"...ทั้ง 24 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่ 15 จังหวัด โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากที่สุด จำนวน 7 คดี ตามมาด้วย กรุงเทพฯ 2 คดี อุบลราชธานี 2 คดี และ กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ตาก ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ สกลนคร และ ราชบุรี จังหวัดละ 1 คดี..."
การจัดซื้อจัดจ้าง ถือเป็นช่องทางสำคัญในการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ อันมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเผยแพร่ผลการชี้มูลความผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างรวมอยู่ด้วยจำนวนมากหลายคดี
เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพรวมและแนวโน้มข้อมูลคดีทุจริตเรื่องจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยในปัจจุบันมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำข้อมูลสำนวนการสอบสวนคดีทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. มา สรุปผล พร้อมสังเคราะห์ข้อมูลทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมหลายประการ
ณ ที่นี้ จะขอเริ่มต้นนำเสนอข้อมูลคดีทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ในช่วงปี 2561 ก่อน
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า ช่วงปี 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีต่างๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงปัจจุบัน (คดีล่าสุดมีมติชี้มูล เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2561) จำนวน 48 คดี ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 24 คดี
ทั้ง 24 คดีดังกล่าว (บางคดีมีหลายโครงการหรือหลายประเภท) พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสัญญาของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างสร้างหรือซ่อมสะพาน ปรับปรุงหรือขยายระบบการประปา ซ่อมสถานีสูบน้ำ จัดซื้อที่ดิน เป็นต้น
สำหรับประเภทของสินค้าที่จัดซื้อและถูกตรวจสอบพบปัญหาทุจริต เกี่ยวกับถนน 4 โครงการ สะพาน ระบบประปา โรงสูบน้ำ และก่อสร้างอื่นๆ ประเภทละ 2 โครงการ และ ท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ธงชาติ ที่ดิน ผ้าห่ม ถังขยะ เสื้อกันหนาว ขุดเจาะหิน ตลาดสด ประชาสัมพันธ์ เช่าพื้นที่ อย่างละ 1 โครงการ และอื่นๆ อีก 4 ชนิด (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)
ส่วนกลุ่มคนที่ถูกชี้มูลความผิด รวมทั้งหมด 94 ราย แบ่งเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ราย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 4 ราย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 1 ราย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 1 ราย เจ้าหน้าที่/พนักงาน องค์การบริหารส่วนตำบล 14 ราย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล 3 ราย ปลัดเทศบาล 2 ราย เจ้าหน้าที่/พนักงาน เทศบาลตำบล 16 ราย เจ้าหน้าที่/พนักงานจังหวัด 1 ราย เจ้าหน้าที่/พนักงาน สำนักงานเขต กทม. 9 ราย ผู้อำนวยการโรงเรียน 1 ราย รองผู้อำนวยการโรงเรียน 2 ราย ครู/อาจารย์ โรงเรียน 2 ราย เอกชน 20 และอื่นๆ อีก 15 ราย (ดูอินโฟกราฟิกและตารางประกอบท้ายเรื่อง)
เมื่อแบ่งตามพื้นที่รายจังหวัดปรากฏว่า ทั้ง 24 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่ 15 จังหวัด โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากที่สุด จำนวน 7 คดี ตามมาด้วย กรุงเทพฯ 2 คดี อุบลราชธานี 2 คดี และ กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ตาก ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ สกลนคร และ ราชบุรี จังหวัดละ 1 คดี (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)
ตารางผลมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ข่วงปี 2561
ทั้งหมดนี่ เป็นผลสรุปข้อมูลคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในปี 2561 ของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนข้อมูลปี 2562 มีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
อนึ่ง การชี้มูลความผิดในชั้น ป.ป.ช. เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้น ยังเหลือในชั้นอัยการ และชั้นศาล คดียังไม่ถือว่าสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงถือว่าบริสุทธิ์อยู่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/