"...ประเด็นที่น่าสนใจ บรรดา ‘นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ยังมีหลายคนถูกศาลพิพากษาจำคุก บางคนถูกคุมขังระหว่างรอการไต่สวนในชั้นศาล หรือชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยที่พวกเขาเหล่านี้ก็เฝ้ารอคอย และจับตาดูการตรากฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่า ‘นักเลือกตั้ง’..."
การจุดพลุ ‘นิรโทษกรรม’ เกิดขึ้นมาแล้วหลายยุค หลายรัฐบาล เช่นเดียวกับใน ‘รัฐบาล’ หลังการเลือกตั้งปี 2566 ทั้งยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จนมาถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกฯคนที่ 31 ก็มีการหยิบยกแนวคิดนิรโทษกรรม ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาใน ‘คดีทางการเมือง’ กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการโยนหินนิรโทษกรรมในรัฐบาลชุดนี้ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม
เพราะเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก ‘ไม่เห็นชอบ’ ข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ. นิรโทษกรรมฯ)
@ แพทองธาร ชินวัตร
จุดเริ่มต้นของการศึกษาแนวทางก่อนตรากฎหมาย ‘นิรโทษกรรม’ ครั้งนี้ ถูกเดินเครื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 หลังจากทุกพรรคการเมืองโฟกัสนโยบาย ‘ปรองดอง-สมานฉันท์’ ขึ้นมา ทำให้ที่ประชุมสภาฯตั้ง กมธ.นิรโทษกรรมฯ ขึ้น นำโดย ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน และมีตัวแทนทุกพรรคการเมือง รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาร่วมจัดทำด้วย
สำหรับ 6 ข้อสังเกตที่ประเด็นร้อนตอนนี้ ได้แก่ 1.ขอให้ ครม.ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อคืนความปรองดองสมานฉันท์ 2.ให้ใช้ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม สำหรับคดีที่ควรได้รับนิรโทษกรรม 3.ฐานความผิดที่จะได้นิรโทษกรรม ควรยึดจากแรงจูงใจทางการเมือง ส่วนฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท) และมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท) เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การนิรโทษกรรมมาตรา 110 และมาตรา 112 ต้อง ‘มีเงื่อนไข’
4.ไม่นิรโทษกรรมคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ฐานฆ่าผู้อื่น) มาตรา 289 (ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์) 5.ในช่วงที่ ครม.ยังไม่ตรากฎหมายนิรโทษกรรม ควรอำนวยความยุติธรรมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งรัดการสอบสวน รวมถึงคดีในชั้นอัยการ ให้เร่งพิจารณาสั่งฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้อง เฉพาะกรณีความผิดที่เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมือง และ 6.คืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ได้รับนิรโทษกรรม
โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวจาก ‘พรรคสีส้ม’ ที่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น เพื่อเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้ใครบางคนหรือไม่นั้น ฟาก ‘อดีตแกนนำสีส้ม’ ทั้ง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช’ ให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่า ไม่เป็นบุคคลที่เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรมดังกล่าว หรือต่อให้เข้าข่าย ก็ยืนยันว่าจะไม่รับอย่างแน่นอน
ขณะที่ในกลุ่มขั้วสีแดง ปัจจุบันมีแค่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ จาก ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เพียงคนเดียว ที่ยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อยู่ในชั้นศาล โดยศาลนัดสืบพยานปากแรกวันที่ 1 ก.ค. 2568
ประเด็นที่น่าสนใจ ก่อนการลงมติในสภาฯดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวจากบรรดาหลายพรรคการเมือง แม้แต่ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเอง แสดงจุดยืน ‘คัดค้าน’ ข้อสังเกตดังกล่าว เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เป็นต้น โดยเฉพาะเงื่อนปมการนิรโทษกรรม บุคคลที่ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ‘มาตรา 112’ ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขก็ตาม
