ร้องเรียน 'อิศรา' ช่วยตรวจสอบโครงการจัดซื้อโดรนทหารสื่อสาร 190 ล้าน ส่อมีปัญหาเพียบ 6 ประการ ตรวจหาคลื่นสัญญาณไม่ได้ ใช้ในเมืองตรวจจับได้แค่ 60 % ด้านทหารสื่อสารยันตอนรับไม่พบข้อผิดพลาด แต่ถ้าใช้งานไปแล้วมีปัญหาสามารถเคลมเอกชนได้
โครงการจัดซื้อระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone) ของกรมการทหารสื่อสารเพื่อสนับสนุนหน่วยข่าวกรองทหาร (ขกท.) วงเงิน 190 ล้านบาท ถูกร้องเรียนว่า มีปัญหาการใช้งานจำนวนมากถึง 6 ประการ ขณะที่นายทหารกรมการทหารสื่อสาร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดสเปคจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ ยืนยันว่า ยังไม่เคยได้รับทราบปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ช่วงที่มีการตรวจรับผลิตภัณฑ์ก็ไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้าหากมีใช้งานไปแล้วเกิดปัญหาขึ้นจริง ก็สามารถส่งสินค้าไปเปลี่ยนหรือซ่อมตามเงื่อนไขการรับประกันสินค้าได้อยู่แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับเรื่องร้องเรียนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโครงการจัดซื้อระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone) ของกรมการทหารสื่อสารเพื่อสนับสนุนหน่วยข่าวกรองทหาร (ขกท.) ในช่วงปี 2562 วงเงิน 190 ล้านบาท แยกเป็นการจัดหาระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานจำนวน 1 ระบบ วงเงิน 150 ล้านบาท และจัดหาเรดาร์ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับแบบ Active ชนิดติดตั้งจำนวน 1 ระบบ วงเงิน 40,000,000 บาท ซึ่งมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานโครงการนี้ ส่อว่าจะมีปัญหาจำนวน 6 ประการด้วยกัน ได้แก่
1.การติดตั้งและการเก็บเครื่องมือมีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องใช้กำลังพลเป็นจำนวนมาก และบริเวณพื้นที่ติดตั้งต้องเป็นพื้นที่แข็งเท่านั้น รวมถึงใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้วจะสามารถลดจำนวนกำพลให้เหลือเฉพาะผู้ใช้งานได้
2.กำลังไฟฟ้าที่เครื่องมือต้องการนั้นหากเป็นในส่วนของ Fix Station จำเป็นต้องใช้กำลังไฟเป็นจำนวนมาก และเครื่องมือบางชุดมีการรั่วของไฟฟ้า การติดตั้งจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
3.การค้นหาคลื่นสัญญาณ Drone (อากาศยานไร้คนขับ) นั้น จะทำงานได้เฉพาะ Drone มาตรฐานทางพาณิชย์เท่านั้น หากเป็น Drone ประกอบจะใช้ย่านความถี่อื่น ซึ่งระบบไม่สามารถตรวจพบ Drone ได้
4.จากผลการปฏิบัติงานพื้นที่จริง พบว่า พื้นที่เขตเมือง มีความแน่นอนในการตรวจพบ Drone ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณสัญญาณคลื่นมาก แต่ถ้าพื้นที่เขตต่างจังหวัด มีความแน่นอนในการตรวจพบ Drone ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
5.กรณีเปิดระบบทำงานเต็มรูปแบบพบว่ามีการใช้กระแสไฟฟ้าสูง จำเป็นต้องต่อสายไฟเฟสตรงที่ไม่มีเบรกเกอร์เท่านั้น
6.แจมเมอร์ (ระบบกวนสัญญาณ) ที่ Fix Station ทิศใต้ ชำรุด (อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อม)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ภายหลังได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ติดต่อสอบถามไปยังนายทหารกรมการทหารสื่อสาร ที่ได้มีส่วนเกี่ยวกับในการกำหนดสเปคในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการครั้งนี้
นายทหารรายนี้ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหรือได้ยินข้อปัญหาเรื่องการใช้ระบบ Anti Drone แต่อย่างใด อีกทั้งในช่วงที่มีการตรวจรับผลิตภัณฑ์ก็ไม่พบว่ามีปัญหากับระบบ Anti Drone สั่งซื้อมาแต่อย่างใดด้วย และเมื่อมีการใช้งานไปแล้ว หากพบว่าเครื่องที่จัดซื้อมาใช้งานมีปัญหา โดยระบบการสั่งซื้อของทางราชการเวลาซื้อของจากเอกชน จะต้องมีการรับประกันสินค้าอยู่แล้ว
" ถ้าหากว่าหน่วยงานที่ใช้ Anti Drone ไปแล้วประสบปัญหา ก็สามารถที่จะมีการดำเนินการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือส่งซ่อมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว" นายทหารรายนี้ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/