สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.สถิติวันอาทิตย์ที่ 26 เม.ย.2563 (เวลา 14.00 น.)
- ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 124,575 ราย (เพิ่มขึ้น 461 ราย) ซึ่งรวมข้อมูลผู้ที่พบการติดเชื้อจากการตรวจ test PCR ในบ้านพักคนชราแล้ว แต่ไม่รวมผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจ test
- รักษาอยู่ที่ รพ. 28,217 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 481 ราย นับเป็นวันที่ 12 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลง (5 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 44,903 ราย (เพิ่มขึ้น 309 ราย)
- อาการหนัก 4,682 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 79 ราย นับเป็นวันที่ 18 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 43 ราย)
- เสียชีวิตที่ รพ. 14,202 ราย (เพิ่มขึ้น 152 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 8,654 ราย (เพิ่มขึ้น 90 ราย
**รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22,856 ราย ** (เพิ่มขึ้น 242 ราย)
2. การเสนอแผนผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักต่อสภาผู้แทนฯ
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสมีกำหนดเสนอแผนยุทธศาสตร์การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก (สำหรับภายหลังวันที่ 11 พ.ค.) ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 เม.ย. เวลา 15.00 น. ประกอบด้วยการดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) ด้านสาธารณสุข (หน้ากาก การตรวจสอบการติดเชื้อและการแยกตัวผู้ป่วย) (2) สถานศึกษา (3) การทำงาน (4) ร้านค้า (5) การคมนาคม และ (6) การรวมกลุ่มชุมนุมของประชาชน โดยจะมีการนำเสนอ application StopCovid (contact tracing) ด้วย ซึ่งสภาฯ จะอภิปรายและลงคะแนนหลังจากนั้น
ทั้งนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านบางรายได้แสดงความห่วงกังวลว่า จะไม่สามารถพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างถี่ถ้วนก่อนการลงคะแนน เนื่องจากจะไม่ได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อนวันนำเสนอแผนและลงคะแนน
3. ข้อแนะนำในการกำหนดแผนผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก
สภาวิทยาศาสตร์ covid-19 (Conseil scientifique covid-19) ซึ่งมีนาย Jean-François Delfraissy เป็น ปธ. ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักต่อรัฐบาล (ซึ่งรัฐบาลไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องออกมาตรการตามข้อแนะนำดังกล่าว) สรุปได้ ดังนี้
3.1 การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พัก (ในช่วง 2 เดือนหลังวันที่ 11 พ.ค.) อาทิ
- หากตรวจพบผู้ติดเชื้อให้แยกตัวเพื่อรักษาและตรวจสอบผู้ที่ได้สัมผัสเข้าใกล้ทั้งหมด
- ให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และสวมหน้ากากกันละอองน้ำลายขณะอยู่ในสถานที่ภายนอก
- เห็นว่ายังคงต้องปิดสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ปิดหรือสถานที่เปิด (outdoor)
- ให้อนุญาตการเดินทางระหว่างแคว้นโดยระบบขนส่งสาธารณะได้โดยต้องเคารพแนวปฏิบัติทางสาธารณสุข และหากพบอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ใด อาจพิจารณาห้ามการเดินทางระหว่างแคว้นนั้น ๆ ในอนาคตได้
- ไม่แนะนำให้เดินทางไป ตปท. ในช่วงหลังวันที่ 11 พ.ค. จนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2563 เป็นอย่างน้อย โดยอาจมีมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจาก ตปท. เพื่อเฝ้าดูอาการก่อนสามารถเข้าประเทศได้ และสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจาก ตปท. ควรให้ตรวจการติดเชื้อ (test PCR) โดยหากพบว่าติดเชื้อให้แยกตัวรักษาอย่างเคร่งครัด และหากไม่พบว่าติดเชื้อ ให้กักตนเองที่ที่พัก
3.2 การเปิดสถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องจนถึงวันที่ 4 ก.ค. (ก่อนปิดเทอมฤดูร้อน)
3.2.1 ข้อมูลเกี่ยวกับอาการติดเชื้อไวรัส covid-19 ในเด็ก
- เด็กส่วนมากจะไม่มีอาการป่วยหนักหากติดเชื้อไวรัสฯ
- อัตราการติดเชื้อไวรัสของเด็กหากอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยในครอบครัวอยู่ที่ร้อยละ 15 สำหรับเด็กอายุ 10 - 19 ปี (ซึ่งเป็นอัตราเท่ากับผู้ใหญ่) และเพศชายมีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าเพศหญิง และเพียงร้อยละ 6 สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 28 ไม่มีอาการป่วยใด ๆ ถึงแม้จะตรวจพบเชื้อไวรัสฯ (test PCR)
- หากมีอาการป่วย เด็กมักแสดงอาการป่วยของโรค หู คอ จมูก มากกว่าอาการป่วยเกี่ยวกับปอด
- เด็กที่ติดเชื้อไวรัสฯ (ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่) จะมีเชื้อไวรัสในร่างกาย (บริเวณจมูกและลำคอ) เป็นเวลา 9 - 11 วัน และพบว่ามีการขับถ่ายเชื้อไวรัสในอุจจาระ (ถึงแม้ไม่มีอาการท้องเสีย) จนถึง 30 วัน แต่ยังไม่ทราบว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวยังสามารถติดต่อผู้อื่นได้หรือไม่
- ปัจจุบัน ยังไม่พบการแพร่ระบาดอย่างหนักในสถานศึกษา ยกเว้นที่ รร. ม. ปลาย เมือง Crépy-en-Valois และแนะนำให้มีการตรวจสอบอัตราการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดระลอกแรกโดยการตรวจหาภูมิคุ้มกัน เพื่อจะได้ทราบถึงอัตราการแพร่ระบาดที่แท้จริงต่อไป
3.2.2 มาตรการทางสาธารณสุขในสถานศึกษา
- เห็นพ้องกับการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถเลือกว่าจะส่งบุตรหลานกลับไปเข้าเรียนที่สถานศึกษาได้หรือไม่ในวันที่ 11 พ.ค. โดยยังคงให้มีการเรียนการสอนทางไกลอยู่
- รัฐบาลต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขของการเปิดสถานศึกษาแก่ผู้ปกครอง และมีการอธิบายข้อมูลแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัย
- จัดให้มีการเข้า - ออกเรียนของแต่ละชั้นในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน
- ให้ นร. หมั่นล้างมือทำความสะอาด อย่างน้อยเมื่อเริ่มเรียนและหลังเลิกเรียน ก่อนอาหารแต่ละมื้อ และทุกครั้งที่มือเปื้อน โดยเห็นว่าเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออาจเป็นอันตรายสำหรับเด็กต่ำกว่าระดับ ม. ต้น จึงแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่มากกว่า
- ให้มีการทำความสะอาดห้องเรียนและพื้นที่ส่วนรวมในสถานศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้จับต้องจำนวนมาก (เช่น ลูกบิดประตูและสวิตไฟ) วันละหลายครั้ง และให้มีการถ่ายเทอากาศในห้องเรียนด้วย โดยเฉพาะระหว่างพักเรียน หรือการทานอาหารกลางวัน หรือระหว่างการเปลี่ยนห้องเรียน
- รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรทุกขณะ ทั้งนี้ หากสถานศึกษาใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ให้พิจารณาทำการเรียนการสอนเฉพาะกลุ่ม วันเว้นวันหรือสลับกันครึ่งเช้า - บ่าย
- หากเป็นไปได้ ให้พักทานอาหารกลางวันในห้องเรียน
- ให้ผู้ปกครองหมั่นสำรวจอาการของบุตร โดยแนะนำให้วัดอุณหภูมิก่อนออกจากที่พัก และหากมีอาการป่วย ให้หยุดเรียน
- ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปในสถานศึกษา และไม่ควรให้มีการรวมกลุ่มของผู้ปกครองหน้าสถานศึกษาระหว่างรอรับ นร.
- ให้บุคลากรทุกคนและ นร. ตั้งแต่ชั้น ม. ต้นขึ้นไป สวมหน้ากากกันละอองน้ำลาย
- ให้บุคลากรที่เป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงยังคงปฏิบัติงานจากที่พัก
- ให้เพิ่มการจัดรถรับ - ส่งไปยังสถานศึกษา เพื่อให้สามารถรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ระหว่างกันได้
- สำหรับ รร. ประจำ ให้ นร. ที่มีความจำเป็นด้วยเหตุผลทางสังคมหรือการศึกษา สามารถกลับไปที่ รร. ประจำได้
- ไม่แนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อ (test PCR) อย่างกว้างขวางในสถานศึกษา เนื่องจากหากจะตรวจอย่างได้ผลจริงจะต้องทำทุก ๆ 5 - 7 วัน สำหรับ นร. และบุคลากรทั้งหมด
- ควรมีขั้นตอนการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษาอย่างชัดเจน และเป็นที่รับทราบทั่วกันในสถานศึกษาและผู้ปกครอง กล่าวคือ ต้องมีการตรวจการติดเชื้อของบุคลากรและ นร. ทุกคนในชั้นเรียน ปิดชั้นเรียนและให้ผู้ติดเชื้อแยกตัวเป็นเวลา 14 วัน
4. รมว.สาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2563 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2545 เกี่ยวกับสินค้าที่สามารถวางขายได้ในร้านขายยา) อนุญาตให้ร้านขายยาสามารถขายหน้ากากซึ่งมิใช่หน้ากากอนามัย แต่สามารถกันละอองน้ำลายได้ และที่ได้การรับรองมาตรฐาน