เผยมติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดีกล่าวหา 'ไพวงษ์ เตชะณรงค์' ช่วงนั่งตำแหน่งที่ปรึกษารมว.มหาดไทย ร่ำรวยผิดปกติ หลังเปรียบเทียบทรัพย์สินเข้า-พ้นตำแหน่ง มีเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น 114 ล้าน ที่ดินสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่า เงินกู้จากธนาคารลดลงเพียบ เหตุไม่มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ให้ยุติการไต่สวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดีกล่าวหา นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่ำรวยผิดปกติ จากการเปรียบเทียบรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 และพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี ปรากฏความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น จำนวน 114,846,158.22 บาท ที่ดินลดลง มูลค่า 107,100,600 บาท สิทธิและสัมปทาน ซึ่งเป็นสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าที่ได้มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ลดลง จำนวน 45,046,500 บาท และเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นลดลง จำนวน 58,473,687.16 บาท
หลังพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าไม่มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงจากเหตุอันควรสงสัยที่ได้มาจากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงให้ยุติการไต่สวน
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของรายการทรัพย์สินและหนิ้สินของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการประทรวงมหาดไทย กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี พบเหตุอันควรสงสัยถึงที่มาของเงินที่นำไปชำระหนี้เงินกู้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 35,619,309.22 บาท และบริษัทเงินทุนแอ๊ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 22,854,377.94 บาท จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คดีนี้สืบเนื่องจากการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี (พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากการเปรียบเทียบรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 และพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี ปรากฏความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น จำนวน 114,846,158.22 บาท ที่ดินลดลง มูลค่า 107,100,600 บาท สิทธิและสัมปทาน ซึ่งเป็นสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าที่ได้มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ลดลง จำนวน 45,046,500 บาท และเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นลดลง จำนวน 58,473,687.16 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565ได้พิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย เกี่ยวกับที่มาของเงินที่นำไปชำระหนี้เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น จึงมีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ด้านกฎหมาย) ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ได้มีมติว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีนั้น เป็นกรณีที่ได้รับการบัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 33 วรรคสอง แต่ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว มาตรา 110 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรก และเมื่อมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งต่อ ๆ ไปให้ตรวจสอบถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
อย่างไรก็ดี ความตามมาตรา 105 วรรคสาม (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 102 (1) (2) (3) และ (9) อันประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเฉพาะกรณีเมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง โดยมิได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีไว้ดังเช่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนด ดังนั้น การตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 110 จึงต้องเป็นการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินจากบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ยื่นมีหน้าที่ยื่นตามความในมาตรา 105 ด้วย กรณีนี้เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้นไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่มีหน้าที่และอำนาจนำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีดังกล่าวที่ผู้ยื่นได้เคยยื่นไว้มาตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินกับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งได้ แม้ว่าผลของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้พบพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติอันเป็นเหตุที่จะนำไปสู่การไต่สวนเพื่อร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 115 ประกอบมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ก็ตาม ดังนั้น การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 115 วรรคสอง ได้กำหนดให้เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งจากกรณีมีการกล่าวหาและกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกตินั้น ให้นำความในหมวด 2 การไต่สวน มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งไม่ได้เกิดจากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินกับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่ง มาประกอบการพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ที่จะถือเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณามีมติรับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 115 ต่อไปได้
ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการเปรียบเทียบรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี ซึ่งปรากฏความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น จำนวน 114,846,158.22 บาท ที่ดินลดลง มูลค่า 107,100,600 บาท สิทธิและสัมปทาน ซึ่งเป็นสิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าที่ได้มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ลดลง จำนวน 45,046,500 บาท และเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นลดลง จำนวน 58,473,687.16 บาท จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยกขึ้นไต่สวนจากเหตุอันควรสงสัยดังกล่าวได้ และเมื่อไม่มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องพิเคราะห์ในประเด็นต่อไปว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
จากข้อเท็จจริงและการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงจากเหตุอันควรสงสัยที่ได้มาจากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงให้ยุติการไต่สวน จึงเป็นกรณีให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 58 ประกอบมาตรา 115