"...เมื่อประสานได้โครงการมาแล้ว เราก็เริ่มทำงานโครงการจนแล้วเสร็จ โดยผมใช้เงินส่วนตัวออกไปก่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน เพราะคิดว่าหลังจากที่ทาง ว.ว. โอนเงินค่าจ้างมาให้มหาวิทยาลัยแล้ว ก็ค่อยไปเบิกเงินคืนจากทางมหาวิทยาลัยเอา วิธีการหาเงินมาใช้ ก็คือการนำบ้านพักจำนองไว้กับธนาคารและเอาเงินเก็บส่วนตัวมาเป็นทุนด้วย..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเงินระหว่างที่ปรึกษาอธิการบดีรายหนึ่ง กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) อันเป็นผลสืบเนื่องมากรณีที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) จำนวน 17.1 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ในนามมหาวิทยาลัย และได้ออกเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการนี้ไปก่อน จากนั้นก็ค่อยไปเบิกเงินคืนจากทางมหาวิทยาลัย ที่ได้รับเงินว่าจ้างโครงการจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) ที่จ่ายผ่านเข้ามาทางบัญชีของสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (USI)
แต่ปรากฏว่าปัจจุบันทางมหาวิทยาลัย ยังค้างจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ที่ปรึกษารายนี้ เป็นจำนวนเงิน 5.8 ล้านบาท เมื่อทวงถามก็ได้รับการบ่ายเบี่ยง จนกระทั่งล่าสุด ที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ ได้ไปตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายการเงิน ได้รับแจ้งว่า เงินค่าจ้างที่ได้รับมาจาก ว.ว. ถูกเบิกจ่ายออกไปโดยผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยหมดแล้ว (อ่านประกอบ : ร้อง 'สุรเกียรติ์' สอบ ม.ราชมงคลอีสาน ค้างจ่ายค่าจ้าง 5.8 ล.- อธิการฯ รับมีปัญหาจริง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังที่ปรึกษาอธิการบดีรายนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เบื้องต้นที่ปรึกษารายนี้ ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อและนามสกุล ยืนยันว่า มีกรณีปัญหาเกิดขึ้นดังกล่าวจริง โดยความคืบหน้าล่าสุด หลังจากที่ไปร้องเรียนกับนายกสภามหาวิทยาลัยฯ แล้ว ได้รับการประสานให้เข้าพบ ฝ่ายกฎหมาย ของสภามหาวิทยาลัยฯ ที่สำนักงานกฎหมาย สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในวันที่ 11 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ส่วนความคืบหน้าจากฝ่ายมหาวิทยาลัยฯ นั้น ก็ได้รับการประสานให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในวันที่ 12 ก.ย. 2562 นี้ เช่นกัน
จากนั้นที่ปรึกษารายนี้ ได้เล่าที่มาที่ไปกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ได้รับมอบอำนาจจากทางมหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้รับผิดชอบประสานจัดทำโครงการกับหน่วยงานต่างๆ โดยโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) จำนวน 17.1 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถประสานหางานมาให้มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
"เมื่อประสานได้โครงการมาแล้ว เราก็เริ่มทำงานโครงการจนแล้วเสร็จ โดยผมใช้เงินส่วนตัวออกไปก่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน เพราะคิดว่าหลังจากที่ทาง ว.ว. โอนเงินค่าจ้างมาให้มหาวิทยาลัยแล้ว ก็ค่อยไปเบิกเงินคืนจากทางมหาวิทยาลัยเอา วิธีการหาเงินมาใช้ ก็คือ การนำบ้านพักจำนองไว้กับธนาคารและเอาเงินเก็บส่วนตัวมาเป็นทุนด้วย"
"ผมออกเงินไปก่อนแล้วค่อยไปเบิกเงินจากทางมหาวิทยาลัยเป็นงวดๆ ข้อตกลงเป็นแบบนั้น"
ที่ปรึกษารายนี้ ยังเล่าต่อว่า "ต่อมาเมื่อ ว.ว. ตรวจรับงานเสร็จ และโอนเงินตามงวดเงินงาน ผ่านไปยัง สถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (Unisearch Istitute Rmuti : USI) ทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา USI ก็ได้ชำระเงินให้ผมในงวดที่ 1 เป็นเงินจำนวน 8,569,715 บาท หลังยังไม่ได้ชำระที่เหลือ จำนวน 8,569,715 บาท ซึ่งผมก็ได้ทวงถามเงินที่คงค้างไว้ทั้งทางข้อความไลน์ (Line) รวมถึงทำหนังสือทวงถามและเดินทางไปทวงถามด้วยตนเองด้วย ซึ่งในระหว่างที่ติดตามทวงนั้น ก็ได้รับการชำระเงินอีก 4 ครั้ง รวม 2,300,000 บาท ทำให้เหลือยอดเงินที่ค้างอยู่อีก 5,841,229 บาท แต่จากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจ่ายเงินที่ค้างอยู่ให้แต่อย่างใด"
ที่ปรึกษารายนี้ ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้ นายกสภามหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยตรวจสอบ เป็นเพราะได้พยายามติดตามเงินที่ค้างอยู่มาหลายครั้งแล้ว แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่จ่ายเงินให้ จากกระทั่งไปสืบทราบภายหลังว่า เงินจำนวนดังกล่าว มีการเบิกจ่ายจากสถาบันฯ ไปแล้ว คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานรายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันฯ ด้วย และมีการทยอยจ่ายเงินและผัดผ่อนมาเป็นระยะด้วยเหตุผลส่วนตัว
"ผมไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่าทำไม ผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน ถึงได้มาเบิกเงินก่อนนี้ไป เอาเงินไปใช้ทำอะไร และทำไมสถาบันยอมให้เบิกเงินไป แต่ไม่ยอมจ่ายเงินคืนให้ผม"
“ต่อมาก็ทราบว่า อธิการบดีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวขึ้นแล้ว ผมก็ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปสองครั้ง แต่ไม่ได้รับรายละเอียดความคืบหน้าตอบกลับแต่อย่างใด และคณะกรรมการฯ ไม่เคยเรียกผมไปให้ข้อมูลเลยสักครั้ง ในขณะที่ผมและครอบครัวก็เดือนร้อนมาก จากการที่ได้รับเงินค่าจ้างคืนล่าช้าแบบนี้ " ที่ปรึกษาอธิการบดีฯ ระบุ
เมื่อถามว่า มหาวิทยาลัย ได้รับประโยชน์อะไรจากการให้ที่ปรึกษาทำหน้าที่ประสานงานหาโครงการเข้ามาให้ ที่ปรึกษารายนี้ ตอบว่า "มีการหักส่วนแบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัยประมาณ 5 % หลายมหาวิทยาลัยก็ทำกันแบบนี้"
เมื่อถามว่า มีการจ่ายเงินส่วนอื่นๆ ให้เพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ที่ปรึกษาอธิการบดีฯ ระบุว่า "ผมไม่ขอพูดถึงรายละเอียดอะไรไปมากกว่านี้ รอดูก่อนว่ามหาวิทยาลัยจะแก้ปัญหาเรื่องผมอย่างไร"
"แต่ผมมีหลักฐานครบถ้วนอยู่ในมือแล้ว"
อ่านประกอบ :
ร้อง 'สุรเกียรติ์' สอบ ม.ราชมงคลอีสาน ค้างจ่ายค่าจ้าง 5.8 ล.- อธิการฯ รับมีปัญหาจริง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/