"....คดีนี้ นายทักษิณ ถูกกล่าวหาพร้อมพวก รวม 5 ราย ในประเด็นสำคัญเรื่องการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น ..."
................................
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ในคดีที่เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) อีก 1 คดี
โดยคดีนี้ นายทักษิณ ถูกกล่าวหาพร้อมพวก รวม 5 ราย ในประเด็นสำคัญเรื่องการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น
@ ทักษิณ ชินวัตร /ภาพประกอบจาก https://mgronline.com
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีการแถลงข่าวมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ นายทักษิณ และพวก ในคดีนี้เป็นทางการแต่อย่างใด
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ นายทักษิณ และพวกในคดีนี้จริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอะไรได้
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข่าวรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำโดยคณะทำงานฯ ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วน เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินแบบ A340-500
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน มาจากการจัดซื้อเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043.04 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจในช่วงปี 2546-2547
พร้อมระบุรายละเอียดว่า เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เริ่มทำการบินตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ถึง 7 ม.ค.2556 ในเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ,กรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และเส้นทางอื่นๆ รวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท
เฉพาะเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก และกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ขาดทุนรวมเป็นเงินถึง 12,496.55 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 เป็นเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ ใช้เครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูง แต่มีจำนวนที่นั่งน้อย
ขณะเดียวกัน เครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ดังกล่าว มีการใช้งานไม่คุ้มค่า โดยใช้งานได้เพียง 6-10 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานเครื่องบินโดยทั่วไปที่กำหนดไว้ 20 ปี ปัจจุบันเครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางแล้ว อยู่ระหว่างการจอดรอจำหน่าย ทำให้บริษัท การบินไทย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท
คณะทำงานฯสรุปว่า เมื่อนำผลขาดทุนจากการจัดซื้อและการบริหารจัดการเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มารวมกัน ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบภาวะการขาดทุนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท
(ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม)
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังพบว่าเครื่องยนต์อะไหล่ที่จัดซื้อสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 คือ เครื่องยนต์อะไหล่รุ่น Trent-500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งจัดซื้อในปี 2546 เป็นต้นมา และทยอยส่งมอบอะไหล่ตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 ถึงเดือนธ.ค.2550 วงเงินรวม 3,523.17 ล้านบาท (อะไหล่เครื่องละ 503.31 ล้านบาท) แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้งานแต่อย่างใด
อีกทั้งเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ทะเบียน 775/HS-TLD ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องที่ปลดระวางและจอดจำหน่าย พบปัญหาการละเลย ไม่รอบคอบ ไม่ใส่ใจของผู้ดูแลบำรุงรักษา ทำให้เครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องยนต์เสียหาย และต้องให้บริษัท Rolls Royce ซ่อมแซม โดยมีค่าซ่อมรวม 20 ล้านเหรียญ หรือ 600 ล้านบาท
และไม่ปรากฏว่า บริษัท การบินไทย ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย ต่อกรณีเครื่องยนต์ 4 เครื่องของเครื่องบิน A340-500 ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นอกจากการการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จะทำให้บริษัท การบินไทย ประสบกับปัญหาแล้ว รายงานผลการตรวจสอบฯ ยังพบว่า บริษัท การบินไทย ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสภาพเครื่องบินทั้ง 2 รุ่น เป็นเงินอีก 1,344.87 ล้านบาท
แบ่งเป็นการเข้าร่วมโครงการ Total Care Agreement (TCA) ของเครื่องยนต์ Trent-500 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2550 โดยมีระยะซ่อมบำรุงระหว่างปี 2548-2558 มูลค่า 1,129.60 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงระหว่างปี 2559-2560 (ณ เดือน ม.ค.2560) อีก 215.27 ล้านบาท
“ปัญหาสำคัญอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้การดูแลรักษาสภาพเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 มีค่าใช้จ่ายสูง เกิดจากเจ้าหน้าที่ขาดความคร่งครัดในการดูแลรักษาสภาพเครื่องบินตามคู่มือการซ่อมบำรุง และการบินไทยขาดการสอบทานและติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด ทำให้เครื่องบินไม่สามารถจำหน่าย/ขายให้ผู้ซื้อได้” รายงานผลการตรวจสอบฯ ระบุ
ไม่เพียงเท่านั้น การจัดหาเครื่องฝึกจำลอง (Flight Simulator) สำหรับเครื่องบินแบบ A340 จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 688.09 ล้านบาท และต่อมาในเดือนธ.ค.2557 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเครื่องฝึกบินจำลองให้สามารถใช้ได้ทั้งเครื่องบินแบบแอร์บัส A-330 และ A-340 อีก 144.61 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 832.7 ล้านบาทนั้น
"อาจมีการใช้งานไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน เพราะบริษัทฯมีรายได้จากการให้สายการบินอื่นเช่าเครื่องฯเพียง 4.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 160.90 ล้านบาท" ผลการตรวจสอบฯ ระบุ
จึงเท่ากับว่า การจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และลงทุนที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจไม่คุ้มค่า ตลอดจนข้อบกพร่องในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ทำให้บริษัท การบินไทย เสียหายไม่ต่ำกว่า 68,271.53 ล้านบาท
ที่สำคัญจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามได้ว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในครั้งนี้เป็นใครบ้าง แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีรายงานการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ที่ระบุว่า
“ผู้บริหารบริษัท การบินไทย ไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเคร่งครัด จริงจัง โดยไม่ได้มีการพิจารณาในการนำความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ไปประกอบการดำเนินการจัดซื้อเครื่องบิน”
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า ในช่วงปี 2546-47 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำนวน 2 ล็อตใหญ่ จัดซื้อในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
กล่าวสำหรับข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ นั้น นอกจากคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ขณะที่นายทักษิณ ได้หลบหนีออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศ ไม่เดินทางไปฟังคำพิพากษาแล้ว
นายทักษิณ มีคดีความที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 คดี ดังนี้ 1. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 2. คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา 3. คดีให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ปฯ’-เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว
ส่วนอีก 2 คดีคือ 4. คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ 5. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ศาลยกฟ้อง
นอกเหนือจากคดีความในชั้นศาลฎีกาฯแล้ว นายทักษิณ ยังปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีสำคัญที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. คือ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คดีข้าวจีทูจีล็อตสอง) โดย ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณ มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา ระหว่างนายทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง โดยนายทักษิณ สั่งให้แต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก ปัจจุบันหลบหนี) เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) และสั่งการชัดเจนว่า ให้ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ดูแลเรื่องการระบายข้าว
หากนับรวมคดีที่เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ล่าสุดดังกล่าว เท่ากับว่า นับตั้งแต่ปี 2551 - ปัจจุบัน นายทักษิณ มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 8 คดี
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และคดีการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น
นายทักษิณ และผู้เกี่ยวข้อง ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในทั้งสองคดีนี้อยู่
ขณะที่ในปัจจุบัน นายทักษิณ ชินวัตร ในนาม "ลุงโทนี วู้ดซัม" ก็ปรากฏตัวเข้าร่วมเสวนาในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่เป็นประจำ
อ่านประกอบ:
- ปิดหมดแล้ว! ธุรกิจ 'ทักษิณ' 5 แห่งในอังกฤษ ใช้ชื่อคฤหาสน์ 193 ล. ตั้งนามสกุลคลับเฮ้าส์?
- ตามรอย ทักษิณ 'LONDON-BUSINESSMAN' -แจ้งเลิกกิจการแล้ว 1 แห่ง?
- เปิดอีก 4 บริษัท ธุรกิจทักษิณ LONDON - BUSINESSMAN ชื่อ เอม-โอ๊ค ร่วมกก.ถือหุ้นด้วย
- เช็คธุรกิจทักษิณ LONDON- BUSINESSMAN ล่าสุด- 'อุ๊งอิ้ง'นั่งบริหารบ.อสังหาฯอีกแห่ง ทุน3ล.
- เปิดครบธุรกิจ 'ทักษิณ' in LONDON 12แห่ง! ตั้ง บ.ชินวัตร แฟมิลี่-ภริยาอดีตทูต ร่วมถือหุ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage