"...บ่อยครั้งที่มีกรณีข้าราชการไปอวยพรวันเกิดหรือไปแสดงความเคารพยกย่องนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการติฉินนินทา ว่า คนมีอิทธิพล มีอำนาจที่จะอวยยศ อวยผลประโยชน์ให้กับข้าราชการได้จึงต้องทำแบบนี้ และเป็นเงื่อนไขที่จะไปเสริมบารมีให้กับตัวนักการเมืองทำให้ประชาชนรู้สึกว่า นักการเมืองคนนั้น แม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากก็ยังต้องให้ความเคารพนับถือ ส่งผลต่อประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพโดยทั่วไปที่เราไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น..."
พรรคสีน้ำเงิน หรือ พรรคภูมิใจไทย กำลังเป็นพรรคการเมืองที่กำลังมาแรงในขณะนี้
แม้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 จะได้คะแนนเสียงมา 71 เสียง ตามหลังพรรคก้าวไกล (ประชาชน) และพรรคเพื่อไทยหลายคะแนน
แต่เพียง 1 ปีหลังจากนั้น กลายเป็นพรรคภูมิใจไทยที่ถูกจับตามองถึงบทบาททางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะจากการที่สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ถึงสภาพการณ์สภาสูง-วุฒิสภา (สว.) ว่าถูกยึดกุมโดยสว.สายสีน้ำเงิน รวมถึงบทบาทในการเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมแทนที่ พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา แสงไฟการเมือง มุ่งความสนใจไปที่ จ.บุรีรัมย์ เพราะเป็นวันเกิดของบุคคลสำคัญทางการเมืองระดับผู้มีบารมีอีกคน นั่นคือ ‘เนวิน ชิดชอบ’ ที่มีตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย
พลพรรคสมาชิกพรรคภูมิใจไทยหลั่งไหลไปรวมตัวกันที่นั่น ทั้งระดับแกนนำ สส.และรัฐมนตรี นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ, ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม,ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย และนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นต้น
รวมถึง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม น้องชายแท้ๆก็ปรากฎตัวในงานด้วย หลังหายหน้าไปจากสังคมระยะหนึ่ง จากผลกระทบที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีลงเฉพาะตัว จากกรณีถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากบุคคลที่อยู่ในวงวานว่านเครือแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย เช่น สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกฯ อบจ.อยุธยา, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร., นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, เสธ หิ - หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว.
รวมถึงระดับข้าราชการระดับสูงก็มางานนี้ด้วย เช่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน (ทด.) นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ว่าที่ ร.ต.ธะนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
รวมถึงนายจักรพงศ์ คำจันทร์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ใหม่หมาด หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.67 ก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมอวยพรวันเกิดนายเนวินด้วยเช่นกัน
บางช่วงบางตอนของการผูกข้อมือผู้เข้ามาอวยพร นายเนวินยังกล่าวให้พรให้กับข้าราชการบางรายพร้อมกับบอกว่า "ถ้าไปแล้ว ก่อนเป็นกับหลังเป็นให้เหมือนกัน เป็นผู้ว่าแล้วก็ต้องช่วยกัน"แสดงให้เห็นถึงบารมีของนายเนวินทั้งกว้างและลึก
แม้ภาพตามหน้าสื่อจะจับไปที่การทำพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญ และการอวยพรให้อนุทินเป็นนายกฯคนต่อๆไป
แต่ต้องไม่ลืมว่า ท่ามกลางความเปล่งบารมีของพรรคสีน้ำเงินและความชะล่าใจในอำนาจและบารมี มีกรณีที่ขุนพลสีน้ำเงินต้องตกม้าตายทางการเมือง ถูกดำเนินคดีจริยธรรมและทุจริตในการเลือกตั้งหลายต่อหลายคนจนต้องโดนตัดสิทธิทางการเมือง เสียกำลังสำคัญไปราวกับใบไม้ร่วง
@สะดุดปมจริยธรรม-ข้อกฎหมาย
เริ่มมาตั้งแต่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรมช.ศึกษาธิการ ภูมิใจไทย ที่ศาลฏีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี ในคดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณี ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีครองครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ
แม้กระทั่ง น้องชายเนวิน - ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม ถูกตัดสิทธิ์ความเป็นรัฐมนตรี และให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จากการถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 66
คดีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 67 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 9 เดือน นางนาที รัชกิจประการ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ, นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ อดีตสส.พัทลุง และนายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต สส.พัทลุง จากความผิดเสียบบัตรแทนกัน
หรือล่าสุดกับนายสุวรรณ กุมภิโร สส.บึงกาฬ เขต 2 ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฎีการับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งจากกรณีนำรถติดลำโพงที่มีสติกเกอร์ชื่อชื่อไปใช้ในงานวัดช่วงที่การหาเสียงเลือกตั้ง
งานวันเกิดครบ 66 ปีของนายเนวิน ที่มีบรรดาข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึง สว.บางราย เดินทางไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ก็ถูกจับตามองเรื่องการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองและฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองโดยเปิดเผยในที่สาธารณะหรือไม่ด้วย
รวมไปถึงข้อกังขาและค้านสายตาประชาชน เรื่องการเบียดบังเวลาราชการไปทำกิจกรรมส่วนตัว? สวนทางความรู้สึกของประชาชนภาคเหนือที่ต้องทนทุกข์ระทมกับอุทกภัยน้ำท่วมที่เป็นภัยพิบัติหนักหนาสาหัสแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
เพราะในขณะที่หลายจังหวัดภาคเหนือประสบภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างหนักและมีแนวโน้มว่าภาคกลางอีกหลายจังหวัดจะประสบเหตุการณ์เช่นเดียวกัน แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขโดยเฉพาะปลัดกระทรวง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมถึงอธิบดีกรมการปกครองกลับไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์ไม่อยู่อำนวยการหรือคอยสั่งการเพื่อช่วยเหลือประชาชนหรือ?
แม้จะอ้างว่าไปในเวลานอกราชการหรือลาราชการ แต่ความเหมาะสมในฐานะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องปฏิบัติตัวไม่ให้ประชาชนทั้งประเทศรู้สึกว่าต้องนิยมชมชอบพรรคการเมืองใดถึงจะได้รับการปฏิบัติดูแลความเดือดร้อนอย่างสุดความสามารถ-ไม่เลือกปฏิบัติ
เป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกของ มท.1 ที่ไม่สบอารมณ์กับการไม่พบผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วม
ทั้งนี้ ภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติที่เวลานักการเมืองไทยชื่อดัง จัดงานวันสำคัญนั้น ที่ผ่านมามีบรรดาข้าราชการที่ติดสอยห้อยตามนักการเมืองในหลากหลายพรรคการเมือง อย่างเมื่อเร็วๆนี้ช่วงเดือน มี.ค. ปี 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ก็มีบรรดาข้าราชการมาต้อนรับตามรายงานของสื่อ อาทิ นายนิรัตร์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัด, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในขณะนั้น และนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
หรือเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่นายทักษิณเดินทางไป จ.ภูเก็ต เพื่อพักผ่อนส่วนตัว ก็มีรายงานข่าวว่า มีข้าราชการไปต้อนรับเช่นกัน อาทิ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต, พล.ต.ต.สินเลิศ สุขุม ผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (5) ที่ว่า ข้าราชการต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ข้าราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้ และ (9) ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กับจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของราชการว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการด้วย
ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน 2499 ข้อ 2 (4) ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใดๆอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง (5) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในเวลาสูงเครื่องแบบราชการ หรือในเวลาราชการ หรือไปสถานที่ราชการ (9) ไม่โฆษณาเสียเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆให้เป็นการเปิดเผยในที่ประชุมพรรคการเมืองและในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน (10) ไม่ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงในทางการเงินหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อทำกิจการต่างๆ
การที่ข้าราชการระดับสูง แห่กันไปต้อนรับบรรดานักการเมืองของข้าราชการระดับสูงแบบนี้ เข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบราชการเหล่านี้ หรือไม่?
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
@ข้าราชการไปเฝ้านักการเมือง เป็นภาพที่ไม่ควรเกิด
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในประเด็นดังกล่าวว่า บ่อยครั้งที่มีกรณีข้าราชการไปอวยพรวันเกิดหรือไปแสดงความเคารพยกย่องนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการติฉินนินทา ว่า คนมีอิทธิพล มีอำนาจที่จะอวยยศ อวยผลประโยชน์ให้กับข้าราชการได้จึงต้องทำแบบนี้ และเป็นเงื่อนไขที่จะไปเสริมบารมีให้กับตัวนักการเมืองทำให้ประชาชนรู้สึกว่า นักการเมืองคนนั้น แม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากก็ยังต้องให้ความเคารพนับถือ ส่งผลต่อประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพโดยทั่วไปที่เราไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น
ดร.มานะกล่าวว่า ส่วนเรื่องการเอาผิดนั้น ต้องไปดูว่าประมวลจริยธรรมข้าราชการ แต่จะร้องเรียนหรือเอาผิดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่ทำ เช่น ใช้เวลาราชการ หรือเป็นพฤติกรรมที่ให้เกียรติและยกย่องเกินกว่าเหตุหรือไม่ ฟันธงยากว่าเป็นความผิดหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและรูปแบบของพฤติกรรม
"โดยส่วนตนการคบหาใครไม่ได้มีความผิด ถ้าไปในช่วงนอกเวลางาน แต่ในความเป็นข้าราชการไม่สง่างามในสายตาประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ข้าราชการไปก้มหัวให้กับนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพล และเป็นการเสริมบารมีให้กับนักการเมืองนั้น ๆ ประชาชนก็จะเกิดความเกรงกลัว ทั้งเครือข่ายของข้าราชการและเครือข่ายของนักการเมือง ขยายตัวไปถึงการส่งบารมีไปถึงนักการเมืองในท้องที่ที่อยู่ในเครือข่ายของนักการเมืองด้วย"ดร.มานะ ว่าที่ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สรุปทิ้งท้าย
กรณีนี้ จึงนับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาว่า บรรดาข้าราชการที่ตามไปงานวันสำคัญของนักการเมืองดังเหล่านี้ จะถูกร้องเรียนหรือไม่?
เพราะหากยก พ.ร.บ.และระเบียบข้างต้นแล้ว อาจเดินตามรอยกรณีต่างๆที่พรรคการเมืองหลายพรรค สะดุดปมจริยธรรมมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้