“...รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธารจะอยู่ครบวาระ 4 ปีหรือไม่ รองเลขาธิการพรรคและรมช.คมนาคมกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะทำตามนโยบายที่สัญญากับประชาชนได้ไหม รัฐมนตรีที่กำกับแต่ละกระทรวงต้องทำงานหนัก และแก้ปัญหาของประชาชน ที่สำคัญคือ อย่าให้มีเรื่องทุจริต ทำงานตรงไปตรงมาและสื่อสารกับประชาชน…”
เข้าปีที่ 2 ของรัฐบาล ‘ข้ามขั้ว สลายความขัดแย้ง’ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
โดยขวบปีแรกของรัฐนาวามี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่แล้วเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 นายเศรษฐาเป็นอันต้องพ้นไปจากตำแหน่ง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
ปิดฉากรูดม่านนายกฯเศรษฐา ที่ทำสถิติค้ำบัลลังก์ประมุขฝ่ายบริหาร 358 วัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวอำลาตำแหน่งที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67
แต่ต้องถือเป็นเกมเร็วของฝั่งรัฐบาลที่รวบรัดไม่รอรี สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้าสรุปทุบโต๊ะเคาะชื่อ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย
แม้จะเป็นเวลาไม่นานเพียง 79 วัน (เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการโปรดเกล้าฯคือ วันที่ 18 ส.ค. 2567 - วันที่ 8 พ.ย. 2567) ที่มีประเทศไทยมีนายกฯหญิงคนที่ 2 และเป็นนายกฯนามสกุลชินวัตรคนที่ 3 ต่อจาก ‘ทักษิณ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ แต่ต้องยอมรับว่า ประชาชนล้วนคาดหวังการแก้ปัญหาจากรัฐบาลชุดนี้ บวกกับกระแสที่ยังไม่ดีนัก เพราะคนยังไม่เห็นผลงานระดับท็อปๆเหมือนสมัย ‘พ่อ’ และ ‘อา’ แรงกดดันจึงถาโถมสู่นายกฯแพทองธารอย่างหนัก
จากความนิยมที่ยังไม่เกิดนี้ แน่นอนว่าย่อมเป็นโจทย์สำคัญที่เหล่าบรรดากุนซือนักการเมืองยี่ห้อเพื่อไทยต้องนำไปขบคิด เพื่อรังสรรค์ผลงานให้เข้าตาประชาชนเสียที
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสนายกฯ-รัฐบาลยังไม่มีสัญญาณฟื้น แต่ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีกุนซือหญิงคนหนึ่งที่ยังพอสอยผลงานให้มาชื่นชมได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ ‘มนพร เจริญศรี’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะสส.นครพนมและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยถึงสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยยามนี้
@ยุคแพทองธาร ภารกิจสภาฯรายงานตรง
นางมนพรกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลส่งไม้ต่อให้นางสาวแพทองธารแล้ว บรรยากาศการทำงานไม่ได้แตกต่างจากสมัยนายเศรษฐา ทวีสินนัก แถมหลายนโยบายจากยุคนายเศรษฐา รัฐบาลนี้ก็ยังสานต่อแต่การพูดคุยอาจจะมีมากกว่า ด้วยเพราะทั้งนางสาวแพทองธารและตนเองก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน บางเรื่องเมื่อคุยกันจึงอาจเข้าใจกันมากกว่า และนางสาวแพทองธารไม่ถือตัว แถมสอนวิธีคิดดีๆให้ทีมงานทุกคน อีกทั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคเอง และมีวินัยในการเข้าประชุมพรรคทุกสัปดาห์ ความสนิทสนมกับสมาชิกพรรคและ สส.จึงห่างกันไม่มาก
เมื่อถามถึงการที่ทุกๆวันอังคารที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มักจะปรากฎภาพที่นางมนพรเดินอยู่ข้างหลังนางสาวแพทองธาร แสดงว่ามีความสนิทกันหรือไม่ นางมนพรกล่าวว่า ตัวเองเป็นเพียงลูกพรรคคนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่มักจะเห็นภาพเดินมากับนายกรัฐมนตรี เพราะว่าทุกๆวันอังคาร ก่อนการประชุมครม. จะมีหน้าที่รายงานภารกิจที่เกี่ยวกับการทำงานกับฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร เพราะตัวเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ด้วย
