"...ในการจับกุมบางกรณีปรากฏว่าการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ใช่การแสวงหาพยานหลักฐานโดยการล่อซื้อ แต่เป็นการล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดมาแต่แรก ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้นในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการจึงต้องใช้ดวามระมัดระวังพิจารณาว่าการกระทำของเจ้าพนักงานเป็นการล่อซื้อหรือล่อให้กระทำความผิด..."
กลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมขึ้นมาทันที!
สำหรับกรณี นักเรียนหญิงวัย 15 ปีรายหนึ่ง ที่ต้องการจะหาทุนการศึกษาจึงรับทำกระทงลายการ์ตูน ก่อนจะถูกจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยการล่อซื้อ เรียกค่าปรับเป็นค่าลิขสิทธิ์ 50,000 บาท ก่อนจะต่อรองเหลือ 5,000 บาท
แต่เหตุการณ์ในภายหลังกลับพลิกผัน เมื่อปรากฎข่าวล่าสุดว่า ผู้ถูกจับกุมและผู้ล่อซื้ออาจจะมีโทษตามกฎหมายเสียเอง เนื่องจากการจับกุมละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องมีกระบวนการทางกฏหมายที่ชัดเจน เช่น ผู้นำจับกุมจะต้องมีหนังสือมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงก่อน หลังจากนั้นจะต้องนำเอกสารหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ตรวจสอบและนำไปจับกุมในพื้นที่ ไม่ใช่จู่ๆ จะลงพื้นที่ไปเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จากhttps://workpointnews.com/2019/11/05/5-20/)
เพื่อไขข้อมูลทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2557 สำนักงานอัยการสูงสุด เคยทำหนังสือเวียน ถึงรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ คณะที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาคอัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการและ โครงการในพระราชดําริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อํานวยการสํานักงาน เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาข้อแตกต่างของการล่อซื้อกับการล่อให้กระทําความผิด เพื่อให้พนักงานอัยการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการพิจารณาคดีต่อไป
โดยมีการนำแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกามาใช้อ้างอิงเพื่อพิจารณาประกอบการพิจารณาสํานวนคดีที่มี การจับโดยการล่อซื้อหรือล่อให้กระทําความผิด ดังนี้
1. คําพิพากษาศาลฎีกาที่9600/2554 วินิจฉัยว่า ร. ผู้รับมอบอํานาจช่วงจากผู้เสียหาย ว่าจ้างจําเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นการก่อให้จําเลยทําซ้ำ ซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จําเลยมิได้กระทําความผิดโดยทํางานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนําแผ่นซีดี และวีซีดีคาราโอเกะที่ทําขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้อ อันจะถือเป็นการแสวงหา พยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจําเลยได้กระทําการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอํานาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จําเลยกระทําการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงาน จับจําเลยมาดําเนินคดี ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอํานาจร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่จําเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ ร. ว่าจ้างจําเลยให้ทําขึ้นและวีดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ บันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจําเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐาน ที่ได้มาเนื่องจากการกระทําโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลย ตามที่โจทก์ฟ้อง
2. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2562 การที่เจ้าพนักงานตํารวจใช้สายลับนําเงินไปล่อซื้อยาเสพติด ให้โทษจากจําเลย มีเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ผิดศีลธรรมและทํานองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หรือยัดเยียดความผิดให้จําเลย หากจําเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย เมื่อสายลับไป ซื้อยาเสพติดให้โทษจากจําเลย จําเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจําหน่ายให้กับสายลับ ความผิดย่อมไม่อาจ เกิดขึ้นได้ การกระทําของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจําเลย ไม่เป็นการแสวงหา พยานหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รับฟังลงโทษจําเลยได้ ไม่ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
3. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543 วินิจฉัยว่า การที่บริษัทไมโครซอฟท์จ้างนักสืบ เอกชนไปล่อซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยทําทีไปติดต่อซื้อคอมพิวเตอร์จากจําเลยโดยมีข้อตกลงว่าจําเลยต้อง แถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายแก่สายลับด้วย หลังจากจําเลยประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีการ ทําซ้ําโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายลงในฮาร์ดดีสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งมอบให้กับสายลับ ศาลเห็นว่าการกระทําของจําเลยเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของสายลับ มิใช่ทําขึ้นโดยผู้กระทํามีเจตนากระทําผิด อยู่แล้วก่อนการล่อซื้อเท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิด โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหาย โดยนิตินัยจึงไม่มีอํานาจฟ้องคดี
4. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2545 จําเลยมีพฤติการณ์กระทําละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรม คอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจําเลยมาดําเนินคดี มิใช่เป็นการก่อให้ จําเลยกระทําความผิด แต่เป็นการดําเนินการเพื่อจับกุมปราบปรามผู้กระทําความผิด เป็นการกระทําที่ชอบด้วย กฎหมาย โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอํานาจร้องทุกข์มีอํานาจฟ้อง และศาลมีอํานาจรับฟังพยานหลักฐาน ที่เกิดจากการล่อซื้อโดยชอบได้
5. คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549 การที่ผู้เสียหายใช้ให้ อ. สั่งให้จําเลยซื้อแผ่นซีดี ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดให้ เพื่อที่จะได้หลักฐานในการ กระทําความผิดโดยไม่ปรากฏว่าจําเลยมี พฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อน และพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวทันที การที่ผู้เสียหายดําเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมจําเลยจึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้จูงใจหรือก่อให้จําเลย กระทําความผิด ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ในหนังสือแจ้งเวียนดังกล่าว ยังระบุชัดเจนว่า ในการจับกุมบางกรณีปรากฏว่าการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ใช่การแสวงหาพยานหลักฐานโดยการล่อซื้อ แต่เป็นการล่อให้บุคคลที่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดมาแต่แรก ลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ จึงต้องใช้ดวามระมัดระวังพิจารณาว่าการกระทำของเจ้าพนักงานเป็นการล่อซื้อหรือล่อให้กระทำความผิด (ดูเอกสารประกอบท้ายเรื่อง)
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการพิจารณาข้อแตกต่างของการล่อซื้อกับการล่อให้กระทําความผิด ของพนักงานอัยการที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการสั่งคดีความที่ผ่านมา
ส่วนกรณี นักเรียนหญิงวัย 15 ปีรายหนึ่ง ที่ต้องการจะหาทุนการศึกษาจึงรับทำกระทงลายการ์ตูน ก่อนจะถูกจับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยการล่อซื้อ เรียกค่าปรับเป็นค่าลิขสิทธิ์ 50,000 บาท ก่อนจะต่อรองเหลือ 5,000 บาท ดังกล่าว
บทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป แบบมีความเข้าใจข้อปฏิบัติทางกฎหมายอย่างถูกต้องจะเป็นการดีที่สุด!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/