พลิกปูมมหากาพย์สะพานรัตนโกสินทร์สมโภชน์ 200 ปี จ.อยุธยา ถล่ม ใช้เวลาเกือบ 8 ปีพิสูจน์ข้อเท็จจริง พ่อ ‘เด็กหญิง’ 10 ขวบที่เสียชีวิต ร้อง ‘อิศรา’ ก่อนยื่นสารพัดหน่วยงาน สุดท้าย ป.ป.ช.ฟันแค่วินัยนายกเทศมนตรี-ลงดาบอาญา 2 วิศวกร-เอกชน ก่อนศาลคดีทุจริตฯภาค 1 สั่งจำคุก
........................................................
เรียกได้ว่าปิดฉากแรกลงไปแล้ว!
มหากาพย์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.พระนครศรีอยุธยา ถล่มเมื่อปี 2556 หลังจากเปิดใช้สะพานได้เพียงแค่ 9 เดือน ใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกือบ 8 ปี ถึงได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่สะพานดังกล่าวถล่มลง เนื่องจากบริษัทเอกชน และวิศวกร ไม่สามารถควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ และข้อกำหนดในสัญญา
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลความคืบหน้าคดีดังกล่าว โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 พิพากษาจำคุก นายอนุวัติ วิชัยโย หรือนายณัฐวรรธน์ วิชยธรรมโม และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี 2 วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง จำเลยที่ 1-2 คนละ 6 ปี และสั่งปรับ 80,000 บาท แก่บริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด หรือบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริก แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 3 และจำคุก 4 ปี ปรับ 80,000 บาท แก่นายมนตรี เคหนาดี จำเลยที่ 4
อย่างไรก็ดีจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 3 ปี ปรับจำเลยที่ 3 46,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 รวม 3 ปี ปรับ 46,000 บาท แต่คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมดมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้ (อ่านประกอบ : คุกคนละ 3 ปี! 2 วิศวกรคุมงานสะพาน 200 ปี ถล่ม 'เอกชน' โดนปรับ 4.6 หมื่น-รอลงโทษ)
หลายอาจคุ้นหู หรือหลายคนอาจลืมไปแล้ว?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้
เมื่อเดือน ก.ย. 2557 นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของ ด.ญ.พิริยาภรณ์ เสือสมิง วัย 10 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพาน 200 ปีถล่มดังกล่าว เข้าร้องเรียนต่อสำนักข่าวอิศราว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมด ทว่าอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่ส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี อีกทั้งหน่วยงานราชการ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ ไม่มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือควรต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนี้
โดยนายอนุนาท ร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.ท่าเรือ โดยแบ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 บริษัทดีไนซ์ ( 2009 ) จำกัด และนายมนตรี เคหนาดี
กลุ่มที่ 2 วิศวกรผู้ควบคุมงาน 2 ราย ได้แก่ นายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม ศรีนวลสกุลณี
กลุ่มที่ 3 คณะกรรมการตรวจการจ้าง 6 ราย ได้แก่ นายพิลึก ชัชวงษ์ นายมานพ ธูปทอง นายรชต ชาติพรหม น.ส.กานต์พิชา ชาติพรหม นายชาญ คงชาตรี และนางศิริพร หวังศิระกร
กลุ่มที่ 4 เทศบาลตำบลท่าหลวง และนายเชษฐ่า ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าหลวง (ขณะนั้น )
กลุ่มที่ 5 นายวรพจน์ นุชิต อดีตหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ วิศวกรชำนาญการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังจากนั้นเดือน ต.ค. 2557 นายอนุนาท เสือสมิง เข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ต่อมาศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ มีหนังสือตอบกลับยืนยันว่าพร้อมติดตามความคืบหน้าเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่บกพร่องจนเป็นเหตุให้สะพาน 200 ปีถล่มดังกล่าวแน่นอน
ต่อมาในปี 2558 มีรายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่นายอนุวัติ และนายสันติธรรม 2 วิศวกร โดยการตัดเงินเดือนแค่ 4% ทำให้นายอนุนาท ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ พร้อมกับยื่นเรื่องต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน เนื่องจากพบข้อมูลใหม่ว่า อาจมีการทุจริตเกิดขึ้นในขั้นตอนการก่อสร้าง และการก่อสร้างอาจไม่เป็นไปตามแบบแปลนและมาตรฐานงานช่างหรือไม่
โดยเฉพาะประเด็นแบบแปลนบางจุดกำหนดให้ Main Cable มีจำนวน 22 เส้น และบางจุดมี 12 เส้น แต่ในการก่อสร้างจริงมีเพียง 14 เส้น ขณะที่แบบแปลนระบุชนิดลวดว่า เป็นลวดเหล็กตีเกลียว ชนิด 7 เกลียว แต่ในการก่อสร้าง เชือกลวดเหล็กแกนเส้นใย นอกจากนี้ชิ้นส่วน HDPE Pipe กำหนดให้มีการเคลือบสาร E-POXY Coated แต่ในการก่อสร้างกลับไม่ได้มีการเคลือบสารดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่ตามผลการสอบสวนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามคำสั่งที่ 1142/2556 พบว่า นายอนุวัติ และนายสันติธรรม ที่ปรากฏชื่อในหนังสือสภาวิศวกร ในฐานะผู้วิศวกรผู้ก่อสร้างสะพาน 200 ปีดังกล่าว ไม่สามารถทำงานควบคุมก่อสร้างหรือการผลิตสะพานดังกล่าวได้ เนื่องจากภาคีวิศวกรสามารถควบคุมการก่อสร้างสะพานได้เพียง 12 เมตร แต่สะพาน 200 ปี มีความยาวประมาณ 111 เมตร
ต่อมาปี 2558 กรมโยธาธิการและผังเมือง มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยแก่นายอนุนาท หลังจากร้องเรียนขอให้เปลี่ยนโทษนายอนุวัติ และนายสันติธรรม จากตัดเงินเดือน 4% เป็นไล่ออกจากราชการว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุฯ โดยพฤติการณ์มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรได้รับโทษลดเงินเดือนในอัตรา 4% ของเงินเดือนที่ได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นชอบด้วย และรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยัง อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาแล้ว
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมีคำสั่งเร่งแสวงหาข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
ต่อมาต้นปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อไต่สวนกรณีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยมีการกล่าวหา นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง กับพวกรวม 16 ราย เป็นผู้ถูกกล่าวหา ฐานกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (เคเบิ้ลคนเดินข้าม) ถล่มเสียหายทั้งสะพาน และมีหนังสือลับด่วนแจ้งคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนให้กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว
แต่ไม่สามารถแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้กับนายวรพจน์ นุชิต วิศวกรผู้ออกแบบสะพานดังกล่าวตามทะเบียนราษฎร์ได้ ขณะที่ข้อมู,จากดีเอสไอ พบว่า สภ.ท่าเรือ ออกหมายจับนายวรพจน์ เนื่องจากหลบหนีการจับกุม
ต่อมาเมื่อปี 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหา ‘ล็อตแรก’ รวม 5 ราย ได้แก่
1.นายวรพจน์ นุชิต
2.บริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด
3.นายมนตรี เคหนาดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด
4.นายอนุวัติ วิชัยโย
5.นายสันติธรรม สีนวนสกุลณี
ขณะที่นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง รอดตัวในข้อกล่าวหาแรก โดย ป.ป.ช. เห็นว่า ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมสะพานถึง 4 ครั้ง และตรวจสอบสะพานเป็นระยะ ดังนั้นไม่อาจฟังได้ว่าการไม่สั่งปิดสะพานดังกล่าว มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงไม่มีมูลผิดทางอาญา แต่ผิดทางวินัย (อ่านประกอบ : นายก ท.ท่าหลวงโดนแค่วินัย! ป.ป.ช.ฟันอาญา‘วิศวกร-เอกชน’ปมสะพาน 200 ปีอยุธยาถล่ม)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งรายงานไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย และดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
กระทั่งปี 2564 เรื่องถึงชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาจำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว 4 ราย ส่วนนายวรพจน์ นุชิต ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม
ทั้งหมดคือมหากาพย์สะพานรัตนโกสินทร์สมโภชน์ 200 ปีถล่มเมื่อปี 2556 จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงเด็กหญิงอายุ 10 ขวบด้วย ใช้ระยะเวลาพิสูจน์ข้อเท็จจริงยาวนานถึง 8 ปี
และคดีนี้ยังไม่จบ จำเลยทั้งหมดสามารถยื่นอุทธรณ์พิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้อีกในศาลสูงต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบสะพาน 200 ปี จาก https://static.posttoday.com/
อ่านประกอบ :
ผู้ว่าฯ อยุธยา ชง ‘มท.1’ สั่งปลด ‘นายกฯท่าหลวง’ละเลยไม่สั่งปิดสะพานมรณะ200ปี
อ.ก.พ.มหาดไทย รับคำค้านพ่อเหยื่อสะพาน200ปี สั่งสอบวินัยร้ายแรง'วิศวกร'
จ.อยุธยาตั้ง กก.สอบ'นายกเทศมนตรีท่าหลวง'ปมสะพาน 200 ปีถล่มแล้ว
เปิดชื่อ-พฤติการณ์คดีสะพาน 200 ปีถล่ม! ซ่อม 4 ครั้งไม่ตรวจให้ดีก่อน
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบปมสะพาน 200 ปีถล่ม! วิศวกรออกแบบเผ่น-แจ้งคำสั่งไม่ได้
ตามไม่เจอ! 'วิศวฯออกแบบ' สะพานฯ200ปีอยุธยาถล่ม-หลังป.ป.ช.ตั้งกก.สอบ
‘ไล่ออก’สถานเดียว! พ่อเหยื่อสะพานถล่มจ้างทนายสู้ไม่แก้ไขโทษเจอ ม.157
ผู้ว่าฯอยุธยาเซ็นปลดวิศวกรสร้างสะพานฯ 200 ปีถล่ม-ตัดเงินเดือน กก.ตรวจรับฯ
ยื่นครั้งสุดท้าย! เหยื่อสะพาน 200 ปีถล่มขอผู้ว่าลงโทษไล่'วิศวกร'ออก
ใช้ 9 เดือนซ่อม 4 ครั้ง! กก.สอบปมสะพาน 200 ปีถล่มยันฝีมือ"เอกชน"
กรมโยธาฯยังยัน'วิศวกร'สะพาน200ปีถล่มโทษแค่ลดเงินเดือน-ป.ป.ช.รุดสอบแล้ว
ตร.ส่งคดีสะพาน 200 ปีถล่มฯให้อัยการฟ้อง-"วิศวกร"รู้โดนสาวถึง รีบชิ่งหนี
"วิศวกร"สร้างสะพาน 200 ปีถล่มหนีแล้ว! ตร.ออกหมายจับพบปลอมเอกสารด้วย
รายชื่อ 17 นักการเมือง-ขรก.ในผลสอบคดีสะพานฯ 200 ปี อยุธยา ถล่ม!
เปิดเอกสารมัดสัมพันธ์ลึก "เอกชน-วิศวกร" สะพานฯถล่ม ไฉนคดีทุจริตไม่คืบหน้า!
มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก
เปิดหนังสือ"ดีเอสไอ"ตอบพ่อเหยื่อสะพาน200 ปีถล่ม ลุยล่าตัวผู้กระทำผิดแน่!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage