"...มีการเบิกจ่ายเพื่อส่งใช้เงินยืมเป็นเท็จ เนื่องจากบัณฑิตแรงงาน แกนนำอาสาสมัครแรงงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดนราธิวาสบางส่วนมิได้เดินทางไปฝึกอบรมและศึกษาดูงานดังกล่าว แต่กลับมีการลงลายมือชื่อเพื่อรับรองในการเบิกจ่ายค่าที่พักและค่าอาหารจากโครงการฯ โดยนายชัยยุทธฯ เป็นผู้ที่รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และจัดทำเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเพื่อส่งใช้เงินยืมในโครงการฯ..."
จำคุก 5 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
คือ บทสรุปคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ที่ตัดสินในคดีกล่าวหา นายชัยยุทธ เต็มหิรัญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส ในคดีทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 13 - 16กันยายน 2556 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและสำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการ ในระหว่างการแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 9 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลรายละเอียดตรวจสอบคดีนี้ ของ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนราธิวาส มานำเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 1 ราย คือ นายชัยยุทธ เต็มหิรัญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สังกัด สำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส
ข้อกล่าวหา คือ ทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ระหว่างวันที่ 13 - 16กันยายน 2556 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและสำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนราธิวาส ระบุพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 สำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาสได้จัดทำโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่13 ถึง 16 กันยายน 2556 งบประมาณในการดำเนินโครงการฯ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 774,000 บาท เป็นโครงการที่นำบัณฑิตแรงงาน แกนนำอาสาสมัครแรงงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 150 ราย เดินทางไปฝึกอบรมและศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปรากฏว่ามีการเบิกจ่ายเพื่อส่งใช้เงินยืมเป็นเท็จ เนื่องจากบัณฑิตแรงงาน แกนนำอาสาสมัครแรงงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดนราธิวาสบางส่วนมิได้เดินทางไปฝึกอบรมและศึกษาดูงานดังกล่าว แต่กลับมีการลงลายมือชื่อเพื่อรับรองในการเบิกจ่ายค่าที่พักและค่าอาหารจากโครงการฯ
โดยนายชัยยุทธฯ เป็นผู้ที่รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตแรงงานจังหวัดนราธิวาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และจัดทำเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเพื่อส่งใช้เงินยืมในโครงการฯ
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายชัยยุทธ เต็มหิรัญ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมีมูลความผิดทางวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการมติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1), (4) และมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7)
@ คำพิพากษาของศาล
คดีหมายเลขดำที่ อท 43/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 84/2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 1237/1 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง
คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 10,000 บาท
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30./
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า เกี่ยวกับผลคำพิพากษาศาลฯ ดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) ให้อุทธรณ์คำพิพากษา หรือไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่อในส่วนที่รอการลงโทษจำคุกจำเลย
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง ไม่ให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป