดอาญาฐานอั้งยี่เป็นความผิดมูลฐานของความผิดอาญาฐานฟอกเงิน โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กำหนดรายละเอียดความผิดไว้ และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะพิจารณามีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้
@ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธาน กคพ. @
แม้คดีอาญามูลฐาน คือ ฐานอั้งยี่ จะเป็นคดีอาญาอื่นที่มิใช่คดีพิเศษ แต่เนื่องจากยังมีประเด็นข้อสงสัยว่าการคิดมูลค่าความเสียหายหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานอั้งยี่นั้นมีมูลค่าตั้งแต่สามร้อยล้านบาทขึ้นไปหรือไม่อย่างไร จึงขอเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 21 วรรคห้า และขอแก้ไขชื่อเรื่อง เป็น กรณี การสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เสนอมาพิจารณา
หลังจากการประชุม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนชื่อเรื่องตามเสนอ และมีมติชี้ขาดให้ กรณี การสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอมา เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
@ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ กคพ. @
ส่วนคดีอาญาใดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษดังกล่าว เช่น คดีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 รวมทั้งความผิดตามมาตรา 116 และการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฟอกเงินทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 วรรคท้าย ย่อมเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง ที่จะทำการสอบสวนต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีมติให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1) อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน กกต. ให้แจ้งสำนักงาน กกต. ทราบเพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
@ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ กรรมการและเลขานุการ กคพ. (คนกลาง) @
@ อนุกรรมการกลั่นกรองฯ ชง 2 แนวทาง
ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธาน
โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กคพ. พิจาณา สองกรณี กรณีที่ 1 คือ การกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 209 มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)
กรณีที่ 2 คือ การกระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินอันเนื่องมาจากความผิดมูลฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77 (1)
กรณีนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง มีข้อสงสัยว่าการเสนอเป็นคดีความผิดมูลฐาน อันเป็นคดีความผิดอาญาอื่นมีข้อเท็จจริงอันน่าเชื่อว่ามีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไปหรือไม่ และเห็นควรให้เสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยหรือชี้ขาดตาม มาตรา 21 วรรคห้า ประกอบข้อ 6 แห่งประกาศ กคพ. ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
@ กฤษฎีกา นำทีม 4 เสียง ไม่เห็นด้วย
แหล่งข่าวจากที่ประชุมบอร์ดคดีพิเศษ เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เล่าเบื้องหลัง ‘เสียงข้างน้อย’ ว่า 4 เสียงที่ไม่เห็นด้วยให้รับเป็นคดีพิเศษ คือ นายนพดล เกรีฤกษ์ ตัวแทนจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ตัวแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ขณะที่นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ตัวแทนจากอัยการสูงสุด งดออกเสียง เนื่องจากต้องมีตัวแทนจากพนักงานอัยการเข้ามาเป็นร่วมสอบสวนในคณะพนักงานสอบสวนที่จะตั้งขึ้นตามมติกคพ.ในวันนี้ (6 มี.ค.68)
“ประเด็นวันนี้ คือ หนึ่ง ไม่มีการพิจารณาลงมติเลือกสว. เป็นคดีพิเศษ เพราะเป็นอำนาจของกกต. สอง ขอมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้รับคดีฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเป็นอำนาจของดีเอสไอ ตามที่มีกฎหมายดีเอสไอ กำหนด”
แหล่งข่าวระบุว่า ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงกันคือ 1. มูลค่าความเสียหาย หรือ วงเงินถึง 300 ล้านบาท หรือไม่ กรรมการ กคพ.ที่ไม่รับ เพราะเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นถึงวงเงิน 300 ล้านบาท เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานของ ดีเอสไอ 2. การเสนอให้ลงมติรับเป็นคดีพิเศษ มีมูลฐานความผิดตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินหรือไม่ และมีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ บุคคลใด เป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอ ยังไม่ได้ให้รายละเอียด ชี้แจงเพียงแค่ว่ามีผู้ร้องทุกข์แล้ว
ขั้นตอนหลังจากนี้กระบวนการสอบสวนของดีเอสไอจะมีการตั้ง ‘คณะพนักงานสอบสวน’ เข้าสู่โหมดสอบปากคำพยาน-เสาะหาหลักฐาน และแกะรอยเส้นเงิน ส่วนจะขยายผลถึงไหน โยงเครือข่ายกลุ่มใด-สาวถึงใคร โปรดจับตาด้วยใจระทึก