"...แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงการคลังจะมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการบรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่ แต่ก็เป็นเพียงการดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นหน้าที่ปกติของกระทรวงการคลังตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ไม่มีผลให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง จึงไม่มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหา..."
นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปกติ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวมมูลค่า 52,491,368.33 บาท ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้วนั้น
ได้รอดพ้นจากการถูกลงโทษไล่ออก ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นผลสืบเนื่องจากการถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ไปแล้ว เนื่องจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ถูกยุบเลิกและเสร็จสิ้นการชำระบัญชีไปแล้ว และแม้ว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังจะมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการบรรดาทรัพย์สินของ บบส.ที่เหลืออยู่ แต่ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ไมีมีอำนาจสั่งลงโทษไล่ออกนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ ได้ ตามความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ได้มีการวินิจฉัยเสร็จสิ้นไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าจากการสืบค้นข้อมูลความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฏีกา พบว่า ในช่วงเดือนก.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีหนังสือ ลับ ที่ กค 0803.3/ล.944 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ดังนี้
1. วันที่ 25 มีนาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลังสรุปความได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติว่าการกระทำของอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่รวมมูลค่า 52,491,368.33 บาท และให้ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกผู้ถูกกล่าวหาภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 122 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
2. สคร. โดยได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของ บบส. แล้วปรากฎว่า บบส. จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้กำหนดทุนของ บบส.เป็นจำนวนหุ้นสามัญสิบล้านหุ้นมีมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาทรวมเป็นทุนหนึ่งพันล้านบาท โดย บบส.จะได้รับทุนประเดิมจำนวนนี้จากรัฐบาล และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น
ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2550 อันมีผลให้ บบส. ยุบเลิกไป โดยให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของ บบส.
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 รับทราบรายงานการเสร็จสิ้นการชำระบัญชีของ บบส. และได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานการเสร็จสิ้นการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2560 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 เพื่ออนุวัติตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ ซึ่งกำหนดว่า ให้ถือวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
3. วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สคร. ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจาก สคร. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บบส. ผู้ถูกกล่าวหา ตามการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 122 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ย่อมต้องเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเมื่อพิจารณาการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บบส. ของผู้ถูกกล่าวหา ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ และพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ รวมทั้งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
ไม่ปรากฎว่ามีบทบัญญัติใดกำหนดให้อำนาจปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหา และเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบัน บบส. ได้ยุบเลิกไปและสิ้นสุดการชำระบัญชีแล้ว
จึงเห็นว่า ปลัดกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บบส. ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้น
4. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือตอบหนังสือหารือของ สคร. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของ บบส. ได้ดำเนินการชำระบัญชีเสร็จสิ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 แล้ว บรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่จึงถูกโอนให้แก่กระทรวงการคลังตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ กระทรวงการคลัง จึงมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการบรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการสั่งลงโทษไล่ออกตามมาตรา 122 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ต่อไป
5. สคร. พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วยังคงมีความเห็นว่าปลัดกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกในกรณีนี้ โดยเห็นว่า แม้ว่าบรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่จะถูกโอนให้แก่กระทรวงการคลังตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ และกระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการบรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่ แต่กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เท่านั้น ไม่ได้ส่งผลให้ปลัดกระทรวงการคลังมีอำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาที่ จะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้
ทั้งนี้ เนื่องจากความเห็นของ สคร. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความแตกต่างกัน จึงขอหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นว่า ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บบส. ผู้ถูกกล่าวหา ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ หากมีอำนาจสั่งลงโทษ จะต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด รวมถึงข้อเสนอแนะอื่น เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นที่ยุติได้โดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา 122 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ให้แจ้งคำวินิจฉัยพร้อมกับข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงตามข้อหารือนี้ว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ถูกยุบเลิกโดยพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 และได้เสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้วตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานการเสร็จสิ้นการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2560 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560
บบส. จึงสิ้นสภาพบุคคล
ดังนั้น บบส. และอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บบส. ผู้ถูกกล่าวหา จึงไม่มีสถานะความเป็นนายจ้างและลูกจ้างอีกต่อไปนับแต่นั้น กรณีจึงไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาที่จะสั่งลงโทษไล่ออก ตามมาตรา 122 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และแม้ว่าปัจจุบันกระทรวงการคลังจะมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการบรรดาทรัพย์สินของ บบส. ที่ยังคงเหลืออยู่
แต่ก็เป็นเพียงการดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นหน้าที่ปกติของกระทรวงการคลังตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ไม่มีผลให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา
ดังนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง จึงไม่มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหา
ฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ ภาพจาก www.tnews.co.th
อนึ่งเกี่ยวกับคดีร่ำรวยผิดปกติ ของ นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ นั้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวเกี่ยวกับ คดีตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่ง ป.ป.ช. ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรวมมูลค่า 52,491,368.33 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ระบุว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหา นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยที่ประชุมมีมติให้ส่งรายงาน สำนวน การไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาล สั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ความแพ่ง เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน คดีหมายเลขดำที่ พท 1/2565 คดีหมายเลขแดงที่ พท 2/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด ผู้ร้อง กับ นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ ผู้ถูกกล่าวหา และ นางทิพวัลย์ ฉัตรภูติ ผู้คัดค้าน ได้ความว่า ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินในชื่อผู้ถูกกล่าวหา พร้อมดอกผลรวมเป็นเงิน 44,858,877.33 บาท กับทรัพย์สินในชื่อผู้คัดค้านพร้อมดอกผลรวมเป็นเงิน 7,632,491 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน ส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินและทรัพย์สินที่มีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการรับช่วงทรัพย์ของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว พร้อมกับให้โอนกรรมสิทธิ์หรือชำระเงิน พร้อมดอกผลของทรัพย์สินที่มีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินข้างต้น แก่แผ่นดินโดยกระทรวงการคลัง หากไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านไม่สามารถโอนทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้เงินแทนทรัพย์สินที่มีคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินข้างต้น หรือให้โอนทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่ขาดอยู่แก่แผ่นดินแทนจนครบถ้วน และหากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โดยคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
สำหรับทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จำนวน 3 รายการ รวมมูลค่า 52,491,368.33 บาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่ศาลมีคำพิพากษา ตรงกับที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทุกรายการ มีรายละเอียดดังนี้
ทรัพย์สินในชื่อนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ ประกอบด้วย
1. เงินชำระค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตบริษัท อเมริกันเอ็กซ์เพลส (ไทย) จำกัด ช่วงวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 รวมเป็นเงิน 34,518,129.57 บาท
2. เงินค่าเช่าซื้อรถยนต์เบนซ์ 2 คัน รวม 10,340,747.76 บาท
ทรัพย์สินในชื่อนางทิพวัลย์ ฉัตรภูติ คือ เงินฝากในธนาคาร ช่วงวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 จำนวน 7,632,491 บาท
นับเป็นอีก 1 คดีตัวอย่าง เกี่ยวกับคดีร่ำรวยผิดปกติ ของผู้บริหารในหน่วยงานรัฐ ที่ต้องบันทึกไว้เป็นบทเรียน ไม่ให้ใครเดินซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งปัจจุบันและในอนาคตสืบไป