“การรายงานหลักๆ ก็จะเป็นพวกกำหนดการสำคัญๆต่างๆว่า แต่ละสัปดาห์มีการประชุมเรื่องอะไร? มีกระทู้ถามสดจากฝ่ายค้านในประเด็นไหนบ้างและควรให้ใครไปตอบ? และมีร่างกฎหมายอะไรที่จะต้องผลักดันต่อ? ส่วนนายกฯก็จะถามไถ่ความเป็นอยู่ของ สส.ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจุดนี้จะต่างกับสมัยนายกฯนิด (เศรษฐา ทวีสิน) เพราะยุคนายกฯนิด ท่านจะให้รายงานผ่านหมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) แต่ยุคของนายกฯอิ๊ง ท่านจะบอกเลยว่า ให้มารายงานทุกเช้าวันอังคาร” นางมนพรกล่าว
นอกจากงานสภาฯแล้ว นางมนพรยังบอกกับสำนักข่าวอิศราด้วยว่า ในการลงพื้นที่แต่ละจังหวัดของนายกฯ เธอคือคนที่คอยบริหารจัดการประสานงานกับ สส. ในแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสส.จากพรรคใดก็ตาม เพราะเมื่อนายกฯลงพื้นที่ใดแล้ว คนที่ได้เครดิตควรเป็น สส.ในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น นายกฯจึงไม่มีระยะห่างจาก สส.เท่าไหร่นัก
@จับตา ธ.ค. 67 ’แพทองธาร’ เตรียมไปตอบกระทู้สภาครั้งแรก
นางมนพรกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจบทบาทของสภาฯแล้ว แต่เนื่องจากช่วงที่เข้ามารับตำแหน่ง เกิดวิกฤติอุกภัยในหลายพื้นที่ จึงคาดกันว่าในสมัยประชุมหน้าช่วงเดือน ธ.ค. 2567 นี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตอบกระทู้ที่สภาฯเอง
เมื่อถามต่อว่า นอกจากงานสภาฯแล้ว นายกรัฐมนตรีปรึกษาเรื่องอะไรอีก นางมนพรกล่าวว่า นอกจากเรื่องสภาฯ นายกฯก็จะถามเกี่ยวกับโครงการในกระทรวงคมนาคมและงานพื้นที่ของพรรคว่า นโยบายที่ทำไปและยังไม่ได้ ชาวบ้านเขาว่าอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างนโยบายดิจิทัลวอลเลตที่แจกกลุ่มคนเปราะบางไปแล้วส่วนหนึ่ง ชาวบ้านที่ได้ไปเขารู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วคนที่ยังไม่ได้เขารู้สึกอย่างไร ก็มีหลากหลายความเห็นทั้งการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแจกกลุ่มคนเปราะบาง คนชรา คนพิการก่อน หรือเรื่องราคาผลิตผลทางการเกษตรทั้งชาวนา ราคายาง ราคามันสำปะหลัง ซึ่งเท่าที่เคยหรือกันนายกรัฐมนตรีก็ดูเข้าใจประเด็นดี
“อย่างการแจกเงินชดเชยน้ำท่วมที่ผ่านมาที่มีการแบ่งการจ่ายตามความเสียหาย พอนายกฯมีโอกาสลงไปเห็นจริงก็ให้ปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินชดเชยใหม่ทันที ดิฉันว่า DNA ของเขา (แพทองธาร ชินวัตร) มันมีต่อกันมา เพราะมีการสั่งการทุกกระทรวง กรม กองว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง นอกจากนี้นายกฯยังได้รับความไว้วางใจจากภาคเอกชนด้วย” นางมนพรระบุ
@นายกฯ Born to Be
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แม้ความสามารถในการบริหารงานการเมืองจะพอมีบ้างจากคำชี้แจง แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มีบางส่วนที่วิจารณ์ว่านางสาวแพทองธารยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ขาดความรู้ความสามารถ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า อยู่ที่คววามถนัดของแต่ละเนื้องาน ส่วนการที่นายกฯยังอ่อนพรรษาทางการเมือง ก็ต้องถามกลับไปว่า คนถามนับที่อายุหรือนับกี่ปีถึงจะเรียกว่ามีพรรษาทางการเมือง แต่จากความทุ่มเทและความใส่ใจของนายกฯ ก็ใช้เวลาสั้นมากในการเรียนรู้จากคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร) จากคณะบุคคล คนรอบข้าง ไม่มีใครเก่งทั้งหมด แต่การเปิดโอกาสให้คนๆหนึ่งที่ผ่านการให้ความเห็นชอบของ สส.ในสภาฯ ทุกพรรคก็โหวตให้นางสาวแพทองธารเป็นนายกฯ
“แน่นอน ท่านนายกฯต้องใช้เวลาสั้นที่สุดในการเรียนรู้งาน เรียนรู้คน เรียนกฎหมายและระเบียบต่างๆ นายกฯคือ Head of Government แต่มีองค์คณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแต่ละกระทรวง การที่นั่งหัวโต๊ะแล้วตัดสินใจเรื่องสำคัญๆต่างหาก เพราะเป็นการบริหารประเทศแบบคณะบุคคล ไม่ใช่คนๆเดียวตัดสินใจ แล้วมีฝ่ายข้าราชการคอยสนับสนุน ส่วนตัวคิดว่านายกฯเรียนรู้งานได้เร็ว เปิดใจรับฟังทุกความเห็น เพราะท่านก็บอกคนที่ทำงานด้วยกันเสมอว่า อิ๊งไม่ได้รู้ทุกเรื่องนะ บอกอิ๊งด้วยนะ จะได้รู้ คุณอิ๊ง Born to Be มาเป็นตำแหน่งนี้” นางมนพรกล่าว
@บริบทการเมืองเปลี่ยน ยากจะล้มรัฐบาล
แม้จะบริหารประเทศมาเพียง 71 วัน แต่รัฐบาลนี้ก็เริ่มจะเจอแรงเสียดทานทางการเมืองบ้างแล้ว ทั้งการต่อต้านการลงสมัครประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีข่าวลือถึงการมาของ ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่มีสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย หรือการออกมาเคลื่อนไหวกรณีเกาะกูด นายกรัฐมนตรีจะฝ่าด่านเหล่านี้ไปได้หรือไม่ นางมนพรมองว่า เรื่องเหล่านี้ถือเป็นโอกาสและความท้าทายในการอธิบายความ และต้องไม่ถูกปกปิดข้อเท็จจริง และอีกด้านหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่า เมื่อความนิยมของนายกฯเริ่มมากขึ้น ประเด็นพวกนี้ก็อาจจะถาโถมเข้ามา แต่ในภาพใหญ่ของประเทศยังเป็นแบบ ‘คนบ้านนอกตั้งรัฐบาล คนในเมืองล้มรัฐบาล’ ซึ่งเท่ากับว่ามีคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล และสถานการณ์วันนี้บริบททางการเมืองเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
@รัฐบาลอยู่ครบวาระ มีหลายปัจจัย
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลที่มาประกอบร่างครั้งนี้ นางมนพรกล่าวว่า นางสาวแพทองธารมีเสน่ห์ในการเข้าหาผู้ใหญ่ อย่างพี่หนู (อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) นายกฯจะเรียกอาหนูๆทุกคำ แม้สถานะจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เวลาอยู่นอกเวลางานก็ถอดหัวโขนออก ก็จะทำให้ทุกอย่างมันซอฟต์ลง นางสาวแพทองธารมีมือมีไม้ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังคอยช่วยเหลือเต็มที่
เมื่อถามอีกว่า รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธารจะอยู่ครบวาระ 4 ปีหรือไม่ รองเลขาธิการพรรคและรมช.คมนาคมกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะทำตามนโยบายที่สัญญากับประชาชนได้ไหม รัฐมนตรีที่กำกับแต่ละกระทรวงต้องทำงานหนัก และแก้ปัญหาของประชาชน ที่สำคัญคือ อย่าให้มีเรื่องทุจริต ทำงานตรงไปตรงมาและสื่อสารกับประชาชน
@ ‘ทักษิณ’ เหมือน พระผู้ใหญ่
การสนทนาเคลื่อนมาสู่ประเด็นสุดท้ายคือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลไม่พ้นข้อครหาว่า มีนายทักษิณเป็นนายกฯตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังนั้น นางมนพรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่านายกฯทักษิณคืออดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จิตวิญญาณนี้ส่งต่อไปที่พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ความคิดอ่านที่มีประโยชน์ของพรรคก็มาจากท่าน เหมือนเป็นพระผู้ใหญ่ในวัด ใครมีปัญหาก็ไปปรึกษา ใครทุกข์ใจก็ไปอาบน้ำมนต์ เหมือนกัน นายกฯทักษิณก็เป็นแบบนี้ และท่านมีทางออกและคำแนะนำในหลายๆด้าน มันห้ามไม่ได้ถ้าคนจะไปหาท่าน
“อย่างวันที่ลงพื้นที่แล้วบอกว่านายกฯอิ๊งจะไปทอดกฐิน ชาวบ้านก็ถามกันว่า พ่อใหญ่ทักษิณมาบ่? หรือตอนแจกเงินหมื่น ชาวบ้านก็ขอบคุณแล้วบอกว่า เงินพ่อใหญ่ทักษิณถึงมือข่อยแล้วนะ เพราะนางสาวแพทองธารคือลูกหมู่เฮาเนอ ลูกนายกฯทักษิณเป็นนายกฯนะ” นางมนพรกล่าวอีก
บทสนทนาทางการเมือง จบลงเท่านี้
แม้กุนซือสาวของพรรคเพื่อไทย จะนอนยันนั่งยันว่า รัฐนาวาพรรคเพื่อไทยที่มีพระผู้ใหญ่ 'ทักษิณ ชินวัตร' เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณจะฝ่าคลื่นลมไปสู่หลักชัยปีที่ 4 ของรัฐบาล
แต่ต้องไม่ลืมว่า การล่มสลายของรัฐบาล DNA นี้ ไล่ตั้งแต่ ทักษิณ-ยิ่งลักษณฺ-สมัคร-สมชาติ บ่อเกิดล้วนมาจากเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ดูเบาแทบทั้งสิ้น
ท่ามกลางมหาสมุทรทางการเมือง ต้องจับตาว่าการดำเนินไปของรัฐบาลเพื่อไทยครั้งนี้ จะราบรื่นถึงฝั่งได้ตลอดทางหรือไม่?
หรือจุดจบจะซ้ำรอยอีกครั้ง?