แม้แต่ในปีกพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีบางคนแสดงท่าที่ ‘งดให้ความเห็น’ เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยโยนไปให้ที่ประชุมสภาฯ เป็นคนตัดสิน คงเหลือแค่ ‘ปีกเสื้อแดงเดิม’ ภายในพรรค เช่น ‘หมอเชิดชัย ตันติศิรินทร์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำแดงภาคอีสาน เหน็บแนมว่า สาเหตุที่สภาฯไม่ผ่านข้อสังเกตในรายงานศึกษาดังกล่าว เพราะ “ขี้ปอด”
“ผมมองว่าเรื่องแบบนี้ต้องกล้าหาญหน่อย เพราะเป็นเรื่องที่หากจะไปพูดที่อื่นก็ไม่เหมาะ ก็ต้องพูดในที่เปิดเผย และต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าเราไปพูดเรื่องสถาบัน เพียงแค่เราจะดูว่ามีแนวทางใดที่จะช่วยผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบัน แต่คนกลับเข้าใจผิดว่าจะไปยกเลิกมาตรา 112 มันไม่ใช่” นพ.เชิดชัย กล่าว
@ หมอเชิดชัย ตันติศิรินทร์
เบื้องต้นในวันที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทย บรรดา สส.ทั้ง 2 ปีกดังกล่าว น่าจะแสดงความเห็นกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เพราะเกี่ยวโยงไปถึงฐานมวลชน ‘คนเสื้อแดง’ หลายคนที่ปัจจุบันแตกกระสานซ่านเซ็น บางคนกลายเป็น ‘ด้อมส้ม’ บางคนกลับมาภักดีกับ ‘ชินวัตร’ เข้าร่วม ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ บางคนยังคิดไม่ตกว่าควรสนับสนุนพรรคไหน เป็นต้น ซึ่งพันไปถึงการประเมินการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ต้องต่อสู้กับ ‘พรรคสีส้ม’ อย่างเต็มรูปแบบ
ประเด็นที่น่าสนใจ บรรดา ‘นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ยังมีหลายคนถูกศาลพิพากษาจำคุก บางคนถูกคุมขังระหว่างรอการไต่สวนในชั้นศาล หรือชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยที่พวกเขาเหล่านี้ก็เฝ้ารอคอย และจับตาดูการตรากฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่า ‘นักเลือกตั้ง’
สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เก็บรวบรวมตั้งแต่ พ.ย. 2563 เป็นต้น จนถึง 20 ต.ค. 2567 พบว่า มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 275 คน จำนวน 307 คดี โดยในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดี 20 คน รวม 24 คดี โดยมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 77 คดี อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี
ในจำนวนข้างต้นมีคดีที่ประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 162 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 59 คดี คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 72 คดี คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 169 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี
ส่วนแกนนำการชุมนุมในช่วง ‘ม็อบราษฎร’ มีอย่างน้อย 12 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา 14 คดี โดยศาลตัดสินไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 20 วัน พริษฐ์ ชิวารักษ์ 25 คดี ศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวได้หลบหนี และลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เช่นเดียวกับ ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี ศาลตัดสินแล้ว 1 คดีโทษจำคุก 4 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีหมายจับ และลี้ภัยเช่นกัน
ที่เหลือก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดี เช่น ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ไบรท์ ในช่วงหลังตีจากกลุ่มม็อบราษฎรออกมา) 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี และ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี เป็นต้น
ยังไม่นับบรรดาแกนนำแถว 2-3 หรือมวลชนคนอื่น ๆ ที่ยังมีคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือหลายคนถูกศาลพิพากษาจำคุก หรือถูกคุมขังระหว่างการไต่สวน หรือการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนอยู่
ทั้งหมดคือฉากเหตุการณ์เกี่ยวกับแนวคิด ‘นิรโทษกรรม’ ครั้งล่าสุด ที่ดูส่อแววว่าจะล่ม และคงจะจางหายไปจากความทรงจำของ ‘นักเลือกตั้ง’ บางคน
ก่อนที่จะถูกจุดพลุขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อใกล้เลือกตั้ง วนลูบอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ?