จะมีการเก็บข้อมูลจากการวิ่ง อาจจะสามเดือน หรือหกเดือนแล้วแต่ เพื่อกลับไปดูว่าสิ่งที่เขาได้แก้ไขปัญหามันแล้วเสร็จแล้วก็จบ แต่ปัญหาที่ว่าล้อหล่นคงจะไม่มีแล้ว เพราะว่ามันมีตัวน็อตที่เข้าไปยึด ทั้งเป็นตัวแกน รวมถึงน็อตล็อกอีกหกจุดเพื่อกันหล่น แต่ในส่วนของประเด็นอื่นๆต้องรอผลการทดสอบหลังจากทาง Alstom ได้นำล้อประคองไปทดสอบกับตัวรถจริง
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 19-24 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานบริษัท PATS หรือ CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองอู๋หู (Wuhu Economic and Technological Development Zone) มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยในระหว่างการดูงานผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงแนวทางการแก้ปัญหาหลายประการ รวมไปถึงกรณีปัญหาเรื่องล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
โรงงานและตัวอย่างรถไฟฟ้าโมโนเรลที่บริษัท CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. หรือ Alstom ที่เมืองอู๋หู
นายณัฐภัทริ์ อุณหคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รฟม. : จากการไปดูโรงงาน CRRC ภาพรวมทั่วไปของโรงงาน โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดปัญหา ทาง รฟม.ได้มีการร่วมมือกับผู้รับสัมปทาน รวมไปถึงซัพพลายเออร์ของผู้รับสัมปทานคือบริษัท Altsom ร่วมกันแก้ไขปัญหา คือหลักๆปัญหาจะเป็นเรื่องของล้อประคอง สิ่งที่มีการแก้ไขปรับปรุง โดยสรุปนั้นก็คือว่าได้มีการปรับเปลี่ยนตัวล้อประคอง ตัววัสดุภายในตัวล้อ มีการเพิ่มอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิของตัวจาระบีภายในตัวล้อ และมีอุปกรณ์อื่นๆที่มีการเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้หลังจากมีการวิจัยก็มีการทดสอบระบบใหม่ที่กรุงเทพแล้วทั้งกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้งสองสาย และจะมีการเก็บข้อมูลจากการวิ่ง อาจจะสามเดือน หรือหกเดือนแล้วแต่ เพื่อกลับไปดูว่าสิ่งที่เขาได้แก้ไขปัญหามันแล้วเสร็จแล้วก็จบ แต่ปัญหาที่ว่าล้อหล่นคงจะไม่มีแล้ว เพราะว่ามันมีตัวน็อตที่เข้าไปยึด ทั้งเป็นตัวแกน รวมถึงน็อตล็อกอีกหกจุดเพื่อกันหล่น แต่ในส่วนของประเด็นอื่นๆต้องรอผลการทดสอบหลังจากทาง Alstom ได้นำล้อประคองไปทดสอบกับตัวรถจริง หลังจากนั้นอีกประมาณสามเดือนจึงจะทราบได้ว่าที่เขาแก้ปัญหามานั้นตรงจุดทั้งหมดแล้ว
สำหรับตัวเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิสาเหตุที่ต้องมีการติด เพราะพบว่าตัวจาระบีนั้นมันโดนความร้อนจนเปลี่ยนสี เมื่อล้อมันหมุน มันก็เกิดแรงเสียดทาน ซึ่งทำให้เกิดความร้อน เมื่อความร้อนเกิดขึ้น ก็ทำให้วัสดุที่ขับเคลื่อนเกิดการหดตัว หรือขยายตัว ดังนั้นจาระบีที่เป็นตัวช่วยหล่อลื่น ลดแรงเสียดทาน เพื่อไม่ให้เกิดอุณหภูมิสูง ดังนั้นการที่เราติดตัววัดอุณหภูมิก็เพื่อดูว่าจาระบีอุณหภูมิสูงหรือต่ำ ถ้าหากสูงก็จะมีเซ็นเซอร์เตือนไปยังห้องควบคุมว่าล้อนี้เกิดอุณหภูมิสูงแล้ว ก็จะมีการหยุดการเดินรถแล้วก็มาดูที่ล้อเพื่อซ่อมบำรุง
กรณีปัญหาจาระบีนั้นคิดว่าน่าจะเกิดจากความร้อน ส่วนปัจจัยเรื่องการซ่อมบำรุง ทางผู้รับสัมปทานก็มีการซ่อมบำรุงภายใต้การกำกับของ รฟม.ตามกำหนดเวลาตลอดอยู่แล้ว จะมีตารางสำหรับการดำเนินการ ในส่วนของอุปกรณ์ทุกส่วน ซึ่งช่วงเวลาที่จะทำให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายน่าจะกลับมาปกตินั้น ต้องขอเรียนว่าจะมีการเปลี่ยนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองชมพูทั้งหมด ก็คาดว่าน่าจะเสร็จในเดือนนี้ แล้วก็จะมีการทดสอบภายในสามเดือนหลังจากนั้น แล้วก็จะมีการนำล้อชุดใหม่มาเปลี่ยนภายในปี 2568 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน
ต้องเรียนว่าหลังจากที่มีการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสองสายไปในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้งานก็ยังไม่เหมือนเดิม โดยสายสีชมพูมีผู้ใช้งานอยู่ที่ 5-6 หมื่นคน ขณะที่สายที่เหลืองอยู่ที่ 3-4 หมื่นคนต่อวัน
สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายต้องเรียนว่าตรงนี้เป็นในส่วนของซัพพลายเออร์และผู้รับสัมปทานได้มีการไปหารือกัน แต่ รฟม.ไม่ได้เข้าไปดูในส่วนของค่าใช้จ่าย ดังนั้นย้ำว่ารัฐไม่เสียผลประโยชน์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามตอนนี้แม้เราจะยังไม่มีล้อชุดใหม่ แต่ รฟม.ก็ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแล รวมถึงตัวชุดล้อซึ่งมีการซ่อมบำรุงทุก 15 วัน ทาง รฟม.ได้กำหนดมาตรการระบุว่าผู้รับสัมปทานจะดำเนินการอะไรบ้าง เขาก็มีการแจ้งมาว่าจะมีการทำตามมาตรการขั้นต้น กลาง และยาว
โดยในระยะต้นจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกขบวนและทุกล้อก่อนนำรถออกให้บริการ โดยการตรวจจะตรวจกันในทุกสองวันแทนที่จะเป็น 15 วัน มีการติดตั้งตัววัดความร้อนชั่วคราวก่อน และในอนาคตอาจจะมีกล้องที่คอยจับตาในพื้นที่ที่มีการสับราง ดูระยะการเคลื่อนตัวล้อว่าผิดจากระยะไหม
นายณัฐภัทริ์ อุณหคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รฟม.
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณรองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. : กรณีความเชื่อมั่นของประชาชนต้องขอนำเรียนว่าไม่มีตัวเลขตกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งยังมีตัวชี้วัดที่ออกโดยรัฐบาลคาดว่าผู้ใช้งานรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ก็มีการคาดการณ์ว่าอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ในภาพรวมรถไฟฟ้าทั้งกรุงเทพทั้งหมด อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองมีลักษณะเป็นเส้นประกอบ ไม่ใช่เส้นหลัก การเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารก็จะมีลักษณะที่ดีดตัวที่ช้ากว่า
จำนวนผู้โดยสารถ้าจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็คิดว่าน่าจะมาจากปัจจัยอื่น ที่ไม่ใช่ในส่วนของความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย ถ้าหากอ้างอิงข้อมูลตัวเลข ณ เวลานี้
ต้องเรียนว่าทาง รฟม.มองในภาพรวมในตัวระบบมากกว่า เช่นการใช้รถมันก็ต้องมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นรถโมโนเรลก็จะเป็นรถไฟที่ใช้ในสายประกอบเท่านั้น ไม่ใช่สายหลัก เราจะเอามาใช้แบบเดียวกันทั้งหมดมันก็ไม่ได้แต่ถ้าเราไปใช้รถที่มีขนาดใหญ่มันก็จะเป็นการลงทุนที่เสียประโยชน์เหมือนกัน ส่วนเรื่องความปลอดภัยเราสามารถไปใส่เพิ่มในอนาคตในส่วนของสัมปทานได้ เพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น
สำหรับรถไฟในส่วนภูมิภาค รฟม.นั้นรับผิดชอบในส่วน 3-4 เมือง อาทิ ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และที่นครราชสีมา ส่วนอีกเมืองที่อยู่ระหว่างการออกแบบก็ที่พิษณุโลก แต่ 3-4 เมืองที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องโมโนเรลอีก เพราะว่าออกแบบแค่บนผิวดินหรือใต้ดินเท่านั้น ไม่มียกระดับขึ้นมา
สรุปก็คือยังไม่มีโมโนเรลอย่างจริงจัง หลายเมืองยังมีลักษณะเป็นรถรางอยู่
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณรองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม.