“...ทอท. ควรพิจารณาจัดทำแนวทางหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการทุจริตจากการให้สิทธิการประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) และการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานในความดูแลของ ทอท. และส่งเสริมให้มีการให้สิทธิประกอบกิจการดังกล่าวมีความโปร่งใส เท่าเทียมกัน และตรวจสอบได้…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน้าสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นและเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ทอท.
โดยมีสาระสำคัญคือ ส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) โดยเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทาน หรือเปิดเสรีในการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อป้องกันการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพียงรายเดียว สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น (อ่านประกอบ : ครม.เห็นชอบมาตรการป้องทุจริตประมูลดิวตี้ฟรี ไม่ให้ผูกขาด-เอื้อประโยชน์เจ้าเดียว)
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว มีหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง ให้ความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดความเห็นประกอบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ทราบ ดังนี้
1.สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ลงนามโดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์)
เบื้องต้นสภาพัฒน์ เห็นควรรับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รับข้อเสนอแนะข้างต้นไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว โดยเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดรับเป็นเจ้าภาพติดตามและผลการดำเนินงาน
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เป็นต้น พิจารณาเปิดโอกาสให้การประกิจการจุดส่งมอบสินค้า (Pick up counter) มีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย หรือให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) สามารถนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปได้ จะเป็นการป้องกันการผูกขาด และการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเดียว
ส่วน ทอท. ควรพิจารณาจัดทำแนวทางหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการทุจริตจากการให้สิทธิการประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) และการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานในความดูแลของ ทอท. และส่งเสริมให้มีการให้สิทธิประกอบกิจการดังกล่าวมีความโปร่งใส เท่าเทียมกัน และตรวจสอบได้
2.กระทรวงพาณิชย์ (ลงนามโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์)
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งหรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ในการส่งเสริมให้มีร้านค้าปลอดอากรในเมืองและการให้ ทอท. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายใน ทอท. นั้น ควรจะต้องมีการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย หรือผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าวประกอบด้วย จึงเห็นควรให้กระทรวงคมนาคม โดย ทอท. ให้ความเห็นต่อไป
3.กระทรวงการคลัง (ลงนามโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง)
เห็นว่า การส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทานหรือเปิดเสรีในการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว
ส่วนกรณีข้อเสนอแนะให้ ทอท. ดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าหรือ Pick up counter ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเข้ามาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าได้ กระทรวงการคลังมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการทำธุรกรรมจุดส่งมอบ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรที่ใช้บริการจุดส่งมอบดังกล่าว จะต้องยินยอมผู้กผันตนเข้ารับผิดชอบในค่าอากรและภาษีตามกฎหมายอื่น (ถ้ามี) หรือค่าเสียหาย อันอาจเกิดจากการดำเนินการของผู้ให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะด้วย และให้ผู้บริหารเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะจะต้องมีระบบการบริหารจัดการให้มีการส่งมอบของออกไปนอกราชอาณาจักรรวมถึงควรมีความผูกพันรับผิดชอบต่อของที่ได้มีการส่งมอบผ่านเคาน์เตอร์ที่ให้บริการในค่าภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ของมีการสูญหาย หรือมิได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ทั้งหมดคือความเห็นประกอบมติคณะรัฐมนตรีของ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในการป้องกันการผูกขาดการประมูลดิวตี้ฟรี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมายาวนาน
ส่วนมาตรการดังกล่าวจะแก้ไขได้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบดิวตี้ฟรี จาก https://static.posttoday.com/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage