“…หากพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จะเห็นได้ว่า ให้อำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการฯ หรือ กกต. เท่านั้นในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ มิได้ให้อำนาจบุคคลทั่วไปในการยื่นเรื่องเพื่อยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใด จึงกลายเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งรับคำร้องดังกล่าวมาแล้ว จะพิจารณาออกในรูปแบบใด ?...”
โค้งสุดท้ายก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย คดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องกล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้งคณะ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 กรณีกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นคดีแรกที่ ‘ขึ้นเขียง’ ในทางการเมืองกับประเด็นคำร้อง ‘ยุบพรรค’ โดยยังเหลือคิวคดี ‘กู้เงิน’ ที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินนายธนาธร วงเงิน 191.2 ล้านบาท คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง ใช้ช่องมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน (อ่านประกอบ : ศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดี อนค.ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63-สั่งแจงปมกู้เงินใน 15 วัน)
อย่างไรก็ดีพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร นายปิยบุตร รวมถึงบรรดาแกนนำของพรรค เคยให้สัมภาษณ์ และปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างชัดเจน โดยยืนยันว่า การดำเนินการของพรรคอนาคตใหม่ทำตามรัฐธรรมนูญ และตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่าข้อกล่าวหานี้ เป็นการจ้องทำลายล้มล้างกันในทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
แม้บรรดาแกนนำพรรคจะปฏิเสธเสียงแข็ง และเชื่อว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาก็ตาม แต่มีกระแสข่าวลือข่าวปล่อยหนาหูว่า พรรคอนาคตใหม่ เตรียม ‘แผนสำรอง’ หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ‘ทางลบ’ คือโดนยุบพรรค และบรรดากรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกตัดสิทธิทางการเมือง อาจโยกเอา ส.ส. จำนวนหนึ่งที่ยังมี ‘อุดมการณ์เดียวกัน’ เข้า ‘พรรคอะไหล่’ แทน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อเท็จจริงในคำร้องคดีดังกล่าวสรุปให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
คำร้องของนายณฐพร โตประยูร แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือคำร้องเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 และคำร้องที่สอง (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2562 โดยทั้งสองคำร้องดังกล่าวขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
คำร้องแรกโดยสรุป : นายณฐพร กล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่กับพวก เป็นขบวนการ ‘ปฏิปักษ์กษัตริย์นิยม’ โดยยกตัวอย่าง ข้อบังคับพรรค และนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่เขียนว่าจะสนับสนุนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เขียนว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันยังอ้างถึง พรรคอนาคตใหม่ ที่เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มิได้ระบุว่าจะแก้มาตราใด แต่ ‘เป็นไปได้’ ว่า อาจเสนอแก้เรื่องนี้ทันที พร้อมยึดกุมอำนาจทางการเมือง ประกอบกับการแสดงความเห็นทางวิชาการ
นอกจากนี้ยังยกเอาคำพูดของนายธนาธร นายปิยบุตร ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก รวมถึงบทสัมภาษณ์ส่วนตัวในหนังสือต่าง ๆ รวมถึงเวทีเสวนาต่าง ๆ ในประเด็นทางการเมืองมาร้อยเรียง ปะติดปะต่อ เชื่อมโยงกัน ส่วน น.ส.พรรณิการ์ ถูกอ้างถึงกรณีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ผ่านมาหลายปีก่อน ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วย
คำร้องที่สองโดยสรุป : ในคำร้องฉบับนี้ นายณฐพร ขอใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคอนาคตใหม่กับพวก หยุดกระทำการดังกล่าว และมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยการสรุปข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกับคำร้องแรก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 โดยการดึงข้อความ หรือเนื้อหาคำให้สัมภาษณ์บางส่วนของนายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ มาใส่ไว้ในคำร้อง
แต่มีการเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำร้องเรื่องสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ โดยอ้างว่าคล้ายคลึงกับองค์กรลับ อิลลูมิเนติ (illuminati) จึงส่ลผลให้สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเรียกคดีนี้ว่า ‘คดีอิลลูมิเนติ’ นั่นเอง
นอกจากนี้นายณฐพร ยังยกว่า นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ อาจมีความอันตรายในทางการเมือง หากปล่อยไว้นานเกินไปจะเหมือนกับในอดีตที่ นายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) เป็นนายกรัฐมนตรีหลุดคดีขายหุ้น ?
ทั้งนี้นายณฐพร ได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตอนหนึ่งถึงประเด็นหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งนายณฐพรเอาเทียบเคียงกับกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ที่อ้างว่าเป็น ‘ปฏิปักษ์นิยม’ เหมือนกัน ?
(คำร้องตอนท้ายของนายณฐพร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่)
ประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจในคดีนี้คืออะไร ?
หนึ่ง นายณฐพร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่ อสส. มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง
โดยนายณฐพร อาศัยมาตรา 49 ตามรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อ อสส. แล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการภายใน 15 วัน จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
แต่เงื่อนปมสำคัญในมาตรา 49 คือ กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้แค่ ‘สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว’ เท่านั้น มิใช่การ ‘ยุบพรรค’ ?
สอง ในคำร้องเพิ่มเติมของนายณฐพร นอกเหนือจากการอ้างใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แล้ว ยังอ้างขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายธนาธร นายปิยบุตร และกรรมการบริหารพรรคด้วย โดยอ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (1) (2) ว่าด้วยพรรคการเมือง กระทำการตามวรรคหนึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
เมื่อพลิกดู พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันเป็นอาจปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการ ตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
หากพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จะเห็นได้ว่า ให้อำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการฯ หรือ กกต. เท่านั้นในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ
มิได้ให้อำนาจบุคคลทั่วไปในการยื่นเรื่องเพื่อยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใด ?
(เอกสารข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีนี้ ดำเนินการตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ)
จึงกลายเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งรับคำร้องดังกล่าวมาแล้ว จะพิจารณาออกในรูปแบบใด ?
หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้พรรคอนาคตใหม่ เลิกกระทำการดังกล่าว และตีตกคำร้องอื่นไป โดย กกต. อาจยื่นคำร้องในมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เข้ามาภายหลัง ?
สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ แต่ต้องดูในรายละเอียดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามกฎหมายข้อใด ?
สาม ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องดังกล่าวทั้งหมด ?
ท้ายที่สุดผลจะออกมาในรูปแบบใด รอลุ้นกันในวันที่ 21 ม.ค. 2563
อ่านประกอบ : ศาล รธน.นัดวินิจฉัยคดี อนค.ล้มล้างการปกครอง 21 ม.ค. 63-สั่งแจงปมกู้เงินใน 15 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพนายธนาธร จาก ไทยรัฐออนไลน์