"...การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีที่มาของการระบาดไปทั่วโลกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ได้รายงานข่าวตรงกันว่า ทางการจีนได้ตั้งข้อหาอดีตเจ้าหน้าที่ปกครองระดับสูงของเมืองอู่ฮั่นรายหนึ่ง ในข้อหามีพฤติกรรมทุจริต ซึ่งพื้นที่อู่ฮั่นนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดไวรัสโคโรน่า..."
.......................
ในปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น นอกเหนือจากประเด็นการทุจริตในประเทศไทยซึ่งเป็นที่ร้อนแรงแล้ว ประเด็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกก็เป็นที่กล่าวขานไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่งคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน ก็ทำให้หลายรัฐบาลทั่วโลกมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเวชภัณฑ์ด้วยช่องทางที่เร่งด่วนพิเศษ เพื่อจะนำมาบรรเทาสถานการณ์ในประเทศ
อย่างไรก็ตามการใช้ช่องทางด่วนพิเศษในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นย่อมหมายถึงว่าจะต้องมีการยกเว้นมาตรการบางอย่าง ซึ่งการยกเว้นมาตรการบางอย่างที่ว่ามานั้นก็หมายถึงจุดโหว่ที่มีมากขึ้นซึ่งนำไปสู่การทุจริตหรือนำไปสู่ความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างนั่นเอง
ดังนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมประเด็นข่าวทุจริตที่สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้นมาตลอดปี 2563 ในรายงานส่องคดีทุจริตโลก ซึ่งมีทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 และประเด็นอื่นๆมานำเสนอกันโดยมีรายละเอียดดังนี้
@ส่องคดีทุจริตโลก:ไทม์ไลน์อดีต ปธ.นิสสิน ซ่อนตัวกล่องดับเบิลเบส หลบหนีคดีทุจริตบันลือโลก
เริ่มกันที่สัปดาห์แรกของต้นปี 2563 กับข่าวดังระดับโลก กรณี นายคาร์ลอส โกส์น อายุ 65 ปี อดีตประธาน นิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น หลบหนีการดำเนินคดีทุจริตในประเทศญี่ปุ่นด้วยการซ่อนตัวในกล่องดับเบิลเบส ไปยังประเทศเลบานอน เมื่อช่วงวันที่ 31 ธ.ค.ปี 2562
โดยสำนักข่าว Straits Times ของประเทศสิงคโปร์ ได้ทำรายงานพิเศษประมวลเหตุการณ์ไทม์ไลน์การจับกุม ก่อนการหลบหนีคดีของนายคาร์ลอสเอาไว้ ในหัวข้อเรื่องการล่มสลายของ คาร์ลอส โกส์น ระบุว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2561 สำนักอัยการประเทศญี่ปุ่นได้จับกุมนายคาร์ลอส และผู้ช่วยมือขวาของเขาคือนายเกร็ก เคลลีย์ (Greg Kelly) หลังจากที่ทั้ง 2 คนมาถึงสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว
โดยทั้ง 2 คนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดระเบียบว่าด้วยการเงินการคลัง รวมไปถึงปกปิดการแสดงข้อมูลรายได้ของนายคาร์ลอส อดีตประธานบริษัทนิสสัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างกลุ่มพันธมิตรบริษัทยานยนต์ที่เข้มแข็งอย่าง เรอนอลท์ (Renault) นิสสัน และบริษัทมิตซูบิชิ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คน ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
และต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. สำนักอัยการของประเทศญี่ปุ่น ได้ตั้งข้อหานายคาร์ลอสและนายเกร็กเรื่องแสดงรายได้อันเป็นเท็จระหว่างปี 2553-2558 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 5 พันล้านเยน หรือ 1,395,878,670 บาท ก่อนที่บุคคลทั้ง 2 คน จะตั้งข้อหาอีกครั้งว่าไม่ได้รายงานรายได้เป็นจำนวน 4 พันล้านเยน หรือ 1,116,702,936 บาทในช่วงระยะเวลา 3 ปี หลังจากปี 2558
มีรายงานว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2561 นายคาร์ลอสได้รับเงินค่าตอบแทนไปทั้งสิ้น 16.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 509,999,750 บาท ซึ่งเงินที่ว่านี้ เป็นเงินเดือนรวมทั้งปีจากทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ นิสสัน เรอนอลท์ มิตซูบิชิ
จากนั้น ในวันที่ 21 ธ.ค.2561 นายคาร์ลอสก็ถูกตั้งข้อหาอีกว่าเขาได้ดำเนินการโยกย้ายงบการลงทุนส่วนตัวที่มีลักษณะขาดทุนเข้าไปในบริษัทนิสสัน ซึ่งทำให้เขาต้องถูกกักตัวนานขึ้นไปอีก ขณะที่ทางด้านนายเกร็กได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 25 ธ.ค. ภายใต้เงื่อนไขว่าเขาห้ามเดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่น
จากนั้นวันที่ 5 มี.ค.2562 ศาลได้อนุมัติคำขอประกันตัวของคาร์ลอส หลังจากที่เขาได้ยื่นคำขอจำนวน 3 ครั้ง โดยวงเงินประกันตัวที่ศาลอนุมัติ นั้นอยู่ที่ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 271,597,500 บาท
แต่หลังจากประกันตัวได้ไม่นาน เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2562นายคาร์ลอส ได้ถูกตำรวจบุกจับกัมตัวที่อพาร์ทเม้นท์กลางกรุงโตเกียว หลังจากหน่วยงานสืบสวนสอบสวน สงสัยว่า นายคาร์ลอสได้จ่ายเงิจำนวนหนึ่งให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันในประเทศโอมาน
หลังจากนั้นในวันที่ 25 เม.ย.2562 ศาล ได้อนุมัติให้นายคาร์ลอสประกันตัวด้วยเงินทั้งสิ้น 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135,798,750 บาท ด้วยเงื่อนไขว่าห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศญี่ปุ่น และจะต้องขออนุญาตจากทางศาลทุกครั้ง หากต้องการที่จะพบภรรยา
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอการพิจารณา ในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่ 2563 ไม่นานก็ปรากฎข่าวออกมาว่านาย คาร์ลอส ได้หลบหนีออกจากประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว โดยใช้วีธีการซ่อนตัวอยู่ในกล่องใส่เครื่องดนตรี ของนักดนตรีที่มาบรรเลงในงานฉลองปีใหม่
โดยกล่องดนตรีดังกล่าว ได้พาตัวนายคาร์ลอสไปยังสนามบินเล็กๆนอกเมืองโตเกียว ที่มีเครื่องบินเจทส่วนตัวจอดรออยู่ ก่อนที่นายคาร์ลอสจะนั่งเครื่องบินต่อไปยังประเทศตุรกีและเปลี่ยนเครื่องบินเพื่อไปยังกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน
@ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตเลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์อู่ฮั่นโดนข้อหาฉ้อโกง หลังไวรัสโคโรน่าระบาด
ส่องคดีทุจริตโลกในประเด็นถัดมานั้นเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีที่มาของการระบาดไปทั่วโลกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ได้รายงานข่าวตรงกันว่า ทางการจีนได้ตั้งข้อหาอดีตเจ้าหน้าที่ปกครองระดับสูงของเมืองอู่ฮั่นรายหนึ่ง ในข้อหามีพฤติกรรมทุจริต ซึ่งพื้นที่อู่ฮั่นนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดไวรัสโคโรน่า
ทั้งนี้ อดีตเจ้าหน้าที่ปกครองรายนี้ มีชื่อว่านายไค่เจี๋ย (Cai Jie) เป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองอู่ฮั่น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. นายไค่เจี๋ยได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการผ่าตัดโครงสร้างทางการปกครองในมณฑลหูเป่ย ที่ประสบกับปัญหาในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในช่วงแรก จนเป็นเหตุให้ใน ณ เวลานี้ไวรัสโคโรน่าได้ระบาดไปทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นมากกว่า 1.7 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้ออีกกว่า 81.7ล้านคน
โดยสำนักอัยการสูงสุดของประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่านายไค่เจี๋ย ถูกจับกุมด้วยข้อหาว่า ได้รับสินบนและใช้อำนาจโดยมิชอบ
อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเวลาที่นายไค่เจี๋ยโดนปลดออกจากตำแหน่ง คณะกรรมการวินัยข้าราชการได้ออกแถลงการณ์ถึงสาเหตุการปลดนายไค่เจี๋ยเช่นกันว่า
เขานั้นมีพฤติกรรมการนำเอาตำแหน่งหน้าที่ไปใช้หาผลประโยชน์และดำเนินการให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์และเงินจำนวนมาก ซึ่งไม่สุจริตและยังมีรายงานด้วยว่าไค่เจี๋ยได้ยักยอกงบประมาณแผ่นดินไปสู่บริษัทเอกชนจำนวนหลายแห่ง
และยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่านายไค่เจี๋ยยังดำรงตำแหน่งอยู่ ทางการอู่ฮั่นยังเคยจัดงานเลี้ยงครอบครัวประจำปีจำนวน 40,000 ครอบครัว ซึ่งช่วงเวลาของงานเลี้ยงดังกล่าวนั้นก็เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนที่รัฐบาลจีนได้ประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นด้วย
ซึ่งนอกเหนือนายไค่เจี๋ยแล้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปลดนายหม่า กั้วเชียง (Ma Guoqiang)อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมื่อง อู่ฮั่นออกจากตำแหน่งเพราะล้มเหลวจากการระงับการแพร่ระบาดของไวรัสด้วยเช่นกัน
@ส่องคดีทุจริตโลก: บัลแกเรีย-UAE แลกเปลี่ยนเวชภัณฑ์รับมือโควิด-19 แต่ได้อินทผลัมแทน
และพอหลังจากเหตุการณ์การระบาดเกิดขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลหลายรัฐบาลต้องมีการจัดซื้ออุปกรณ์ เวชภัณฑ์กันอย่างเร่งด่วน ซึ่งนี้ก็ได้กลายเป็นช่องทางในการทุจริตในหลายกรณีมากเช่นกัน แต่หนึ่งในการทุจริตที่โจ่งแจ้งก็คือที่ประเทศบัลแกเรีย โดยเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ https://bivol.bg/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของประเทศบัลแกเรีย เครือข่ายเว็บไซต์โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตคอร์รัปชัน (OCCRP) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รายงานข่าวความไม่ชอบมาพากลของการขนส่งสินค้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มายังประเทศบัลแกเรีย
ที่ปรากฏข้อมูลว่าในคาร์โก้สินค้าที่ถูกส่งมา ซึ่งควรจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า กลับกลายเป็นผลไม้อินทผลัมแห้งแทน
โดยความเป็นไปเป็นมาของเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลบัลแกเรียได้ประกาศว่าจะส่งออกผัก เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม จำนวน 32 ตันไปให้กับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE)
แลกกับการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะส่งเวชภัณฑ์ ถุงมือ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ,เสื้อป้องกันการติดเชื้อ และอาหารจำนวน 15 ตันมาให้กับบัลแกเรีย
อย่างไรก็ตาม นักข่าวสำนักข่าว Bivol รายงานว่าจากการตรวจสอบข้อมูลสินค้านำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของกรมศุลกากร ปรากฏว่าในโกดังสินค้าใกล้กับกรุงโซเฟีย เมืองหลวงของบัลแกเรีย สินค้านำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 12 ตัน จาก 15 ตันนั้น กลับกลายเป็นผลไม้อินทผลัม
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลนั้นปรากฏว่า มูลค่าสินค้าแลกเปลี่ยนกันระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบัลแกเรียกลับมีความไม่เท่าเทียม
โดยมีรายงานว่าสินค้าทั้งเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับมานั้นมีมูลค่าสูงเป็น 2 เท่า ของอินทผลัมที่บัลแกเรียได้รับ
สำนักข่าว Bivol จึงได้สืบสวนต่อไปจนพบว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงบริษัทเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับทางฝ่ายการเมืองขอบัลแกเรีย และยังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอาหารให้ดำเนินการทำขนส่งในครั้งนี้
โดยบริษัทเอกชนที่ว่านี้มีชื่อว่าบริษัท Gradus และปรากฏข้อมูลว่านางเดซิลสลาวา ทาเนวา (Desislava Taneva) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็เคยนั่งเป็นบอร์ดบริหารบริษัทดังกล่าวก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้บริษัท Graddus เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้บริจาคผลิตภัณฑ์อาหารจากนมไปบริจาคให้กับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนอีกบริษัทหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้บริจาคผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศบัลแกเรีย คือบริษัท Intrust ซึ่งบริษัทนี้ผู้เป็นเจ้าของคือนายดีแลน พีฟสกี (Deyland Peevski) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัลแกเรีย
โดยนายดีแลนนั้นยังมีหุ้นกับบริษัท Lakrima ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้จัดหาผลิตภัณฑ์นมเพื่อจะส่งไปบริจาคให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยเช่นกัน
@ส่องคดีทุจริตโลก: สภาคองเกรสฯ เรียกสอบ 'ทีมงานทรัมป์-7 บริษัท' พบข้อพิรุธจัดซื้อโควิด
ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีประเด็นการทุจริตอันเกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา สถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติของสหรัฐ (National Public Radio หรือ NPR) ได้รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลหนังสือราชการของสภาคองเกรส ระบุว่าคณะกรรมการสอบสวนของสภาคองเกรสได้เริ่มกระบวนการไต่สวนบริษัทจำนวนหนึ่งที่ได้รับสัญญาจากรัฐบาลในการจัดซื้ออันเกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด 19 เนื่องจากพบข้อพิรุธเกี่ยวกับการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทจำนวนหลายแห่ง กับทางรัฐบาลสหรัฐฯ อาทิ บริษัทบางแห่งขาดประสบการณ์ในการจัดหาเวชภัณฑ์ และบางบริษัทก็มีเส้นสายทางการเมืองใกล้ชิดกับทีมบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดยนายจิม คลเบิร์น ส.ส.จากพรรคเดโมแครต และประธานคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤติโคโรน่าไวรัส ได้ตั้งคำถามว่าทีมงานบริหารของนายทรัมป์มีวิธีการคัดเลือกบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัญญาการจัดหาชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอีกับทางรัฐบาลอย่างไร ทำไมต้องเจาะจงเลือกบริษัทเหล่านี้ และเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ที่ยังคงรุนแรง จึงทำให้มีหลายสัญญาการจัดซื้อชุดพีพีอีของรัฐบาล มีการเจาะจงให้บริษัทเหล่านี้ได้รับสัญญาไม่ต้องมีการแข่งขันการประกวดราคาแต่อย่างใด
ซึ่งความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวนั้นได้แก่ บริษัท Zach Fuentes LLC ซึ่งผู้บริหารคือนายแซคคารี่ ฟวนเตส (Zachary Fuentes) อดีตเสนาธิการทำเนียบขาว ในรัฐบาลของนายทรัมป์ โดยบริษัท Zach Fuentes LLC ที่ได้รับสัญญารัฐเป็นจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (94,989,000 บาท) ให้ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับชนเผ่าอินเดียนแดงเผ่านาวาโฮ อย่างไรก็ตามหน่วยงานด้านการให้บริการสาธารณสุขของเผ่าอินเดียนแดงนาวาโฮได้ส่งหนังสือชี้แจงว่าหน้ากากที่บริษัทสหรัฐฯส่งมาให้นั้นใช้งานไม่ได้
ส่วนอีกบริษัทมีชื่อว่า Federal Government Experts ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยรายละเอียดของสัญญาระบุว่าบริษัทจะต้องส่งหน้ากากอนามัยแบบ N95 จำนวน 6 ล้านชิ้นไปให้กับกระทรวงทหารผ่านศึก คิดเป็นมูลค่าสัญญาประมาณ 34.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,092,373,500 บาท) ทั้งที่ บริษัทแห่งนี้ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์และหน้ากากอนามัยมากก่อน อีกทั้งวิธีการที่รัฐบาลได้เลือกบริษัทนี้เข้ามารับสัญญา ก็เป็นวิธีการแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การประกวดราคาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีอีกกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการฯในสภาคองเกรสตั้งข้อสงสัยเป็นพิเศษก็คือ เมื่อคิดราคาปลีกของหน้ากากแบบ N95 ที่บริษัท Federal Government Experts ได้ทำสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯแล้วพบว่าจะอยู่ที่ชิ้นละ 5.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ (182 บาท) ซึ่งแพงกว่าราคาของหน้ากากแบบ N95 ที่ขายในท้องตลาด ถึง 3 เท่า
@ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.อังกฤษใช้งบหมื่นล.ซื้อหน้ากากไร้คุณภาพ บ.แลกเปลี่ยนเงินตรา
ขณะที่ประเทศอังกฤษเองก็พบความไม่โปร่งใสในเรื่องการทำสัญญาจัดซื้อหน้ากากอนามัยเช่นกัน โดยเมื่อช่วงวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวการ์เดี้ยนของอังกฤษได้รายงานข่าวในกรณีที่นายเคียร์ สเตอร์เมอร์ ส.ส.หัวหน้าพรรคแรงงานได้แรกร้องให้มีการสอบสวน เนื่องจากปรากฎรายงานว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขสาธารณะของอังกฤษ ประสบปัญหาเนื่องจากหน้ากากอนามัยจำนวนกว่า 50 ล้านชิ้นไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยหน้ากากอนามัยดังกล่าวนั้นมีที่มาจากการจัดซื้อในสัญญารัฐคิดเป็นมูลค่า 252 ล้านปอนด์ (10,263,530,975 บาท) ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับบริษัทลงทุนรายหนึ่งในช่วงเดือน เม.ย. เพื่อจะจัดซื้อชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอี
ขณะที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างน้อย 2 แห่งได้แก่ ได้แก่ Everydoctor และ Good Law Project ซึ่งทั้ง 2 องค์กรได้ยื่นเอกสารร้องเรียน ในกรณีที่รัฐบาลอังกฤษได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างชุดพีพีอีกับบริษัท อยันดา แคปิตัล ซึ่งบริษัทดังกล่าวนั้นเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินตรา การตั้งบริษัทนอกอาณาเขต แต่ไม่ใช่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการหาอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่อย่างใด
โดยในเอกสารของทั้ง 2 องค์กรนั้นระบุว่า นายแอนดรูว์ มิลลิส ที่ปรึกษาของนางลิซ ทรัส เลขาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ นั้นอาจเป็นผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจของรัฐบาลให้ทำสัญญาจัดซื้อชุดพีพีอีจากบริษัทอยันดา เนื่องจากมีรายงานว่านายมิลลิสซึ่งได้นั่งเป็นที่ปรึกษาในบอร์ดการค้าของประเทศอังกฤษ ที่มีนางทรัซนั่งเป็นประธานบอร์ด แต่เมื่อสืบประวัติการทำงานของนายมิลลิสย้อนกลับไปก็พบว่านายมิลลิสยังได้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทอยันดานับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
และยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่านายมิลลิสนั้นมีบริษัทที่ชื่อว่า Prospermill ที่สามารถจะเข้าถึงการผลิตของชุดพีพีอีในประเทศจีนได้อีกเช่นกัน แต่นายมิลลิสได้แนะนำไปยังรัฐบาลอังกฤษให้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทอยันดาแทน เนื่องจากบริษัทอยันดานั้นมีความสามารถในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่รวดเร็วกว่า
ทั้งนี้มีการประมาณการว่าหน้ากากที่ไม่สามารถใช้งานได้นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 50 ล้านชิ้น คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 150 ล้านปอนด์ (6,109,244,628 บาท) และยังพบเอกสารเพิ่มเติมว่ารัฐบาลได้ตกลงที่จะจ่ายเงินอีกจำนวน 41.25 ล้านปอนด์ (1,680,042,272 บาท) เพื่อจะเข้าถึงสัญญาการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว
@ส่องคดีทุจริตโลก: กองทัพพม่าใช้บริษัทลูกจัดซื้ออาวุธ หลังโดนอียูคว่ำบาตรปมโรฮีนจา
และข่าวการทุจริตรอบโลกล่าสุดที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอ นอกเหนือจากทุจริตเรื่องโควิด-19 แล้ว ก็มีประเด็นการทุจริตอันเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นในประเทศพม่า เพื่อนบ้านของประเทศไทย
โดยสำนักข่าวในโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตคอรัปชั่น (OCCRP) ได้เผยแพร่บทความการทำข่าวสืบสวนฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุถึงความพยายามที่จะจัดซื้ออุปกรณ์จากทางยุโรป ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อบทลงโทษของสหภาพยุโรปที่กีดกันการค้า รวมไปถึงห้ามไม่ให้มีการขาย “สินค้าสองทาง” (สินค้าที่มีการซื้อขายทั่วไป แต่สามารถนำไปใช้ออกแบบ/พัฒนา/ผลิต/ใช้/ดัดแปลงเป็นอาวุธที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งก่อสร้าง และสภาพแวดล้อมในวงกว้าง) กับประเทศพม่า
ซึ่งช่องทางจัดซื้ออาวุธของกองทัพพม่าในช่วงที่ถูกลงโทษนั้น ก็ได้แก่การใช้งานบริษัทลูกต่างๆให้ดำเนินการจัดซื้อแทนให้
อาทิ กรณีที่บริษัทสัญชาติพม่าชื่อว่า Aero Sofi Co. Ltd. ซึ่งบริษัทนี้ถูกบริหารโดยบุคคลผู้ถือพาสปอร์ตสัญชาตอังกฤษและยังเป็นอดีตผู้บริหารสายการบินแห่งหนึ่ง โดยบริษัทนี้ได้เข้าไปมีส่วนในการจัดซื้อเครื่องบินทหารรุ่น CASA C295 ให้กับทางกองทัพพม่าจำนวน 2 ลำ โดยเป็นการจัดซื้อจากกองทัพอากาศจอร์แดน คิดเป็นวงเงินตามมูลค่าสัญญาทั้งสิ้น 38.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,160,702,000 บาท) และจะมีกำหนดการปิดข้อตกลงตามสัญญาในช่วงก่อนสิ้นปี 2563 และยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าในเงื่อนไขของสัญญานั้น บริษัท Aero Sofi Co. Ltd จะเสนอคอร์สการฝึกอบรมนักบินที่ศูนย์ฝึกของบริษัทแอร์บัสในประเทศสเปน
สำหรับคุณลักษณะเพิ่มเติมของเครื่องบิน CASA 295 นั้นพบว่าสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องบินเพื่อขนส่งพลร่มลงพื้นที่ หรือสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องบินกันชิป (อากาศยานติดอาวุธหนักโจมตีภาคพื้นดิน) ได้อีกด้วย ซึ่งทางด้านของ Justice For Myanmar ได้ระบุชัดเจนว่าข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มชา ชาติพันธ์ต่างๆในพม่า และจะทำให้สถานการณ์สงครามกลางเมืองในรัฐอาระกัน รัฐคะฉิ่น และรัฐฉาน รุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ สำนักข่าว OCCRP ได้ตรวจพบว่าในช่วงปี 2561 นั้นมีการจัดซื้อโดรนเฮลิคอปเตอร์จากบริษัท Schiebel ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรีย โดยทางบริษัทได้อ้างว่าได้ขายโดรนดังกล่าวให้กับผู้ซื้อซึ่งมีศักยภาพอันไม่ระบุนามรายหนึ่ง ด้วยจุดประสงค์การซื้อขายว่าจะเอาโดรนไปใช้ในภารกิจการเฝ้าดูและทำแผนที่สำหรับการทำเหมืองและการก่อสร้างถนน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพบว่าโดรนดังกล่าวนั้นกลับไปอยู่ในวิดีโอของกองทัพเรือพม่า
ทั้งหมดนี้ เป็นคดีทุจริตโลกที่โด่งดังในปี 2563 ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาไว้ ณ โอกาสนี้ ส่วนในปี 2564 จะมีคดีทุจริตโลกสำคัญเรื่องไหนเกิดขึ้นอีกบ้าง ต้องติดตามดูกันต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage