งานปรับปรุงศาลจังหวัดพระโขนง 42.3 ล. เกิดปัญหา! ผู้พิพากษาไม่จ่ายเงินจ้างงานผู้รับเหมา อ้างพบมีกรณีเอื้อประโยชน์ ปล่อยบ.เข้าสำรวจพื้นที่ก่อนลงนามสัญญาจ้าง ด้านเลขาฯศาลยุติธรรม แจงเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง-การเมืองภายใน ยันทำถูกต้องทุกขั้นตอน ตกเป็นเหยื่อดิสเครดิต ท้าให้ร้อง ป.ป.ช.สอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า การว่าจ้างเอกชนปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางภายในศาลยุติธรรม หลังปรากฎข้อมูลว่ามีบุคคลระดับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะรายหนึ่ง ส่งหนังสือเรียนคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) ประจำศาลทุกชั้นศาล เพื่อชี้แจงกรณีการไม่อนุมัติจ่ายค่าจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง เป็นอาคารศาลแพ่งพระโขนง และศาลอาญาพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่า มีการส่งบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (นามสมมติ บริษัท A) เข้ามาสำรวจงาน ทั้งที่ ยังไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง และยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดดังกล่าว
หนังสือดังกล่าว สรุปสาระสำคัญว่า เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา มีการประชุมผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระโขนง และเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดศาลแพ่งพระโขนง โดยอ้างว่าผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรม จะส่งเจ้าหน้าที่กองออกแบบมาสำรวจเพื่อดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่ โดยศาลจังหวัดพระโขนงไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับศาลยุติธรรม
ต่อมาเมื่อต้นปี 2562 สำนักงานศาลยุติธรรม มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 ม.ค. 2562 แจ้งว่า จะส่งเจ้าหน้าที่จากกองออกแบบมาสำรวจ
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว ปรากฏว่าสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งพนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (นามสมมติ บริษัท A) เข้ามาสำรวจแทน ทั้งที่ยังไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง และยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง เป็นที่ทำการศาลแพ่ง และศาลอาญาพระโขนง เข้ามาปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง โดยขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 ออกมาบังคับใช้ (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562) มีแค่ราคากลางที่คำนวณเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 วงเงิน 42,342,000 บาท โดยนอกจากศาลจังหวัดพระโขนงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่าเอกชนรายเดียวกัน ได้ส่งพนักงานเข้ามาปรับปรุงศาลจังหวัดตลิ่งชัน และศาลจังหวัดมีนบุรี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย ทั้งที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน
ต่อมาภายหลัง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งพระโขนงฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 สำนักงานศาลยุติธรรมจึงประกาศหนังสือเชิญชวนเอกชนเสนอราคาจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง โดยวิธีคัดเลือก มีเอกชน 5 รายมารับหนังสือเชิญชวน รวมไปถึงบริษัท A ด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 สำนักงานศาลยุติธรรม ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาดังกล่าว โดยบริษัท A เป็นผู้ชนะ เสนอราคาเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 42,300,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 42,000 บาท
ข้อเท็จจริงข้างต้น จึงทำให้ผู้พิพากษาที่มีอำนาจอนุมัติงบประมาณ ไม่อนุมัติการเบิกจ่ายเงินงบประมาณค่าจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง งวดแรกเป็นเงิน 7,614,000 บาท
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2563 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีนี้ว่า การดำเนินการเปิดศาลทั้ง 6 แห่งในพื้นที่ กทม. คือศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี มีพระราชกฤษฎีกาฯเปิดทำการ และดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทุกประการ ถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยการปรับปรุงทีทำการศาลนั้น เนื่องจากเป็นรื่องเร่งด่วน จึงใช้วิธีการคัดเลือกบริษัทโดยสำนักงานศาลยุติธรรม จากนั้นได้โอนการบริหารสัญญาไปให้ศาลแต่ละแห่งดำเนินการซึ่งศาลทุกแห่งดำเนินการได้เรียบร้อยไม่มีปัญหาจนกระทั่งเปิดใช้งานแล้ว มีเพียงแห่งเดียวที่มีปัญหาไม่ยอมจ่ายเงินผู้รับเหมาทั้งๆที่มีการส่งมอบงานแล้ว จึงร้องเรียนมาที่สำนักงานศาลยุติธรรม จนมีการโอนการบริหารสัญญากลับมาให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการ จนเสร็จสิ้นเรียบร้อยไม่มีปัญหา และเรื่องทุกอย่างจบหมดแล้ว
ส่วนกรณีมีพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้าไปสำรวจพื้นที่ก่อนที่จะมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง และมีการลงนามสัญญานั้น นายสราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ถ้าหากว่ามีพนักงานของบริษัทเอกชนเข้าไปสำรวจจริง และศาลแจ้งมาที่ตน หรือส่วนกลาง จะต้องรู้ แต่นี่ไม่ทราบเลย อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการประกาศจัดซื้อจัดจ้างทำตามขั้นตอนทุกอย่าง
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า เบื้องหลังเรื่องนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องการเมืองภายในศาล ที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้พิพากษา 2 ราย โดยมีตนตกเป็นเหยื่อและถูกดิสเครดิต เลยมีการร้องเรียนลักษณะดังกล่าวขึ้น แต่ไม่ขอพูดรายละเอียด เพราะไม่อยากนำเรื่องภายในไปพูดภายนอก
“ผมยืนยันว่าทำอะไรตรงไปตรงมา ถ้าผมมีปัญหา ท่านประธานศาลฎีกา (นายสไลเกษ วัฒนพันธ์) ต้องตั้งกรรมการสอบผมแล้ว ระบบตรวจสอบมีอยู่ ถ้าทำไม่ตรงไปตรงมาก็โดนเหมือนกัน แต่นี่เป็นเรื่องการเมือง ต้องการทำลายชื่อเสียงผม แต่ผมอดทน เพราะเป็นผู้บริหารสามารถถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผมพร้อมให้พิสูจน์ทุกอย่าง ถ้าเขาแน่ใจไปร้อง หรือฟ้อง ป.ป.ช. เลย ไม่กลัว” นายสราวุธ กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage