สำนักงาน ป.ป.ช.พิษณุโลก แถลงผลดำเนินงานโชว์คดีกล่าวหา 'เอกสิทธิ์ เมืองเปรม' อดีตนายก อบต.คันโช้ง-พวกรวม 7 ราย เบิกจ่ายค่าอาหารกลางวันเด็กเล็กศูนย์พัฒนาฯ เป็นเท็จ เผยพฤติการณ์ผอ.คลัง ใช้ชื่อผู้ช่วยจนท.การเงินตีเช็คถอนเงินสดไปใช้ส่วนตัว คกก.ชุดใหญ่ ชี้มูลความผิดอาญา-วินัยผู้ถูกกล่าวหาเป็นทางการแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดพิษณุโลก ได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานตรวจสอบคดีทุจริต กรณีกล่าวหา นายเอกสิทธิ์ เมืองเปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คันโช้ง กับพวกรวม 7 ราย เบิกจ่ายค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลคันโช้ง อันเป็นเท็จ ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยผู้ถูกกล่าวหาเป็นทางการไปแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า กรณีนี้เป็นการจัดทำฎีกาเบิกเงินระบุเป็นค่าทำอาหารสำหรับเด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลคันโช้ง ซึ่งไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างจริง และผู้รับจ้างมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงิน แต่นายทองสุข ปราสาททอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองคลังได้ใช้ให้นางสุดาพร ค. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ออกเช็คจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันโดยระบุหน้าเช็คเป็นชื่อ "นางสุดาพร ค." จากนั้นนางสุดาพร ค. ได้นำเช็คดังกล่าวไปเบิดถอนเงินสด จำนวน 20,592 บาท และนำเงินดังกล่าวไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไปใช้ส่วนตัว อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจรับการจ้างจัดทำอาหารกลางวันได้ตรวจรับงานจ้างโดยที่ไม่มีการจัดจ้างตามฎีกาที่ได้มีการเบิกจ่ายด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
(1) การกระทำของนายเอกสิทธิ์ เมืองเปรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
(2) การกระทำของสิบเอก วิชัย ยังอยู่เกตุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดพิษณุโลกเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 17 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
(3) การกระทำของนายทองสุข ปราสาททอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดพิษณุโลก เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 17 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
(4) การกระทำของนายวีระวัฒน์ ตาละนาค ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางสาวศุจินันท์ ทานัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายเรืองชัย สุขะหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนายสุภโรจน์ หาญน้อย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 (1) (4) และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดพิษณุโลก เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขใน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 17 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก