“…เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้ได้มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือฐานะและไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง…”
....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปรับกระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ SMEs ให้รวดเร็วขึ้น
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในส่วนของกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จำนวน 4 หมวด ดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3/1 (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) โดยปรับเพิ่มจำนวนหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการสำหรับ “องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่” จากเดิม “ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” ในมาตรา 90/3 มาตรา 90/4 (1) และมาตรา 90/6 (2) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินสำหรับลูกหนี้ประเภทอื่นในหมวด 3/2
2.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3/2 (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็น “กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม”) ซึ่งเป็นการยกเลิกเนื้อหาในหมวด 3/2 เดิมทั้งหมด เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่างๆ ในหมวดนี้จำนวนมาก โดยมีการแก้ไขขั้นตอนและกระบวนการการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็น “กิจการขนาดย่อม” ซึ่งประเด็นสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ การปรับปรุงกระบวนการเพื่อนำไปสู่ “สภาวะพักการชำระหนี้” ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นกิจการขนาดย่อม โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นจากการที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ร่วมประชุมแผนฟื้นฟูกิจการ
หลังจากนั้น จึงจะนำแผนดังกล่าว ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลตามรายการที่กฎหมายกำหนด (เช่น เอกสารแสดงว่าที่ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ กิจการ แผนการฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นต้นต้น) ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและนำไปสู่สภาวะพักการชำระหนี้
กระบวนดังกล่าวนี้ ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการที่ค่อนข้างนาน โดยเฉพาะในส่วนของการจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่อาจต้องมีการประชุมหลายครั้ง ก่อนที่เจ้าหนี้ทั้งหลายจะมีมติยอมรับแผน ส่งผลให้ในขณะดำเนินการดังกล่าว ลูกหนี้ยังสามารถถูกเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อน และอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อฝ่ายเจ้าหนี้
ในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ จึงได้ปรับปรุงกระบวนการดังกล่าว โดยการกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้อง (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกหนี้หรือเจ้าหนี้) สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการมาก่อนยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยมีรายการเอกสารที่ต้องยื่นประกอบการร้องขอ เช่น รายชื่อเจ้าหนี้ รายละเอียดทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งศาลก็สามารถมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และนำไปสู่ “สภาวะพักการชำระหนี้” ได้ทันที
ทำให้ลูกหนี้ได้รับความคุ้มครองจากฎหมายได้ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น โดยลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ในระหว่างดำเนินการดังกล่าว และเอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมถึงจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อฝ่ายเจ้าหนี้ในขั้นตอนต่อไปด้วย โดยกระบวมการฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/2 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเดินในครั้งนี้มีสาระสำคัญปรากฏตามรายละเอียดแนบท้าย 2
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นอื่น อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ลูกหนี้” โดยแก้ไขคุณสมบัติลูกหนี้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็น “วิสาหกิจขนาดย่อม” แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือที่ไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ เพื่อเป็นการเปิดกว้างโอกาสให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวให้ได้ฟื้นฟูกิจการ
การแก้ไขจำนวน “หนี้ขั้นต่ำ” เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนหนี้ที่กำหนดไว้ในคดีล้มละลาย ตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ,การขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเดิม “ไม่เกิน 3 ปี” เป็น “ไม่เกิน 5 ปี” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ฟื้นฟูกิจการ และกำหนดให้ผู้บริหารแผนสามารถขอแก้ไขแผนได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทหรือสถานการณ์ในการดำเนินกิจการต่างๆ ตามแผนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
@เพิ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้‘แบบเร่งรัด’
3.กำหนดให้มีหมวด 3/3 (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัด) กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ “แบบเร่งรัดนี้” จะเป็นการปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้มีความกระชับมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 และหมวด 3/2 (ที่ขอแก้ไขในครั้งนี้) จะเริ่มเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว หลังจากนั้น จึงจะทำการประชุมพิจารณาแผนร่วมกันระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
เนื่องจากการนัดประชุมเจ้าหนี้ การรอระยะเวลายื่นคำคัดค้าน รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ต่างก็มีการกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าจำนวนวันที่กฎหมายกำหนดไว้ (เช่น ในการประชุมเจ้าหนี้จะต้องนัดประชุมและมีการแจ้งในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน ,เจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนอาจขอแก้ไขแผน โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นต้น) ก่อนที่ศาลจะพิจารณาเห็นชอบแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต่อไป
ในทางกลับกันกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัดตามหมวดนี้ ผู้ยื่นคำร้องขอ (ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้) สามารถทำการประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าวให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนจะนำแผนดังกล่าวมายื่นต่อศาลพร้อมคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
หลังจากนั้นศาล จึงจะพิจารณาเห็นชอบแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต่อไป ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในส่วนของการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการรวมถึงดำเนินการอื่นๆได้ เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องขอไม่ต้องดำเนินการต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กฎหมายกำหนด
เช่น ไม่ต้องนัดประชุมเจ้าหนี้ล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 10 วัน เจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนอาจขอแก้ไขแผน ไม่ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 3 วัน เป็นต้น (หากดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 และ 3/2 (ทั้งปัจจุบันและที่ขอแก้ไขในครั้งนี้) นั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูกิจการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวดนี้ ยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เป็น “องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่” (ลูกหนี้ตามหมวด 3/1) และลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็น “วิสาหกิจขนาดย่อม” (ลูกหนี้ตามหมวด 3/2) ที่มีความพร้อม (ที่ได้มีการประชุมพิจารณาแผนและเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดให้ความเห็นชอบแผนแล้ว)
สามารถเลือกยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอีกทางหนึ่งได้ โดยอาจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 และหมวด 3/2 ควบคู่กับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามหมวดนี้ หรือหากผู้อื่นคำร้องขอพื้นฟูกิจการตามหมวดนี้ ไม่เคยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามหมวดอื่นมาก่อน
และต่อมาศาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอกิจการตามหมวด 3/3 นี้ ผู้ร้องขอสามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดตามหมวด 3/3 ต่อศาลไหนได้อีกครั้ง โดยมีขั้นตอนพอสังเขปปรากฏตามรายละเอียดแนบท้าย 3
@‘บุคคลธรรมดา’ยื่นคำร้องขอ‘ฟื้นฟูฐานะ’ได้
4.กำหนดให้มีหมวด 3/4 (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา) โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็น “บุคคลธรรมดา” ที่มีรายได้ประจำและมีหนี้ อันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หรือประกอบกิจการที่มีหนี้ อันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท และมีเหตุหรือช่องทางในการฟื้นฟูฐานะ สามารถยื่นคำร้องขอ “ฟื้นฟูฐานะ”
ในส่วนของกระบวนการและขั้นตอนในการฟื้นฟูฐานะในหมวดนี้นั้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระบวนการและขั้นตอนในการฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 และหมวด 3/2 (ที่ขอแก้ไขในครั้งนี้)
โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การให้ลูกหนี้เป็นผู้จัดทำและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และมีการกำหนดให้ศาลสามารถมีคำสั่งฟื้นฟูฐานะได้ทันที ในกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูฐานะด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการของตนเองได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนพอสังเขปปรากฏตามรายละเอียดแนบท้าย 4
“การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในครั้งนี้ จะทำให้มีมาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้ได้มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือฐานะและไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในเชิงบวก” กระทรวงยุติธรรม ระบุ
@‘สมาคมแบงก์’ค้านกระบวนการ‘ฟื้นฟูฐานะ’
อย่างไรก็ดี มีหลายหน่วยงานได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) และมีข้อเสนอแนะ ต่อ ครม. ที่น่าสนใจ ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
หมวด 3/2 และหมวด 3/4
-เห็นควรกำหนดให้คำสั่งศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/2 และหมวด 3/4 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนของลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หมวด 3/4
-เห็นควรกำหนดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวขาญและประสบการณ์ทางด้านการเงินเข้ามามีส่วนช่วยลูกหนี้และศาลในกระบวนการจัดทำแผน ,ควรพิจารณากำหนดให้ลูกหนี้เท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นคำร้องของขอให้พื้นฟูฐานะของตน
และควรให้เจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายสามารถใช้สิทธิบังคับหลักประกันของตนได้ โดยที่ไม่ต้องเข้ามาในกระบวนการฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเจ้าหนี้ดังกล่าวจะสามารถควบคุมมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ โดยที่ลูกหนี้อาจไม่จำเป็นต้องเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ อันจะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ ได้รับชำระหนี้น้อยเกินสมควร
-การไม่กำหนดเพดานหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฐานะ อาจส่งผลให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงและมีหนี้จำนวนมาก ซึ่งอาจถือไม่ได้ว่าเป็นลูกหนี้รายย่อย สามารถเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ และก่อภาระงานในกระบวนการศาลมากเกินสมควร
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
หมวด 3/4
-เห็นควรพิจารณากำหนดให้มีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวขาญและมีความรู้ความสามารถใ นการจัดทำและบริหารแผนฟื้นฟูฐานะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้จัดทำแผนการชำระหนี้ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งเป็นผู้รวบรวมและประสานงานในกระบวนการชั้นศาลต่างๆให้กับลูกหนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สมาคมธนาคารไทย
หมวด 3/2
-เห็นชอบในหลักการและเห็นว่าแก้ไขดังกล่าวจะเป็นการเปิดกว้างให้ลูกหนี้ที่เป็นกิจการขนาดย่อมทุกประเภทสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่อาจมีปัญหาตามมา คือ การใช้กฎหมายเพื่อประวิงเวลาในการถูกบังคับชำระหนี้สำหรับลูกหนี้บางรายที่ไม่ได้ประสงค์ที่จะฟื้นฟูกิจการอย่างแท้จริงโดยอาศัยผลประโยชน์จากการเกิดสภาวะพักชำระหนี้
-เห็นว่า การกำหนดให้ผู้ทำแผน (ลูกหนี้) จัดทำแผนและดำเนินการประชุมเจ้าหนี้ (ร่าง ม.90/109) ไม่มีสภาพบังคับอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเป็นช่องทางให้มีการกระทำที่ไม่สุจริตได้ จึงเห็นควรให้มีเจ้าพนักงามพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการประชุมเจ้าหนี้
-ไม่เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นของการที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ก่อน โดยเห็นว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก
-ไม่เห็นชอบในการลดอัตราโทษจำคุก เนื่องจากความผิดตามกฎหมายนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และในส่วนของการกำหนดโทษปรับไว้สูงนั้นเห็นว่าเหมาะสมแก่กรณีแล้ว
หมวด 3/3
-เห็นชอบการกำหนดให้มีหมวด 3/3
หมวด 3/4
-ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีหมวด 3/4 เนื่องจากลูกหนี้หนี้ที่มีคุณสมบัติขอยื่นพื้นฟูกิจการตามหมวดนี้ มีช่องทางในการ “ปรับโครงสร้างหนี้” กับเจ้าหนี้อยู่แล้ว รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว และเห็นว่าอาจทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก
และมีปัญหาในการใช้กฎหมาย เพื่อประวิงเวลาในการถูกบังคับชำระหนี้ รวมทั้งอาจทำให้ลูกหนี้สูญเสียวินัยทางการเงิน เนื่องจากเห็นว่ามีกฎหมายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน ซึ่งทางสมาคมฯ เห็นว่าวินัยทางการเงินเป็นปัญหาหลักของหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
-การกำหนดจำนวน “หนี้ขั้นต่ำ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้นั้น เนื่องจากสภาวะทางการเงินและเศรษฐกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันสมัยตลอดเวลา ควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความตอนท้ายว่า “หรือจำนวนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง”
-เห็นควรเพิ่มเติมข้อความในร่าง ม.90/170 เกี่ยวกับกรณีที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตายหรือตกเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรก่อนจะดำเนินการตามแผนสำเร็จ
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) ที่ ครม.อนุมัติหลักการ และจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องติดตามว่า ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ฉบับนี้ จะมีการปรับปรุงเนื้อหาจาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่รัฐบาลเสนอ หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด?