คลอดประกาศ ป.ป.ช. ป้องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ฉบับใหม่ เพิ่มตำแหน่งระดับสูงอีกเพียบ ‘หัวหน้าส่วนราชการ-ปลัด-อธิบดี-เลขาฯองค์กรอิสระ-เลขาฯศาล-ผู้นำเหล่าทัพ-ผบ.ตร.’ ห้ามถือหุ้นใน หจก.-บริษัทคู่สัญญา-สัมปทานรัฐ เกิน 5% ห้ามเป็นที่ปรึกษา-กรรมการ-ตัวแทน-พนง.-ลูกจ้างด้วย
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐ ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง รวมถึงกรรมการในองค์กรอิสระ ที่ต้องห้ามมิให้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามความในมาตรา 126 และ 127 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้ยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 รวม 4 ฉบับ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
หนึ่ง และสอง ประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 โดยกำหนดสาระสำคัญเพื่อเป็นการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมีที่มาจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับมอบอำนาจจากรัฐ ทำให้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต การให้สัมปทาน และลงนามในสัญญาต่าง ๆ รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 126 ดังต่อไปนี้ รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำดังกล่าว
ส่วนประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 127 พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้ตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 126 (4)
โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ กำหนดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรอิสระไว้เหมือนกัน ได้แก่
1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.
2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ฝ่ายข้าราชการพลเรือน เช่น หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัด กทม. ฝ่ายข้าราชการทหาร เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3.กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
4.หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
5.ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด เช่น เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา
6.ผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายองค์การบริหารส่วนตำบล
ประกาศทั้ง 2 ดังกล่าวให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อ่านประกาศ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งห้ามดำเนินการตามมาตรา 126 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0022.PDF
อ่านประกาศ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งห้ามดำเนินการตามมาตรา 127 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0025.PDF
สาม และสี่ เป็น ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดจำนวนหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ถือหุ้นได้ตามมาตรา 126 (2) และ (3) พ.ศ. 2563 โดยระบุสาระสำคัญคือ ให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่กรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา 126 (2) (3) ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบริษัทนั้น
โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อ่านประกาศ ป.ป.ช. กำหนดจำนวนหุ้นในบริษัทจำกัดของเจ้าพนักงานรัฐ มาตรา 126 (2) : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0020.PDF
อ่านประกาศ ป.ป.ช. กำหนดจำนวนหุ้นในบริษัทจำกัดของเจ้าพนักงานรัฐ มาตรา 126 (3) : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0021.PDF
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 126 ระบุว่า นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตัว ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี
(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้กำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วย โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง
คู่สมรสตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (2) หรือ (3) ต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันเข้าดำรงตำแหน่ง
มาตรา 127 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายใน 2 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/