เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'สุริยะ ชิตท้วม' อดีตหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ทุจริตโครงการจัดจ้างทำครุภัณฑ์ดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชบรมนาถบพิตร ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี พวกหลายรายโดน 10 ปี 4 เดือน , 2 ปี ,7 ปี 12 เดือน - ป.ป.ช.ขออุทธรณ์สู้ ไม่ให้รอลงอาญา 2 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายสุริยะ ชิตท้วม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กับพวก ทุจริตโครงการจัดจ้างทำครุภัณฑ์ดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ตามสัญญาเลขที่ 128/2560 และตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151 , 157 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 ตามพ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิด ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172) ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 11 และ 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565
โดยคดีนี้ ปรากฏชื่อ นายสุริยะ ชิตท้วม เป็นจำเลยที่ 1 , นายอภิชัย พงษ์ลือเลิศ จำเลยที่ 2 , นายอนุชา บริพันธุ์ จำเลยที่ 3 , นายสุรพงศ์ โรหิตาจล จำเลยที่ 4 , นายอาทิตย์ ผ่อนร้อน จำเลยที่ 5 , นางสาวสุมาลี พงษ์ลือเลิศ จำเลยที่ 6 , นายกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ จำเลยที่ 7 และนายทวีศักดิ์ อัครวงษ์ จำเลยที่ 8
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายสุริยะ ชิตท้วม จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมาย รวมลงโทษจำคุก 12 ปี
2. นายอภิชัย พงษ์ลือเลิศ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามกฎหมาย รวมลงโทษจำคุก 10 ปี 4 เดือน
3. นายอนุชา บริพันธุ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฎหมาย ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
4. นายสุรพงศ์ โรหิตาจล จำเลยที่ 4 มีความผิดตามกฎหมาย ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
5. นายอาทิตย์ ผ่อนร้อน จำเลยที่ 5 มีความผิดตามกฎหมาย ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
6. นางสาวสุมาลี พงษ์ลือเลิศ จำเลยที่ 6 มีความผิดตามกฎหมาย รวมลงโทษจำคุก 7 ปี 12 เดือน
7. ให้จำเลยที่ 1 , 2 และ 6 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคากลองทัดประดับมุก 250,000 บาท แก่กรมศิลปากรผู้เสียหาย
8. ยกฟ้องโจทก์สำหรับ นายทวีศักดิ์ อัครวงษ์ จำเลยที่ 8
คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก (ข้อมูล ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 7)
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 มีมติไม่เห็นพ้องด้วยในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เห็นควรที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลดังกล่าว เพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 8 ตามที่สำนักคดีเสนอ
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐเทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