สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ?? ดังนี้
1.สถิติวันเสาร์ที่ 25 เม.ย.2563 (เวลา 14.00 น.)
- ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 124,114 ราย (เพิ่มขึ้น 1,537 ราย) ซึ่งรวมข้อมูลผู้ที่พบการติดเชื้อจากการตรวจ test PCR ในบ้านพักคนชราแล้ว แต่ไม่รวมผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ แต่มิได้ทำการตรวจ test
- รักษาอยู่ที่ รพ. 28,222 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 999 ราย นับเป็นวันที่ 11 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลง (436 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 44,594 ราย (เพิ่มขึ้น 1,101 ราย)
- อาการหนัก 4,725 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 124 ราย นับเป็นวันที่ 17 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 145 ราย)
- เสียชีวิตที่ รพ. 14,050 ราย (เพิ่มขึ้น 198 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 8,564 ราย (เพิ่มขึ้น 171 ราย)
**รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22,614 ราย ** (เพิ่มขึ้น 369 ราย)
2. แผนช่วยเหลือ Air France และธุรกิจสำคัญ
2.1 รมว.เศรษฐกิจและการคลังแจ้งว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติแผนช่วยเหลือ บ. Air France รวม 7 พันล้านยูโร ประกอบด้วยการกู้เงินผ่านธนาคารโดยรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน (ในเพดานร้อยละ 90) เป็นเงิน 4 พันล้านยูโร และให้กู้เงินโดยตรงจากรัฐบาลอีก 3 พันล้านยูโร โดยย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้มิได้เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดย บ.จะต้องมีแผนการดำเนินการเพื่อสามารถทำกำไรได้ พร้อมทั้งต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นสายการบินที่เคารพสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกให้ได้ ซึ่งสายการบินมีเป้าหมายว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเริ่มจากการลดเที่ยวบินในประเทศ การใช้เครื่องบินรุ่นที่สร้างมลภาวะน้อยลง และจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับเที่ยวบินในประเทศ
2.2 รมว.เศรษฐกิจและการคลังแจ้งด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือแก่บ. Air France นับเป็นการให้ความช่วยเหลือครั้งสำคัญที่สุดเป็นประวัติการณ์โดยรัฐบาลเห็นว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาสายการบินแห่งชาติเพื่อไม่ให้เกิดภาวะพึ่งพาสายการบินต่างประเทศ และยังเป็นการช่วยรักษาการจ้างงานทั้งของสายการบินเอง (มีพนักงานประมาณ 50,000 คน) และของ บ. อื่น ๆ ที่มีธุรกิจกับ บ. Air France อาทิ Airbus (รวมพนักงานกว่า 360,000 คน) ด้วย
ทั้งนี้ ต้องรอคณะกรรมาธิการยุโรปให้ความเห็นชอบต่อแผนช่วยเหลือดังกล่าวก่อน ขณะที่เนเธอร์แลน์ก็ได้แจ้งความประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือสายการบิน KLM ประมาณ 2 - 4 พันล้านยูโร ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเช่นกัน
2.3 ปัจจุบัน รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพิจารณาแผนให้ความช่วยเหลือ บ. Renault เช่นกัน คิดเป็นเงิน 5 พันล้านยูโร ซึ่งจะเป็นการกู้เงินผ่านธนาคารโดยรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน และก่อนหน้านี้รัฐบาลยังได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทรายใหญ่อื่น ๆ อาทิ กลุ่ม FNAC Darty ซึ่งได้รับอนุมัติการกู้เงินโดยรัฐเป็นผู้ค้ำประกันร้อยละ 70 เป็นเงิน 500 ล้านยูโร โดยบริษัทดังกล่าวมีรายได้ในช่วงสามเดือนแรกของปีลดลงเป็นอย่างมากจาก 7.9 พันล้าน เหลือเพียง 1.49 พันล้าน และได้ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปีนี้
3. แนวทางช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563 รมช.ก.ต่างประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมการประชุม รมต. การท่องเที่ยวของกลุ่ม ปท. G20 ทาง vdo conference เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการฟื้นฟูสาขาการท่องเที่ยวโดยในช่วงแรกจะเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและการมีมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อปกป้องนักท่องเที่ยวและบุคลากรสาขาการท่องเที่ยว จากนั้น จะประสานความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศต่อไป และย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูสาขาการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการอพยพคนชาติของประเทศตนที่ยังตกค้างอยู่ต่างประเทศให้เดินทางกลับประเทศ และการอำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างประเทศของบุคลากรทางการแพทย์
4. แนวปฏิบัติทางสาธารณสุขสำหรับการเปิดสถานศึกษา
สภาแพทย์แห่งชาติฝรั่งเศส (l'Académie nationale de médecine) ได้เผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขสำหรับการเปิดสถานศึกษา ดังนี้
- ให้ปรับเวลาเข้าเรียนและเลิกเรียนของชั้นต่าง ๆ ไม่ให้ตรงกัน
- ให้วัดอุณหภูมิ นร. ทุกเช้าก่อนเข้าสถานศึกษา
- ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรระหว่างโต๊ะเรียน
- ให้ นร. พักเรียนครั้งละกลุ่มเล็ก ๆ โดยควรเป็น นร. กลุ่มเดียวกันที่ได้พักเรียนพร้อมกัน
- ให้หมั่นล้างมือทำความสะอาด จัดวางเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ รวมทั้งให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องน้ำ ราวบันได โต๊ะเรียน ลูกบิดประตูและตำราเรียนวันละหลายครั้ง
- ไม่ควรให้ผู้ปกครองรวมกลุ่มรอรับ นร.หน้าสถานศึกษา
- ให้สถานศึกษามีสต็อกหน้ากากกันละอองน้ำลายในจำนวนที่เพียงพอสำหรับครู บุคลากรอื่น ๆ ผู้ปกครองและ นร. ตั้งแต่ชั้น CP (เทียบเท่าชั้น ป. 1) ขึ้นไป เพื่อสวมใส่ระหว่างพักเรียนหรือเมื่อออกจากสถานศึกษา แต่มิได้แนะนำให้ต้องสวมใส่หน้ากากระหว่างเรียน
- ให้จัดอบรมครูเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขในสถานศึกษาก่อนการเปิดสถานศึกษา
5. ผลการใช้ยารักษาการติดเชื้อไวรัสฯ
องค์กรตรวจสอบความปลอดภัยของยาและผลิตภัณฑ์ทางสาธารณสุข (Agence nationale de sécurité du médicament et des produits de santé-ANSM) แจ้งว่า ณ วันที่ 22 เม.ย.2563 ได้พบผู้มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษาอาการติดเชื้อไวรัส covid-19 แล้ว จำนวน 321 ราย โดยร้อยละ 80 มีอาการหนัก ซึ่งร้อยละ 42 มาจากการใช้ยาต้านไวรัส Kaletra (มีตัวยา Lopinavir และ Ritonavir) ร้อยละ 31 มาจากยาปฏิชีวนะ Azithromycine และร้อยละ 23 จากยา Hydroxychloroquine โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 ราย หลังการใช้ยา Hydroxychloroquine จึงขอให้ระมัดระวังในการใช้ยามากยิ่งขึ้น
6. ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัสฯ
องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ยืนยันว่า ผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อ Covid-19 แล้วจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายแล้วก็ตาม จึงเห็นว่า การมีระบบหนังสือรับรองว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว (อาทิ Immunity passport) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้อีก