"...การสอบสวนคดีฮั้วจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง จำนวน 2 สัญญา จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,540,000 บาท ในสัญญาแรก และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 349,430,500 บาท ในสัญญาสอง เป็นคดีคนละส่วนกับคดีฉ้อโกง ที่กรมการปกครอง และหน่วยงานราชการบางแห่ง ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลแขวงดอนเมือง และศาลมีคำพิพากษาให้บริษัททั้ง 2 แห่ง แพ้คดีฉ้อโกง และมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยัดอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในขณะนี้ ..."
.....................................
ประเด็นตรวจสอบกรณี กรมการปกครอง ทำสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ หรือ อัลฟ่า 6 กับเอกชน 2 ราย คือ 1. บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด จำนวน 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท และ 2. บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท (เฉลี่ยราคาเครื่องละ 729,500 บาท) รวมวงเงิน 2 สัญญากว่า 382 ล้านบาท ในช่วงปี 2552 ที่ปัจจุบัน กรมการปกครอง อยู่ระหว่างการติดตามเงินค่าสินค้าคืน หลังจากศาลแขวงดอนเมืองได้มีคำพิพากษาให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง แพ้คดีฉ้อโกงขายเครื่องอัลฟ่าต่อกรมการปกครอง และศาลได้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยัดอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
(อ่านประกอบ : รายได้ 113 ล.! สถานะธุรกิจล่าสุด บ.อดีตคู่สัญญาขายอัลฟ่า 6 ปค. 33 ล้าน, อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟ่าฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง', ปค.382 ล.-เพชรบุรี 8.5 แสน! ชนะคดีโกงอัลฟ่า 6 ยังไม่ได้เงินคืน-อัยการตามสืบทรัพย์แล้ว, เจาะลึก บ.เปโตรฯ ก่อนขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล.-คนตระกูล 'รัชกิจประการ' เป็นกก.เพียบ!, กก.คนสุดท้าย บ.เปโตรฯ ขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล. คือ น้องชาย 'นาที รัชกิจประการ'?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2563 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ในส่วนสัญญาที่ 2 กับบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท ต่อผู้ต้องหาจำนวน 8 ราย คือ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายหยาง เซียะ เซียง กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 1, นายหยาง เซียะเซียง ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 2 , บริษัท เอ เอส แอล เอ็มเทรดดิ้ง จำกัด โดย นายสุเมธ เมธเศรษฐ กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 3 , นายสุเมธ เมธเศรษฐ ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 4 , บริษัท เปโตร กรุงเทพฯ จำกัด โดย นายประทีป มนตรี กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ 7 และนายประทีป มนตรี ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 8
ในข้อหาตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นการเอาเปรียบต่อหน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เนื่องจากคดีขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิตารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
หลังจากที่ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 64/2562 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายหยาง เซียะเซียง กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท ในฐานะนิติบุคคล กับพวกรวม 8 ราย ในฐานะผู้ต้องหา ในข้อหาตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นการเอาเปรียบหน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 (ดูหนังสือประกอบ)
ขณะที่แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า การสอบสวนคดีฮั้วจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง จำนวน 2 สัญญา จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,540,000 บาท ในสัญญาแรก และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 349,430,500 บาท ในสัญญาสอง เป็นคดีคนละส่วนกับคดีฉ้อโกง ที่กรมการปกครอง และหน่วยงานราชการบางแห่ง ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลแขวงดอนเมือง และศาลมีคำพิพากษาให้บริษัททั้ง 2 แห่ง แพ้คดีฉ้อโกง และมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยัดอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในขณะนี้
โดยในส่วนคดีฮั้วนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำการสอบสวนเรื่อง และสรุปผลการสอบสวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2560 ซึ่งต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง จึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2562 ให้กล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในการจัดซื้อทั้ง 2 สัญญา ต่อดีเอสไอ
ต่อมาในช่วงเดือน ก.ค.2562 ดีเอสไอ ได้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) มอบหมายพนักงานอัยการมาสอบสวนร่วมกัน ก่อนที่ในช่วงเดือน ก.ย.2562 ดีเอสไอ จะมีคำสั่งทางคดี เห็นสมควรไม่สั่งฟ้องผู้หาหาในจัดซื้อสัญญาแรก จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,540,000 บาท เนื่องจากคดีขาดอายุความ
ส่วนการจัดซื้อสัญญาสอง จาก บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 349,430,500 บาท เห็นควรให้ส่งฟ้องผูู้ต้องหา ที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ต.ค.2562 ถึงดีเอสไอ เพื่อแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ในการจัดซื้อสัญญาแรก จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,540,000 บาท เนื่องจากคดีขาดอายุความ และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในการจัดซื้อสัญญาสอง จาก บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 349,430,500 บาท ในฐานความผิดดังกล่าว
เบื้องต้น อธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้น มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในส่วนการจัดซื้อสัญญาสอง จาก บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 349,430,500 บาทในความผิด ดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องคดีไปก่อนตามนัย ป.วิอาญา มาตรา 145 วรรคสอง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
จนกระทั่ง ในช่วงเดือนเมษายน 2563 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิบดีดีเอสไอ เพื่อแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ในส่วนของบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท เนื่องจากคดีขาดอายุความดังกล่าว
เท่ากับว่า คดีฮั้วในการจัดซื้อ อัลฟ่า 6 ของกรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด จำนวน 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด จำนวน 479 เครื่อง วงเงิน 349,430,500 บาท (เฉลี่ยราคาเครื่องละ 729,500 บาท)
ปัจจุบันได้ขาดอายุความไปหมดแล้ว ทั้ง 2 สัญญา
ส่วนเหตุผลเบื้องลึกว่า ทำไมคดีถึงขาดอายุความได้นั้น
คงต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงเป็นทางการอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
บ.ขายอัลฟ่า349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
รายได้ 113 ล.! สถานะธุรกิจล่าสุด บ.อดีตคู่สัญญาขายอัลฟ่า 6 ปค. 33 ล้าน
อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟ่าฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง'
ปค.382 ล.-เพชรบุรี 8.5 แสน! ชนะคดีโกงอัลฟ่า 6 ยังไม่ได้เงินคืน-อัยการตามสืบทรัพย์แล้ว
เจาะลึก บ.เปโตรฯ ก่อนขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล.-คนตระกูล 'รัชกิจประการ' เป็นกก.เพียบ!
กก.คนสุดท้าย บ.เปโตรฯ ขายอัลฟ่า 6 ปค. 349 ล. คือ น้องชาย 'นาที รัชกิจประการ'?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage