“...ถ้าหากกองทัพบกต้องการจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง จำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนกรณีสนามมวยลุมพินีให้เต็มที่ เพราะกรณีนี้ส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมาก ทำให้การระบาดโควิด-19 ในไทยกลายเป็นการระบาดแบบ Super Spreader (คนที่มีความสามารถในการแพร่โรคไปยังบุคคลอื่น ๆ จำนวนมาก)…”
กรณีสนามมวยลุมพินีจัดแข่งขันชกมวยรายงานการใหญ่ ‘ลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร’ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำหนังสือถึงนายสนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 เพื่อขอให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปก่อนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 แต่การแข่งขันชกมวยของสนามมวยลุมพินีดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปแล้วนั้น
ใครมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนบ้าง ?
คือคำถามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายเอาไว้ ภายหลังลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : ชัดๆ ลำดับเหตุการณ์-ผู้เกี่ยวข้อง จัดมวยลุมพินี 6 มี.ค.หลังโดนเตือนโควิด -‘บิ๊กแดง’สั่งสอบ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 มีความคืบหน้ากรณีนี้ โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยภายหลังการประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวันของกองทัพบก โดยมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว พร้อมกับมีคำสั่งให้ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี และนายทหารที่เกี่ยวข้องย้ายมาช่วยราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) แล้ว (อ่านประกอบ : โยก'เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก' ช่วยราชการ บก.ทบ.เปิดช่องสอบปมสนามมวยลุมพินีจัดแข่งชก)
นอกเหนือจาก พล.ต.ราชิต แล้ว มีใครเกี่ยวข้องในการจัดการสนามมวยลุมพินีอีกบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์สนามมวยลุมพินี พบว่า โครงสร้างกรรมการบริหารของสนามมวยลุมพินี แบ่งเป็น 3 ส่วน รวมนายทหารยศตั้งแต่ พ.อ.-พล.อ. 15 นาย ดังนี้
หนึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประธานอำนวยการสนามมวยลุมพินี
สอง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เป็นนายสนามมวยลุมพินี พ.อ.วสันต์ พึ่งสำเภา รองเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก คนที่ 1 เป็นรองนายสนามมวยลุมพินี คนที่ 1 พ.อ.กฤษดา จินดาลัทธ เป็นรองเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก คนที่ 2 เป็นรองนายสนามมวยลุมพินี คนที่ 2
พ.อ.สมสกุล วิจิตรภาพ เป็นเลขาธิการนายสนามมวย พ.อ.ธวัชชัย ศิริปรุ เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยคนที่ 1 พ.อ.สุภร สัมมา เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยคนที่ 2
สาม พล.ต.ดาบศักดิ์ กองสมุทร เป็นหัวหน้าฝ่ายแพทย์สนามมวย พ.อ.มงคล บุตรดาวงษ์ เป็นหัวหน้าธุรการสนามมวย พ.อ.สุดเขตต์ ชื่นภิรมย์ เป็นหัวหน้าฝ่ายพิจารณาโทษและปราบมวยล้มฯ พ.อ.ชำนาญ ใจทัน เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการสนามมวย พ.อ.พสิษฐ์ รัชพลพงศ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายสิทธิประโยชน์และต่างประเทศ พ.อ.สมเกียรติ ถนอมคุ้ม เป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สนามมวย พ.อ.เอกฉันท์ ชาญเฉลิม เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคสนามมวย พ.อ.จตุพร ดิสราพร เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินสนามมวย (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.lumpineemuaythai.com/about-2/executive-director/)
นอกเหนือจากในส่วนนายทหารแล้ว สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า มีบริษัทเอกชนอย่างน้อย 2 แห่งที่ ร่วมดูแลสิทธิประโยชน์ภายในสนามมวยลุมพินีร่วมกับกรมสวัสดิการทหารบก ได้แก่ บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสื่อและวิดีทัศน์ชื่อดัง และบริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด (อ่านประกอบ : เจาะธุรกิจ 2 สนามมวย ‘ราชดำเนิน -ลุมพินี’ ก่อนถูกรัฐสั่งปิด แหล่งแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19)
บริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 40 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 19 ซ.รามคำแหง 22 (จิตตรานุเคราะห์) ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. แจ้งประกอบธุรกิจบริหารสิทธิประโยชน์สนามมวยลุมพินี
ปรากฏชื่อนายสิทธิชัย เกษรสมบัติ และ น.ส.ธนภัทร ธรรมสุทธิ์ เป็นกรรมการ
บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 326,543,579 บาท แจ้งประกอบธุรกิจขายซีดี วีซีดี เพลง ภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ และหนังสือ โฆษณาและผลิตภาพยนตร์ ตั้งอยู่ที่ 222/148-150 อาคารบ้านชุดสวนจตุจักร ซ.วิภาวดีรังสิต 17 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.
ปรากฏชื่อ พล.ต.ต.ลัทธสัญญษ เพียรสมภาร นายสมชาย วงศ์ทรัพย์สิน นายสมเกียรติ ฉั่วศิริพัฒนา นายฉัฐภูมิ ขันติวิริยะ นายอริชัย รักธรรม นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล นายปรวิชย์ โอภาส นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นกรรมการ
ส่วนบริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ดีเอ็นเอ เรฟโวลูชั่น จำกัด) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นบริษัทลูกที่เข้าบริหารจัดการสนามมวยลุมพินี จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 384 ล้านบาท (ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)) แจ้งประกอบธุรกิจผลิต จัดสร้าง จัดการโดยประการอื่นซึ่งสิทธิรายการวิทยุ รายการการแสดงต่าง ๆ
ปรากฏชื่อนายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล และนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นกรรมการ
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนายทหารระดับสูงในกรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นผู้ดูแลสนามมวยลุมพินี โดยมีบริษัทเอกชนร่วมกันบริหารสิทธิประโยชน์
ส่วนใครจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการ ‘ไม่ยอมเลื่อน’ การแข่งขันชกมวยรายการใหญ่เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ตามหนังสือของคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ซึ่งอ้างอิงมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 คงต้องรอผลการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนของเจ้ากรมกำลังพลทหารบกกันต่อไป
แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ หากใครยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือน ก.พ. 2563 เกิดเหตุการณ์ จ่าสิบเอก นายหนึ่งปล้นปืนจากคลังอาวุธในค่ายทหารกองทัพภาค 2 ก่อนนำมาก่อเหตุสะเทือนขวัญกลางห้างดัง จ.นครราชสีมา จนมีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตกว่า 20 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีเงื่อนปมมาจากเงินโครงการบ้านพักสวัสดิการของกองทัพบก
ส่งผลให้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการบริหารจัดการความโปร่งใสเกี่ยวกับเงินสวัสดิการกองทัพ ร้อนถึง ‘บิ๊กแดง’ ต้องประกาศ ‘ล้างบาง’ ธุรกิจกองทัพทุกแห่ง โดยทำสัญญาร่วมกับกรมธนารักษ์เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 โครงการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากธุรกิจกองทัพ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด กิจการสโมสร สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนของกองทัพบอก โดยกิจการของกรมสวัสดิการทหารบก จะถูกนำส่งเป็นค่าเช่าและค่าธรรมเนียมแก่กรมธนารักษ์ อีกส่วนหนึ่งจะนำส่งเข้ากองทุนสวัสดิการทหารบก เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพบกและครอบครัว (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1773445)
อย่างไรก็ดีหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เรื่องก็เงียบหายไป แม้จะมีข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ สั่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีบทสรุป หรือมีผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการออกมาแก่สาธารณชนแต่อย่างใด ?
(วันที่ 6 มี.ค. 2563 พล.ต.ราชิต อรุณรังษี นายสนามมวยเวทีลุมพินี และกรรมการบริหาร,โปรโมเตอร์ ตรวจความพร้อมดูการชั่งน้ำหนักและตรวจร่างกายของนักมวยที่จะทำการชกในศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร)
จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กองทัพบกถูกจับตา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกครั้ง ภายหลังปล่อยให้สนามมวยลุมพินี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจของกองทัพบก จัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ทั้งที่คณะกรรมการกีฬามวย กกท. มีหนังสือถึงนายสนามมวยลุมพินี (พล.ต.ราชิต) ขอให้งดการแข่งขันไว้ก่อนตามมติ ครม. ก็ตาม
ขณะเดียวกันการโยกย้าย พล.ต.ราชิต อรุณรังษี มาช่วยราชการใน บก.ทบ. กลายเป็นที่ฮือฮากันภายใน บก.ทบ. อย่างมาก เนื่องจากเป็นนายพลระดับเจ้ากรม ‘รายแรก’ ที่ถูกเด้งมาช่วยราชการใน บก.ทบ. ทั้งที่ พล.ต.ราชิต เองเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) รุ่นเดียวกับ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอีกว่า การออกแอ็คชั่นของ ‘บิ๊กแดง’ ทำอย่างเอาจริงเอาจัง หรือทำไปเพื่อลดกระแสสังคมเท่านั้น ?
ดังนั้นถ้าหากกองทัพบกต้องการจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง จำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนกรณีสนามมวยลุมพินีให้เต็มที่ เพราะกรณีนี้ส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมาก ทำให้การระบาดโควิด-19 ในไทยกลายเป็นการระบาดแบบ Super Spreader (คนที่มีความสามารถในการแพร่โรคไปยังบุคคลอื่น ๆ จำนวนมาก)
อ่านประกอบ :
โยก'เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก' ช่วยราชการ บก.ทบ.เปิดช่องสอบปมสนามมวยลุมพินีจัดแข่งชก
'ศรีสุวรรณ' จี้ บิ๊กตู่ สอบจริยธรรมผู้บริหารส.ลุมพินี ฝ่าฝืนคำสั่งปล่อยจัดชกมวย 6 มี.ค.
ชัดๆ ลำดับเหตุการณ์-ผู้เกี่ยวข้อง จัดมวยลุมพินี 6 มี.ค.หลังโดนเตือนโควิด -‘บิ๊กแดง’สั่งสอบ
แห่งที่ 3! เวทีอ้อมน้อย 'ดวง อยู่บำรุง' กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-เดินหน้าจัดชกต่อ 7 มี.ค.
เบื้องลึก! โควิดระบาดลุมพินี กกท.ใช้คำสั่ง'บิ๊กตู่' แจ้งเลื่อนชก-แต่ยังจัดบิ๊กแมตซ์ 6 มี.ค.
ไม่ใช่แค่ลุมพินี! ราชดำเนิน โดน กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-แต่ยังจัดชก 6 รายการรวด
นวพร เรืองสกุล : ถึงเวลาต้องเชือด!
เจาะธุรกิจ 2 สนามมวย ‘ราชดำเนิน -ลุมพินี’ ก่อนถูกรัฐสั่งปิด แหล่งแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage