"...ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 1/2552 ลงวันที่ 30 มกราคม 2552 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบอื่นทั้งหมดจะต้องเป็นของแท้ของใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อนไม่เป็นของเก่าเก็บและมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญา แต่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป ผู้ขาย ได้ส่งมอบพัสดุ (หัวลาก) จำนวน 2 หัวลาก เป็นเครื่องยนต์เก่ามือสองไม่ถูกต้องตามสัญญา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ..."
โครงการจัดซื้อรถบริการนำเที่ยว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด มีนายประจักษ์ สุวรรณภักดี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธเหมทานนท์ หรือปริสุทโธเหมทานน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายบุญยืน คำหงส์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต นายอำเภอพิมาย นายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ ปลัดอำเภอพิมาย ในขณะนั้นด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นผลการสอบสวนและมติชี้มูลคดีนี้ ของ ป.ป.ช. มานำเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้
คดีนี้ เป็นกรณีกล่าวหา นายประจักษ์ สุวรรณภักดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา กับพวก แบ่งซื้อโครงการจัดซื้อรถบริการน าเที่ยวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์คดี ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าการท่องเที่ยวและเสริมสร้างการท่องเที่ยวใหม่ (New Product) เพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) การประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายและสร้างทางเลือกใหม่แก่นักท่องเที่ยว และแจ้งให้อำเภอพิมายจัดทำรายละเอียดโครงการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เสนอขออนุมัติโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต นายอำเภอพิมาย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรูปแบบคุณลักษณะและสืบราคารถบริการนำเที่ยวหัวลาก ลูกพ่วง และรายการประกอบและตกแต่งพิเศษรถนำเที่ยว ประกอบด้วย นายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ ปลัดอำเภอพิมาย นายจาตุรงค์ ถนอมกลาง ปลัดอำเภอพิมาย และนายพรเทพ ทุมพงษ์ นายช่างตรวจสภาพรถ 5 สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขาอำเภอพิมาย
คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นำข้อมูลที่ได้รับจากกลุ่มผู้ประกอบการรายห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป มากำหนดเป็นรูปแบบคุณลักษณะและราคารถบริการนำเที่ยว หัวลาก ลูกพ่วง และรายการประกอบและตกแต่งพิเศษรถนำเที่ยว
โดยแยกออกเป็น 3 รายการ ประกอบด้วย
1.) ซื้อหัวลาก 2 หัวลาก เป็นเงิน 1,996,000 บาท 2.) ซื้อลูกพ่วง 2 พ่วง เป็นเงิน 1,996,000 บาท และ 3.) จ้างประกอบตกแต่งพิเศษรถนำเที่ยว 2 ขบวน เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อให้แต่ละโครงการมีวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาและสามารถใช้วิธีสอบราคาได้
นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ได้อนุมัติโครงการตามที่เสนอ
วันที่ 5 มกราคม 2552 นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต นายอำเภอพิมาย ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถบริการนำเที่ยว แยกออกเป็น 3 โครงการ และประกาศสอบราคาจ้างเหมาประกอบและตกแต่งพิเศษรถบริการนำเที่ยว โดยส่งประกาศสอบราคาไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเดียวกันกับผู้ประกอบการที่ได้สอบถามรูปแบบคุณลักษณะและราคา จึงทำให้ผู้ที่ชนะการสอบราคาและเข้าเป็นคู่สัญญา ทั้ง 3 โครงการ คือห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป จำนวน 2 โครงการและห้างหุ้นส่วนจำกัด ปิ่นสุดา จำนวน 1 โครงการ
โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป เป็นผู้จัดทำเอกสารรูปแบบคุณลักษณะและราคาและใบเสนอราคาของผู้เข้าเสนอราคาทั้ง 3 โครงการ รวมทั้งยื่นซองเสนอราคาแทนห้างหุ้นส่วนอื่น ๆ และในการส่งมอบพัสดุ
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (หัวลาก) ประกอบด้วยนายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ ปลัดอำเภอพิมาย นายจาตุรงค์ ถนอมกลาง ปลัดอำเภอพิมาย และนายพรเทพ ทุมวงษ์ นายช่างตรวจสภาพรถ 5 สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขาอำเภอพิมาย ได้ร่วมกันทำการตรวจรับพัสดุ (หัวลาก) จำนวน 2 หัวลาก ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 1/2552 ลงวันที่ 30 มกราคม 2552 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบอื่นทั้งหมดจะต้องเป็นของแท้ของใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อนไม่เป็นของเก่าเก็บและมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญา
แต่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป ผู้ขาย ได้ส่งมอบพัสดุ (หัวลาก) จำนวน 2 หัวลาก เป็นเครื่องยนต์เก่ามือสองไม่ถูกต้องตามสัญญา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนคดีแล้ว มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธเหมทานนท์ หรือปริสุทโธเหมทานน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายบุญยืน คำหงส์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ในขณะนั้น มีมูลความผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2. การกระทำของนายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต นายอำเภอพิมาย มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3. การกระทำของนางสงกรานต์ ผลภิญโญ หรือสิทธิรักษ์ เสมียนตราอำเภอพิมาย ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
4.การกระทำของนายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ นายจาตุรงค์ ถนอมกลาง และนายพรเทพ ทุมพงษ์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (หัวลาก) จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง
5. การกระทำของนายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ ปลัดอำเภอพิมาย ในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และการกระทำของนายวิรัตน์ อรรถธีระพงษ์ นายจาตุรงค์ ถนอมกลาง และนายพรเทพ ทุมพงษ์ ในฐานะคณะกรรมการกำหนดรูปแบบคุณลักษณะและสืบราคารถนำเที่ยว (หัวลาก และลูกพ่วง) และคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดรายการประกอบและตกแต่งพิเศษรถนำเที่ยว มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 157และมาตรา 162 (1) และ (4) ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4)ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้
6. การกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด นครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป หรือบริษัท นครพัฒนาอินเตอร์กรุ๊ป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปิ่นสุดาก่อสร้าง และหุ้นส่วนผู้จัดการห้าง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ได้ขาดอายุความแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้
7. การกระทำของคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาทั้ง 3 โครงการ เป็นพฤติการณ์ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาคุณสมบัติและเอกสารของผู้เสนอราคาให้รอบคอบ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการจึงเข้าข่ายมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64
ทั้งนี้ ภายหลังการลงมติดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการ เห็นชอบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1)
การดำเนินการทางวินัย ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 แล้วแต่กรณี
การดำเนินการอื่น ๆ แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า ผลการดำเนินการทั้งในส่วนคดีอาญา และทางวินัย ในคดีนี้เป็นทางการ
แต่หากพิจารณาข้อมูลมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดถูกกล่าวหาในคดีนี้ ตามที่นำเสนอไปข้างต้น จะพบว่าผู้เกี่ยวข้องที่ถูกชี้มูลความผิดมีจำนวนมากนับสิบราย มีตำแหน่งสำคัญทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ รวมไปถึงกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย
จึงนับได้ว่าเป็นอีกคดีใหญ่ สะเทือนจังหวัดนครราชสีมา อีกหนึ่งคดี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
บทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง